เขียนโดย ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ที่มา ศิลปวัฒนธรรม
ในสมัยอยุธยามีตำแหน่งราชองครักษ์ขันที ดังปรากฏในพระไอยการนาพลเรือน มาตราที่ 12 ได้กล่าวถึง ออกพระศรีมะโนราชภักดีศรีปลัยวัล นา 1000 หลวงราชขานภักดี นา 500 ขันที หลวงศรีมโนราชภักดีองคเทพรักษองค ขันที หลวงเทพชำนาญภักดีศรีเทพรักษองครักษ ขึ้นเสนาบดีกรมวัง
ในมาตราที่ 27 ของกฎมณเฑียรบาลกล่าวว่า “ถ้าเสดจ์ในมกอกน้ำออกมา ขุนสนมแลกันยุบาดราชเสวกแลมหาดเลกนักเทษลง ถ้าเสดจ์หนเรือแลประเทียบฝ่ายในลงก็ดีนักเทษขันทีแลทนายลงเรือ” และมาตราที่ 148 กล่าวถึง พระศรีมโนราช พระศรีอไภย ขุนราชาข่าน ขุนมโนบหลัดทั้ง 4 นักเทษขันที นั่งเฝ้าที่เฉลียงด้านนอกของหอพระในงานพระราชพิธีถือน้ำ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะมีฝ่ายในตามเสด็จ
ตำแหน่งราชองครักษ์ขันทีน่าจะเป็นตำแหน่งที่ดูจะเป็นที่ใกล้ชิดในบาง รัชกาล ดังปรากฏในพระราชกำหนดเก่าฉบับที่ 25 ที่ตราขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายกล่าวถึง พญาหุเส้นฆ่านกราบบังคมทูลพระกรุณาเรื่องผู้ตกยากเพราะเรื่องการเรียกเงินลด ค่าเฆี่ยนจนเป็นเหตุให้ต้องกู้ยืมเงิน ดังนั้นจึงอาจจะหมายความว่า ในบางสมัยราชองครักษ์ขันทีอาจจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับราชการงานแผ่นดิน นอกจากนี้ยังพบว่า ขันทีในวังยังให้ที่พึ่งพาแก่นักโจรผู้ร้าย (ดูมาตราที่ 4 พระไอยการลักษณะโจร)
ในพระราชกำหนดใหม่ฉบับที่ 1 ระบุว่า ขันทีจะตามเสด็จก็ต่อเมื่อฝ่ายในตามเสด็จ ลา ลูแบร์ กล่าวว่า ขันที (eunuque) เป็นผู้ยกเครื่องกระยาหารไปให้ผู้หญิงที่ห้องเครื่อง และไม่ออกไปภายนอก นอกจากเชิญพระราชโองการ (สันต์ ท โกมลบุตร 2548 : 302.) แต่อย่างไรก็ตามในมาตราที่ 133 ของกฎมณเฑียรบาลระบุว่า ห้ามนักเทษขันทีออกนอกด่านขนอน
(ข้อมูลจากส่วนหนึ่งของเอกสารประกอบคำบรรยายวิชาอยุธยาศึกษา)