“ภูธร ภูมะธน” ชี้ ควรถือโอกาสกระแสละครฮิต เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่แต่งไทย แต่ต้องเปิดโลกทัศน์ รู้จักนำมาพัฒนาปรับปรุงสังคม
นายภูธร ภูมะธน ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ของไทย ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ว่า เวลานี้ความอยากรู้เรื่องประวัติศาสตร์ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นที่แพร่หลายกว้างขวาง คนอินจากละครจึงอยากเรียนรู้ สืบค้น ซึ่งคิดว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรมจากกระแสของละครที่เห็นได้ชัด คือ การแต่งกาย เวลานี้มีการแต่งกายย้อนยุคครั้งโบราณหลายรูปแบบ ตั้งแต่กลุ่มชาติพันธุ์ สมัยอยุธยา สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็มี แล้วแต่จะคิดสรรค์กันไป สรุปว่าถ้าย้อนยุคก็สอดคล้องกับอารมรณ์ของละครบุพเพสันนิวาส อย่างไรก็ตาม มองว่าที่แต่งกันอยู่นั้น ไม่ใช่การแต่งกายสมัยพระนารายณ์จริง ซึ่งสังคมไทยเวลานั้นมีหลายชั้น ตั้งแต่เจ้าไปจนกระทั่งไพร่ ทาส ระดับชั้นเหล่านี้จะแต่งกายกันคนละแบบ ส่วนการแต่งกายที่แต่งกันวันนี้ ไม่รู้ลึกๆ ว่าอยากจะสื่อหรือระลึกถึงครั้งหนึ่งไทยเราเคยรุ่งเรืองหรือไม่ อย่างไร ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับคนทอผ้า คนตัดผ้า คนซักรีดผ้า เป็นการขับเคลื่อนทางธุรกิจ
“แต่เรื่องที่ผมอยากให้เป็น คือประวัติศาสตร์ยุคสมเด็จพระนารายณ์ มีความพิเศษยิ่ง นั่นคือ การเปิดโลกประเทศไทยสู่โลกสากล และการรับมาซึ่งวิทยาการจากชาติตะวันตก การนำเข้าบรรดาพวกนักการเมืองระหว่างประเทศ ที่มีความคิดเชิงซับซ้อน ซ่อนเร้น คิดอย่าง ทำอย่าง พูดง่ายๆ ว่าเป็นการเมือง สิ่งเหล่านี้ทำให้การเมืองไทยยุคนั้นเมื่อ 300 ปีก่อนเริ่มเข้าสู่อารมณ์ความเป็นการเมืองในความเป็นสากลแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อบรรพรรพบุรุษเราเมื่อ 300 ปี เริ่มเรียนรู้แล้วว่าจะเจอปัญหาการเมืองแบบนี้ ดังนั้น เราจะอยู่กับมันได้อย่างไร และจะแก้อย่างไร ซึ่งผมอ่านประวัติศาสตร์ยุคนี้แล้วรู้เลยว่ามีการตกหลุมพรางบ้าง กระโดดขึ้นจากหลุมพรางได้บ้าง หรือหลอกเขากลับบ้าง สิ่งเหล่านี้จากประวัติศาสตร์เป็นการสอนให้สังคมรู้จักการปรับตัว การพัฒนาตัว ผมคิดว่าบทเรียนประวัติศาสตร์นี้ต่างหากที่ควรนำมาตีแผ่ มาแฉ และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อะไรที่เดินลงเหว อะไรเป็นทางเดินสู่สวรรค์ สู่ความจริงหรือความสำเร็จ เรื่องแบบนี้เรายังพูดกันน้อยในสังคมไทย”
