คืนนี้ ตัวละครอย่าง ‘ศรีปราชญ์’ ในบุพเพสันนิวาสจะออกโรงโลดแล่นให้เห็นเต็มๆตา
ทว่า ในประวัติศาสตร์ ศรีปราชญ์ มีตัวตนจริงหรือไม่ เป็นที่ถกเถียงกันมานาน ด้วย ‘ความเชื่อ’ ที่ฝังรากจากการจดจำตามตำรา คนส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าศรีปราชญ์ เป็นบุคคลทีมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ โดยท่องจำต่อๆกันมาว่า เป็นกวีผู้แต่งโคลงกำสรวลศรีปราชญ์และอนิรุทธคำฉันท์
มี ‘สระล้างดาบ’ ตามที่เล่ากันเกี่ยวกับวาระสุดท้ายอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช
สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดังและบรรณาธิการหนังสือแนวสังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เคยเขียนเล่าหลายครั้งในประเด็นดังกล่าวว่า ตนได้อ่านหนังสื่อชื่อ กำศรวญศรีปราชญ์-นิราศนรินทร์ โดย พ. ณ ประมวญมารค พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2502 เกือบ 50 ปีแล้ว จนได้เฝ้า หม่อมเจ้าจันทร์
จิรายุ รัชนี “ท่านจันทร์” ถึงได้รู้ว่าเป็นนามปากกาของท่าน แล้วทรงเมตตาให้ถกถามรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นครั้งคราว
บรรดานักปราชญ์กับนักค้นคว้า รวมถึงนักวิชาการเกือบหมดประเทศ ต่างเชื่อถือ แล้วแต่ง “ตำรา” ใช้สอนในสถาบันทุกระดับว่า ศรีปราชญ์แต่งกำสรวลศรีปราชญ์
แต่ พ. ณ ประมวญมารค (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี) คัดค้านเรื่องนี้ไว้นานแล้วว่าศรีปราชญ์ไม่ได้แต่งกำสรวลศรีปราชญ์ ทรงมีพระนิพนธ์เป็นหนังสือเล่มโต พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 มีความตอนหนึ่งโดยสรุปว่า
“ข้าพเจ้าจะแสดงจากตัวบทกำสรวญว่าปฏิภาณกวีในสมัยพระนารายณ์ ที่เรารู้จักกันว่าศรีปราชญ์ มิได้แต่งนิราศที่เรารู้จักกันว่ากำสรวญศรีปราชญ์”
พ. ณ ประมวญมารค เรียกชื่อวรรณคดีนี้ว่า กำสรวลสมุทร (ตามชื่อในจินดามณี) แทนชื่อเรียกผิดๆ ว่า กำสรวลศรีปราชญ์ โดยมีพยานหลักฐาน และลักษณะกวีวรโวหาร ฉันทลักษณ์ รวมถึงประวัติศาสตร์โบราณคดีที่กรุงศรีอยุธยา สอดคล้องกันว่า กำสรวล เป็นพระราชนิพนธ์ใน สมเด็จพระบรมราชาธิราช (โอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ)
ต่อมา สุจิตต์ ได้เชิญให้ ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร และคณะ ช่วยเอาเวลาว่างๆ ชำระกำสรวลสมุทรขึ้นใหม่อีกครั้ง เสร็จแล้วได้พิมพ์เป็นเล่มให้ชื่อ กำสรวลสมุทร หรือ กำสรวลศรีปราชญ์ เป็นพระราชนิพนธ์ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา โดยสรุปว่า “ศรีปราชญ์” ไม่มีตัวตนจริง และไม่ได้แต่ง “กำสรวลศรีปราชญ์” โดยรวบรวมเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานเกี่ยวข้องมาพิมพ์รวมไว้หมด
ความทรงจำเรื่องศรีปราชญ์มีขึ้นจากความพยายามยกย่องของ พระยาตรัง กวีสมัยต้นกรุงเทพฯ แผ่นดินรัชกาลที่ 1-3 ที่ประวัติส่วนตัวใกล้เคียงกับ “ตำนานศรีปราชญ์” ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) แต่งขึ้นใหม่เมื่อเรือน พ.ศ.2462 แผ่นดินรัชกาลที่ 6 นี้เอง แต่ถูกเอามายึดเป็นเรื่องจริงทั้งหมด แล้วบรรจุเป็นตำราว่าถูกต้องทุกอย่างจนปัจจุบัน
ที่มา มติชนออนไลน์