“พระเพทราชา” ฮีโร่กรุงศรีอยุธยาที่ถูกปรักปรำ!

Culture ศิลปวัฒนธรรม

ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์หรือคนที่ได้ดูละครบุพเพสันนิวาส คงจะรู้จัก “พระเพทราชา” ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายแห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา แต่พระเพทราชาเป็นใคร มาจากไหน ขึ้นมามีอำนาจไหนกรุงศรีอยุธยาได้อย่างไรนั้น รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า โดยหลักฐานที่มีอยู่ในพงศาวดาร บอกว่าพระเพทราชาเป็นคนสุพรรณบุรี ที่บ้านพลูหลวง ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำสุพรรณขึ้นไปทางเหนือ คือเหนือตัวเมืองสุพรรณบุรี อาจจะนอกกำแพงเมืองสุพรรณบุรีออกไปนิดหนึ่ง แต่ก็ถือว่าอยู่ในอำเภอเมือง

ทั้งนี้ บ้านพลูหลวงนี้น่าจะเป็นย่านของขุนนาง และส่วนหนึ่งคงมีความสามารถในการดูแลช้างมาด้วย เพราะพอต่อมาพระเพทราชาก็ได้ขึ้นเป็นเจ้ากรมช้าง

ส่วนพ่อแม่ของพระองค์นั้นไม่มีใครทราบ พงศาวดารก็ไม่ได้บอกถึงพ่อแม่ของพระองค์ แต่ด้วยความที่ท่านคงมีความสามารถ และอยู่ๆ ท่านก็ขึ้นเป็นขุนนางไปแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าท่านเรียนที่ไหน อย่างไร จึงสันนิษฐานได้ว่าท่านคงต้องมีเชื้อสายอยู่พอสมควร เพราะอยู่สุพรรณฯ แต่สามารถข้ามห้วยมารับราชการในอยุธยาได้  จึงอาจเป็นไปได้ว่าอาจมีเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองสุพรรณบุรีเก่า เพราะสุพรรณบุรีเก่าก็มีกษัตริย์ปกครอง

อย่างไรก็ตาม แม่ของพระเพทราชานั้นเป็นพระนมในพระนารายณ์ เพราะฉะนั้นก็ยิ่งตอกย้ำว่าท่านเป็นผู้ดีเก่า เพราะหญิงที่จะเป็นพระนมได้ต้องเป็นหญิงที่มีเชื้อสาย หญิงที่มีความพร้อม ไม่ใช่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นพระนมได้ จึงยิ่งยืนยันว่าแม่ของพระเพทราชา หรือพระเพทราชาเอง ต้องมีเชื้อสายของความเป็นเจ้าอยู่พอสมควร

ซึ่งพอเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ท่านก็จะร่วมกันกับพระนารายณ์มาตั้งแต่ต้น โดยอายุของพระเพทราชานั้นรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระนารายณ์ คือท่านน่าจะเป็นขุนนางที่พระนารายณ์คุ้นเคยมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ แต่มีส่วนร่วมในการปฏิวัติพระศรีสุทธรรมราชาด้วยหรือไม่นั้น พงศาวดารไม่ได้บอกไว้ เพราะว่าตอนที่พระนารายณ์ท่านปฏิวัติพระศรีสุทธรรมราชา หรือตอนที่ทั้งสองพระองค์ร่วมกันปฏิวัติเจ้าฟ้าชัย ก็ไม่ได้มีชื่อของออกพระเพทราชาเป็นผู้ร่วม

การดำรงตำแหน่งในกรมช้างของพระเพทราชานั้น ถ้าดูศักดินาจากตำแหน่งของพระเพทราชา พบว่าพระองค์มีศักดินาอยู่ 5,000 ไร่ ซึ่งถือว่ามากพอสมควร ทั้งนี้ การคุมตำแหน่งกรมช้างนั้นเท่ากับการคุมกลาโหม เพราะว่าช้างเป็นปัจจัยหลักของการบในสมัยนั้น รวมไปถึงการค้าขายด้วย ดังนั้น การกุมอำนาจช้างไว้ได้ก็เป็นสัญลักษณ์ของการกุมอำนาจส่วนหนึ่ง

