คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้าเหรียญทองเจนีวา นวัตกรรมป้ายสี “บอกความสุกมะม่วง” รับกระแสส่งออกผลไม้ไทยบูม
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดตัว “นวัตกรรมแถบสีชีวภาพบอกความสุก (Bio-ripeness indicator) และนวัตกรรมชะลอการสุกมะม่วง” ครั้งแรกของโลก ลดอัตราการเสียหายของผลผลิตเมื่อวางจำหน่าย 100 เปอร์เซนต์ โดยนวัตกรรมดังกล่าว ประกอบด้วย สารละลายกระตุ้นการสร้างสารสีคลอโรฟิลล์ (chlorophyll supplement) ให้มีปริมาณที่มากขึ้น พร้อมชะลอการทำงานของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่สลายคลอโรฟิลล์ในมะม่วง สามารถชะลอได้สูงถึง 30 วันหรือ 1 เดือน โดยที่ไม่ทิ้งสารตกค้าง ถุงห่อแอคทีฟ (Active Bag) ทีมีช่องให้แสงผ่านพลาสติกชนิดเลือกแสงผ่าน เพื่อให้เกิดการสร้างคลอโรฟิลล์ได้มากที่สุด และส่วนบ่งบอกดัชนีความสุก คือ แถบสีอินดิเคเตอร์ (Indicator) เป็นแถบสีแสดงการสุกของเนื้อมะม่วงใน 4 ระยะ คือ สีเขียว-เนื้อมะม่วงที่ยังดิบ สีเหลืองอ่อน-เนื้อมะม่วงที่เริ่มสุก สีเหลือง-เนื้อมะม่วงที่พร้อมรับประทาน และ สีเหลืองเข้ม-เนื้อมะม่วงที่สุกเกินมาตรฐาน โดยมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ โดยเฉลี่ยไม่เกิน 2 บาทต่อมะม่วง 1 ผล ทั้งนี้ล่าสุดผลงานดังกล่าว ได้รับรางวัลเหรียญทอง การันตีคุณภาพ จากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์เวทีนานาชาติ ครั้งที่ 46 (46th International Exhibition of Inventions of Geneva) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสมาพันธ์รัฐสวิส (Switzerland)
รศ.ดร.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า เพื่อเป็นการลดความสูญเสียของผลผลิตของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่ส่งขายในตลาดต่างประเทศ โดยเพาะตลาดพรีเมียม และโมเดอร์นเทรด สำหรับการค้าและการส่งออก พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค จึงได้คิดค้นและพัฒนา “นวัตกรรมแถบสีชีวภาพบอกความสุก (Bio-ripeness indicator) และนวัตกรรมชะลอการสุกมะม่วง” โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 ส่วนหลักๆ คือ สารละลายกระตุ้นการสร้างสารสีคลอโรฟิลล์ (chlorophyll supplement) ทำหน้าที่สร้างคลอโรฟิลล์ให้มากขึ้น พร้อมกับชะลอการสลายตัวของคลอโรฟิลล์ในมะม่วง ด้วยการฉีด 1 ครั้งที่ผลก่อนการห่อผล และชะลอการสุกของมะม่วง สามารถชะลอได้สูงถึง 30 วันหรือ 1 เดือนที่อุณหภูมิ 12 องศาเซลเซียส
โดยที่ไม่ทิ้งสารตกค้าง ถุงห่อแอคทีฟ (Active Bag) ใช้ห่อมะม่วงขณะอยู่บนต้นก่อนการเก็บเกี่ยว 1 เดือน โดยถุงห่อมีหน้าต่างให้แสงสามารถส่องผ่านถึงผลมะม่วงได้ เพื่อให้ผิวผลมะม่วงสร้างคลอโรฟิลล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเก็บเกี่ยวมะม่วงมาแล้วผลมะม่วงจะมีสีเขียวของคลอโรฟิลล์เป็นวงกลม (หรือออกแบบหน้าต่างเป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายการค้าของบริษัทแทนได้ มีสัญลักษณ์สีเขียว) สีเขียวนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามกระบวนการสุกของมะม่วงโดยเทียบกับแถบสีมาตรฐาน แถบสีอินดิเคเตอร์ (Indicator) แถบสีมาตรฐานแสดงการสุกของเนื้อมะม่วงใน 4 ระยะ ประกอบด้วย สีเขียว : เนื้อมะม่วงที่ยังดิบ สีเหลืองอ่อน : เนื้อมะม่วงที่เริ่มสุก สีเหลือง : เนื้อมะม่วงที่พร้อมรับประทาน และ สีเหลืองเข้ม : เนื้อมะม่วงที่สุกเกินมาตรฐาน ทั้งนี้ แถบสีอินดิเคเตอร์ดังกล่าว สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผลผลิตที่ปลูกทั้งในแบบปกติ และออร์แกนิคได้อย่างมีประสิทธิภาพและพร้อมวัดผลได้อย่างแม่นยำ 100%
