เสน่ห์ของแม่หญิงการะเกด แม่หญิงจันทร์วาด กับคุณหญิงจำปา แม่ของขุนศรีวิสารวาจา ตัวเอกในละครบุพเพสันนิวาส นอกจากหน้าตาสวยงาม บุคลิกท่วงท่าที่ถ่ายทอดผ่านการแสดงจะตีบทแตกแล้ว ยังรวมถึงชุดไทยและเครื่องประดับที่ขับให้ผิวเนียนผ่องมีออร่าทะลุจอ ทำเอาบรรดาออเจ้ายุคดิจิตอลพากันถอดแบบ ย้อนยุค นุ่งโจงกระเบน ห่มสไบ ตามรอยไปอโยธยากับละโว้
นายภูธร ภูมะธน สถาบันราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี บันทึกไว้ในหนังสือ สาระน่าสนใจของประวัติศาสตร์ไทย ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เกี่ยวกับการแต่งกายและเครื่องประดับ ว่า การแต่งกายของหญิงมีบรรดาศักดิ์และขุนนางมีเครื่องแต่งกายที่วิจิตร เช่น หญิงนุ่งผ้าไหมยกดอกไหมพื้นหรือผ้าพิมพ์ลายเนื้อดี ห่มสไบ
ส่วนเครื่องประดับจากที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมเช่นสมุดข่อย ภาพวาดฝาผนังและในบันทึกเอกสารต่างชาติดูเหมือนว่าเป็นเรื่องของผู้หญิงและเด็ก
โดยม.เดอ ลาลูแบร์ บันทึกไว้ว่า ชาวสยามสวมแหวนที่นิ้วท้ายๆ(คือนิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย)ของมือทั้งสองข้าง ผู้หญิงรวมทั้งเด็กสวมต่างหูทำด้วยทองคำ เงิน กาไหล่ทอง เด็กหนุ่มเด็กสาวลูกผู้ดีสวมกำไลข้อมือ สวมกำไล แขน และกำไลข้อเท้า ลักษณะเป็นกำไลวงก้านแข็งทำด้วยทองคำหรือกาไหล่ทองคำ
มีเครื่องประดับค้นพบที่เมืองลพบุรี มีอายุครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวคือ ปิ่นทองคำฝังทับทิม พบที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย แหวนสัมฤทธิ์ พบจากการขุดค้นที่บ้านออกญาวิไชเยนทร์ กำไลข้อเท้า แหวนทอง สังวาลย์เงินถัก พบพร้อมกับตลับเงินกาไหล่ทองดุนลายราชสีห์ในศูนย์สงครามพิเศษ