ต่างชาติมีบทบาทเยอะ เหตุระหองระแหงของ2กษัตริย์

อย่างที่กล่าวไปข้าวต้นว่า พระเพทราชากับพระนารายณ์นั้นคุ้นกันมาตั้งแต่ต้น เพราะแม่ของพระเพทราชาเป็นแม่นมโท เข้าใจว่าช่วงแรกคงเล่นกันมาตลอด เพราะอายุของทั้ง 2 พระองค์ไล่เลี่ยกัน แต่ความไม่พอใจกันน่าจะเริ่มที่ชาวต่างชาติเริ่มเข้ามามีบทบาทเยอะ เช่นในช่วงที่ฝรั่งเศสมีบทบาทเยอะขึ้น ช่วงนี้จะมองหน้ากันไม่ค่อยติดเท่าไหร่ เพราะจะเห็นว่าพระนารายณ์ไปโปรดคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเห็นคล้อยตามในสิ่งที่ฝรั่งเสนอ ไม่ว่าจะสร้างตรงนั้น ทำตรงนี้ พระนารายณ์ก็ช่วยเหลือทุกอย่าง จึงดูเหมือนว่าพระองค์ไม่ค่อยสนใจชาวสยามเท่าไหร่นัก

นอกจากนี้ พระนารายณ์ยังคุยกับมิชชันนารีบ่อยๆ ก็เป็นที่เคลือบแคลงว่าพระองค์จะเปลี่ยนศาสนาหรือไม่ จะเข้ารีตหรือเปล่า ซึ่งไม่มีใครอยากให้เข้ารีต ดังนั้นการมองหน้ากันไม่ค่อยติดระหว่างพระเพทราชาที่เป็นตัวแทนของชาวสยาม กับพระนารายณ์ ก็น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 8 ปีสุดท้ายของรัชกาลพระนารายณ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ฟอลคอนเริ่มเข้ามีอำนาจ

อย่างไรก็ตาม พระนารายณ์เองก็ยังไว้เนื้อเชื่อใจพระเพทราชาอยู่ เพราะในช่วงที่พระองค์ประชวร พระเพทราชาก็เข้ามาดูแลกิจการบ้านเมืองแทน จนในที่สุดก็ออกว่าราชการแทน ซึ่งเป็นการว่าราชการแทนในขณะที่พระนารายณ์เองก็ยังมีสติสัมปชัญญะอยู่ นั่นหมายถึง พระนารายณ์ก็ยอมมอบสิทธิในการดูแลราชอาณาจักรบางส่วนให้กับพระเพทราชาอยู่แล้ว แปลว่าพระองค์คงไม่ได้ระหองระแหงอะไรกันมาก แต่คงมีการเสี้ยมว่าพระเพทราชาไม่ดี พระเพทราชาจะยึดอำนาจ ซึ่งคนที่เสี้ยมก็มี เช่น ฝ่ายฝรั่งเศส รวมถึงฝั่งพระเพทราชาเองก็บอกว่าฝรั่งเศสไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ กลายเป็นต่างฝ่ายต่างเสี้ยมกันนั่นเอง

รศ.ดร.ปรีดีกล่าวอีกว่า สำหรับคนที่ชอบฝรั่งเศสแบบพระนารายณ์ในสมัยอยุธยานั้นมีอยู่ไม่มาก ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์มากกว่า คือไม่ได้เห็นด้วยกับพระนารายณ์ตลอด เป็นการเห็นด้วยเฉพาะกิจในช่วงที่ตนเองได้ผลประโยชน์เท่านั้น แม้แต่บาทหลวงหรือพ่อค้าก็ไม่ได้เห็นด้วยกับฟอลคอนทั้งหมด ขณะที่ชาวสยามส่วนใหญ่เห็นด้วยกับพระเพทราชา ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าพระเพทราชาจะมองออกว่าจะจำกัดอำนาจของฝรั่งให้ลดลง หรือบีบบังคับอะไรบางอย่างออกมา