นายภูธร กล่าวอีกว่า เราต้องเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีบรรพบุรุษที่ดีงาม มีการสืบทอดจากอดีตเรื่อยมาถึงปัจจจุบัน ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นพรวดๆ อยู่กลางทาง เพราะฉะนั้นเรื่องของพระนารายณ์เป็นสายป่านอันยาว เป็นประสบการณ์จากอดีต จากบรรพบุรุษเรา ไม่ว่าการสร้างอาคาร วัด ถนน การจัดวางผังเมือง การจัดสาธารณูปโภค เราเริ่มเมื่อ 300 ปีที่แล้วทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่คิดว่าได้โอกาสมาฟื้นฟูบูรณะปรุงแต่งให้เป็นประจักษ์พยานสำหรับลูกหลานไทยในอนาคต เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการนำมาปรับปรุงพัฒนา เพราะสถานที่ต่างๆ ที่พูดถึงในละคร โดยความเป็นจริงแล้วยังถูกละทิ้ง ละเลยอยู่ ก็จะได้ใช้โอกาสนี้บูรณะปรับปรุงเสียเลย
“เรียกว่าตอนนี้เรามีแนวร่วมเยอะมากแล้ว จะได้ช่วยกันดูแลอนุรักษ์ ปัญหาคือผู้มีหน้าที่จะเอาตรงนี้มาเป็นประโยชน์ได้อย่างไร และจะประกาศหาภาคีหรือพันธมิตรอย่างไร ถ้าทำได้ก็จะเป็นโมเดลที่ดี ที่ลุกขึ้นมาทั้งองคาพยพเพื่อจะทำกิจกรรมนี้ร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของราชการอย่างเดียว หรือประชาชนก็ทู่ซี้คอยลุ้นกันว่าจะปรับปรุงพัฒนาอย่างไร” นายภูธรกล่าว
สำหรับพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี นั้น ปัจจุบันหากมองเรื่องความยั่งยืนในการอนุรักษ์หรือรักษาไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่ก็ไม่เลว ยังดีกว่าไม่มีเอาเสียเลย แต่สิ่งที่ควรทำ คืออาจจัดกิจกรรมเป็นรายเดือน ในหนึ่งเดือนมีกิจกรรมรายสัปดาห์หรือรายวันที่มีการย้อนยุคเข้าไปสู่สมัยพระนารายณ์ แล้วในกิจกรรมนั้นก็สอนคนที่มาชมทุกเรื่อง ทุกอย่าง อาทิ การแต่งกายทำไมต้องเป็นอย่างนี้ ชนชั้นอย่างนี้แต่งแบบไหน เกี้ยวหรือลอมพอกคืออะไร เป็นเครื่องบอกตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ของคน เป็นต้น พูดง่ายๆ ว่าไม่ใช่ชวนกันมาแต่งไทยอย่างเดียว โดยไม่มีการเรียนรู้ผ่านการแต่งไทย
“เฉพาะวังนารายณ์การอนุรักษ์พอไปได้อยู่ แต่สิ่งที่ควรจะเพิ่มคือความรู้เรื่องพระนารายณ์ที่มากกว่านี้ การสัมพันธ์กับนานาชาติ ควรดึงเข้ามา ผมเห็นว่าที่นครนิวยอร์ก ที่เมโทรโปลิแตนส์ ตอนนี้เขามีการจัดนิทรรศการเรื่องของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ฉะนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอเคลื่อนย้ายนิทรรศการบางส่วนมาจัดแสดงที่ประเทศไทยในระยะนี้ เพราะมีความหมายต่อประเทศเรา เนื่องจากบรรดาทูตานุทูตที่ไปเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส หนึ่งในนั้นคือโกษาปานด้วย แต่ละคนได้เรียนรู้อะไร และเราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้แค่โกษาปานกับพระเจ้าหลุยส์เท่านั้น แต่เราจะได้เรียนรู้ว่าทูตเปอร์เซียไปทำอะไรกับพระเจ้าหลุยส์ หรือทูตจีนไปทำอะไร ซึ่งจะทำให้โลกทัศน์ของเรากว้างขวางมากยิ่งขึ้น” นายภูธร กล่าวทิ้งท้าย