สำหรับนวัตกรรม “นวัตกรรมแถบสีชีวภาพบอกความสุก และนวัตกรรมชะลอการสุกมะม่วง” ถูกพัฒนาขึ้นด้วยต้นทุนต่ำ โดยเฉลี่ยไม่เกิน 2 บาทต่อมะม่วง 1 ผล โดยที่สารกระตุ้นคลอโรฟิลล์ มีต้นทุนเฉลี่ยเพียง 20 สตางค์ต่อการฉีด 1 ครั้ง ถุงแอคทีฟ มีราคาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-3 บาทต่อถุง และแถบสีอินดิเคเตอร์ มีต้นทุนเพียง 5 สตางค์ต่ออัน เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพผลผลิตของเกษตรกรให้สามารถวางจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น หรือมีโอกาสวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ขณะที่ดิสทริบิวเตอร์ (Distributor) หรือผู้ประกอบการที่รับซื้อผลไม้เพื่อการค้าและการส่งออก ก็จะได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งลดอัตราการเสียหายของผลผลิตเมื่อวางจำหน่าย 100 เปอร์เซนต์ กล่าวคือ หากผู้ประกอบการรับซื้อมะม่วงจากเกษตรกรจำนวน 100 ผล ก็จะสามารถจำหน่ายได้ครบทั้ง 100 ผล โดยที่ไม่มีผลผลิตช้ำหรือเน่าเสียจากการบีบ-กดของผู้บริโภค รศ.ดร.วรภัทร กล่าว
รศ.ดร.วรภัทร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ถือเป็นมิติใหม่ของการส่งเสริมการค้าและการส่งออกผลไม้ไทยให้สามารถส่งออกในตลาดพรีเมี่ยม และตลาดต่างประเทศได้อย่างมีศักยภาพ ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตรและการตลาด ตลอดจนเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรยุคใหม่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลผลิต อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยล่าสุด ได้รับการการันตีด้วยรางวัลเหรียญทอง จากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์เวทีนานาชาติ ครั้งที่ 46 (46th International Exhibition of Inventions of Geneva) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสมาพันธรัฐสวิส รวมทั้งได้ยืนการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยพร้อมถ่ายทอดนวัตกรรมแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่สนใจ
อย่างไรก็ตาม “มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง” มะม่วงพันธุ์ผสม ปลูกและเติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มน้ำ มาพร้อมกับรูปลักษณ์ที่เรียวสวย และรสชาติที่หวานหอมเมื่อสุก โดยสามารถส่งออกได้ถึงปีละ 3.3 พันตัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท (ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการค้า นครโอซากา, 2558) อีกทั้งยังได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดจีน-ญี่ปุ่น โดยมีราคาขายสูงถึงผลละ 200-300 บาท แต่ทั้งนี้ ด้วยการห่อผลมะม่วงด้วยถุงห่อ เพื่อป้องกันแมลงวันผลไม้เข้าทำลาย เป็นเวลา 1 เดือนทำให้ผลมะม่วงมีสีเหลืองทอง เมื่อถึงระยะเก็บเกี่ยวและนำไปวางขายในตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) และตลาดต่างประเทศ ผู้บริโภคไม่ทราบว่ามะม่วงสุกแล้วหรือยัง จะเกิดปัญหารอยช้ำและเน่าเสีย จากการบีบหรือกดของผู้บริโภคเนื่องจากไม่สามารถแยกแยะความดิบหรือสุกของมะม่วงได้ เนื่องจากเป็นสีเหลืองทอง ซึ่งแตกต่างจากมะม่วงสายพันธุ์อื่นๆ ที่สุกแล้วจะเปลี่ยนสีเขียวไปเป็นสีเหลือง ส้มแดง ที่ผู้บริโภครับรู้ว่าสุกพร้อมบริโภค ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตต่อวันได้รับความเสียหายและไม่สามารถวางขายต่อได้กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ รศ.ดร.วรภัทร กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทรศัพท์ 02-564-4488 หรือเว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th