“จริงๆ แล้วเราก็ปรักปรำท่านไปมากพอสมควรว่าการที่ฝรั่งเศสหายไปจากอยุธยาเป็นเพราะพระเพทราชาปฏิวัติ จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสยามและฝรั่งเศสยุติลง ขณะที่ในพงศาวดารระบุว่า พระเพทราชาก็ยังส่งทูตไปฝรั่งเศส แปลว่าท่านยังสืบสานในสิ่งที่พระนารายณ์ทำ แต่ท่านมองออกว่าฝรั่งเศสเข้ามาในวัตถุประสงค์ที่ไม่ดี ไม่เหมือนชาติอื่นหรือฝรั่งเศสยุคแรกที่เข้ามา คือฝรั่งเศสยุคแรกไม่ได้ยุ่งกับการเมือง มาแค่เผยแผ่ศาสนา เป็นต้น เพราะฉะนั้นฝรั่งเศสยุคแรกก็เทียบเท่ากับชาวต่างชาติที่เข้ามายุคแรก เหมือนฮอลันดา โปรตุเกส อังกฤษ คือไม่ได้ยุ่งกับการเมืองในราชสำนัก แต่ฝรั่งเศสมีการเปลี่ยนท่าที ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเพทราชามองออก

“การปฏิวัติของพระเพทราชาจึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ท่านจึงเป็นฮีโร่คนหนึ่ง”

แต่คนชอบเข้าใจผิดมากว่าท่านไปตัดความสัมพันธ์ แล้วด้วยท่านเป็นราชวงศ์สุดท้ายก่อนเสียกรุง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เกี่ยวกับราชวงศ์สุดท้ายหรือไม่ นอกจากนี้ทายาทที่สืบทอดต่อมาของพระองค์นั้น บางคนก็มีเรื่องอื้อฉาวเยอะ เช่น ออกหลวงสรศักดิ์ หรือที่คนเรียกว่าพระเจ้าเสือ ที่เป็นคนดุร้าย หรือพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ที่จะเสวยแต่ปลาตะเพียน และมีอีกหลายพระองค์ที่ภาพไม่ได้เป็นภาพที่ดีมาก อย่างไรก็ตาม การที่เราเห็นภาพไม่ดีนั้นอาจเป็นการที่ท่านถูกใส่ความเข้าไปในสมัยหลังก็ได้

“อยากให้เห็นว่า 15 ปีที่พระเพทราชาครองราชย์ พระองค์ก็ยังทำในสิ่งที่ทำในยุคพระนารายณ์ ทูตก็ยังรับอยู่ พ่อค้าก็ยังรับอยู่ ความสัมพันธ์ระหว่างสยามและฝรั่งเศสไม่ได้จบลง มีแค่ทหารที่ต้องออกไป มิชชั่นนารีถูกปล่อยตัวออกมา พ่อค้าก็ยังทำการค้าได้เหมือนเดิม คงไม่มีใครที่จะไปตัดตอนการค้าได้ เพราะเป็นท่อน้ำเลี้ยงของอยุธยา ดังนั้นจึงอยากให้มองท่านให้เป็นฮีโร่ เพราะท่านตัดไฟแต่ต้นลม หากท่านไม่ทำเช่นนี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าฝรั่งเศสจะมาไม้ไหน เพราะไม่ใช่แค่ทหารจำนวน 600 คนเท่านั้น แต่ตอนท้ายยังมีทหารถูกส่งมาบนเรืออีก ซึ่งหากพระเพทราชาไม่ปฏิวัติ อยุธยาเองก็อาจจะถูกปฏิวัติ แต่เป็นการปฏิวัติโดยนโยบายของชาติอื่น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร”

เรื่องราวของพระเพทราชาที่น่าสนใจยังมีให้ติดตามอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวก่อนขึ้นครองราชย์ เหตุการณ์ก่อนปฏิวัติพระนารายณ์ ที่ผู้สนใจสามารถไปหาคำตอบได้ในทัวร์ “ออกพระเพทราชา ฮีโร่แห่งกรุงศรีฯ” จ.สุพรรณบุรี-พระนครศรีอยุธยา กับ “มติชนอคาเดมี” โดยมี รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี เป็นวิทยากร กำหนดออกเดินทางวันที่ 23 มิถุนายน 2561 ส่วนรอบ 2 กำหนดเดินทางวันที่ 30 มิถุนายน 2561 นี้

สนใจติดต่อ มติชนอคาเดมี

Inbox : Facebook Matichon Academy

Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124

Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105

line : @matichonacademy

คลิกอ่านรายละเอียดการเดินทางได้ที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_14622


Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111