สสว. ผนึกสถาบันอาหาร ขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561 หนุนรวมกลุ่มธุรกิจเกษตรมะพร้าวต่อเนื่องจากปี 2560 หลังสร้างยอดขายได้ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท เพิ่มเครือข่ายใหม่กลุ่มธุรกิจเกษตรกล้วย ตั้งเป้ารวม 17 เครือข่าย มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ช่วยพัฒนาคุณภาพการผลิต การแปรรูป การเก็บรักษา สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ มั่นใจ SME ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 2,300 ราย คาดเกิดการลงทุน และการจ้างงานเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 เชื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้ถึง 70 ล้านบาท และเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ภายใต้วงเงินงบประมาณ 33 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายมะพร้าวและเครือข่ายกล้วย เน้นกระตุ้นและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สร้างมูลค่าเพิ่มโดยมุ่งสนับสนุนการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์
สำหรับกลุ่มเครือข่ายมะพร้าว เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปี 2560 ซึ่งมีเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว 3,300 ราย สร้างการรวมกลุ่มได้ 26 เครือข่าย พัฒนาผู้ประสานงานเครือข่าย 80 ราย เพิ่มพื้นที่ปลูกใหม่ได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ ส่งเสริมการทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างยอดขายเบื้องต้นได้ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์มะพร้าวแปรรูป ซึ่งในปี 2561 นี้จะเป็นการต่อยอดขยายผล โดยการคัดเลือกเครือข่ายกลุ่มมะพร้าวเดิมบางส่วนมาเข้าร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายรายใหม่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกใหม่ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแผนต่อไป
ส่วนกลุ่มเครือข่ายกล้วย เป็นการดำเนินการปีแรก โดยกล้วยที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ กล้วยหอม กล้วยไข่ และกล้วยน้ำว้า มีผลผลิตรวมกันมากกว่า 1.5 ล้านตันต่อปี เพื่อรองรับความต้องการบริโภคกล้วยสดของตลาดต่างประเทศ โดยพบว่าในปี 2560 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าส่งออกกล้วยสดราว 467 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 41 เป็นการส่งออกไปจีนสูงสุดที่มูลค่า 340 ล้านบาท รองลงมาคือ ญี่ปุ่น 65 ล้านบาท และฮ่องกง 44 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากกล้วยในลักษณะของสินค้าโอทอปประจำท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อการบริโภคในประเทศเป็นหลัก
ทั้งนี้โครงการฯ จะเข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกกล้วย เพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด ตามมาตรฐานการส่งออก การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเก็บรักษา การยืดอายุ การดูแลบรรจุภัณฑ์ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกกล้วยโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม(GAP) มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์กล้วยให้ได้คุณภาพมากขึ้น ตลอดจนการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งในมิติของขนมขบเคี้ยว อาหารหวาน เป็นต้น
“สสว. ตั้งเป้าจะรวบรวมกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวและกล้วยรวม 17 เครือข่าย ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพ จำนวน 2,300 ราย แบ่งเป็นกลุ่มมะพร้าว 10 เครือข่าย ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายต่อเนื่อง ต่อยอดขยายผลตามแผนพัฒนาจากปี 2560 จำนวน 8 เครือข่าย และในปี 2561 นี้เป็นกลุ่มเครือข่ายใหม่อีก 2 เครือข่าย ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมกล้วย เป็นกลุ่มเครือข่ายใหม่ที่เพิ่งเริ่มดำเนินการในปี 2561 นี้ จำนวน 7 เครือข่าย เกิดการพัฒนาศักยภาพผู้นำเครือข่ายหรือผู้ประสานงานเครือข่าย (Cluster Development Agent-CDA) จำนวนไม่น้อยกว่า 51 ราย เกิดการขยายการลงทุน และการจ้างงานเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยสามารถลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจรวมกันได้ 70 ล้านบาท และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท” นายสุวรรณชัย กล่าว
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันอาหารได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานดำเนินการโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวและกล้วย ปี 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 2,300 ราย เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่ม 17 เครือข่ายตามเป้าหมาย แบ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมะพร้าว 1,350 ราย และอุตสาหกรรมกล้วย 950 ราย โดยสถาบันอาหารจะนำผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องไปจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพการดำเนินการธุรกิจให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ อาทิ จัดอบรมหลักสูตรมาตรฐานการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาคลัสเตอร์ การตลาดและการสร้างแบรนด์เชิงสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังให้การส่งเสริมขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ได้แก่ การนำสินค้าไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าต่างประเทศ หรือจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ เป็นต้น
ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