สังคมไร้เงินสด ที่ประชาชนอาจรู้สึกว่าถูกทิ้งไว้ข้างหลัง?

Lifestyle ไลฟ์สไตล์

วันนี้ได้ยินคำว่ายุคสังคมไร้เงินสดกันมากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ อี-เพยเมนท์ คิวอาร์โค้ด การทำธุรกรรมดิจิทัล แบงก์กิ้งต่างๆ แม้กระทั่งธุรกรรมจากสกุลเงินดิจิทัล ทั้งหมดคือการเดินหน้าเข้าสู่ยุคแรกของสังคมไร้เงินสดที่กำลังเปลี่ยนรูปแบบสังคมในอนาคต

อันที่จริงโลกเริ่มพูดถึงสังคมไร้เงินสดตั้งแต่ทศวรรษ 90 แล้ว กระทั่งเริ่มใช้งานจริงจังราวๆ 10 กว่าปีมานี้ แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่า การย้ายไปสู่เศรษฐกิจแบบไร้เงินสดจะถูกถกเถียงมากมายหลายประเด็น

แต่หลายประเทศยังมองถึงทิศทางที่เป็นบวกและเป็นประโยชน์มากกว่า

ในแง่ประโยชน์ที่พูดถึง “มูลค่าทางเศรษฐกิจ” ที่ประเทศหนึ่งๆหรือเมืองหนึ่งๆจะได้รับเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีที่มากขึ้น ตรวจสอบภาษีได้ง่ายขึ้น อาชญากรรมที่น้อยลง ลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น แก้ปัญหาก่อการร้าย ลดการฟอกเงินผิดกฎหมาย การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ค่าจ้างที่สูงขึ้น และประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น ไปจนถึงประโยชน์ในการกำกับดูแลอัตราเงินเฟ้อ

มีงานวิจัยที่บอกว่า กรุงเทพมหานครจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1.26 แสนล้านบาท เมื่อก้าวเป็นสังคมไร้เงินสด

นั่นจึงไม่แปลกที่ปีก่อนเราเห็นข่าวว่าขอทานที่ประเทศจีนติดคิวอาร์โค้ดไว้ข้างกระป๋องเพื่อให้คนที่จะบริจาคเงินสแกนส่งเงินให้ได้ทันที หรือเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนจับมือกับภาคเอกชนจากสวีเด่น เปิดตัวโครงการทดลองติดตั้งเครื่องอ่านบัตรให้บรรดานักแสดงดนตรีริมทางใช้เป็นอุปกรณ์รับบริจาคเงินจากผู้คน ซึ่งมีเป้าหมายจะพยายามทำให้ทั่วลอนดอน

ทุกสิ่งทุกอย่างจะไปสู่สังคมไร้เงินสด แล้วสำหรับคนที่ไม่ชอบ และรู้สึกว่าได้รับผลกระทบจะเป็นอย่างไร? สำนักข่าวบีบีซีเคยทำสกู๊ปถามถึงคนในสวีเดน ที่ยังเห็นต่าง แม้จะอยู่ในประเทศติดอันดับต้นๆของสังคมที่ไร้เงินสดมากที่สุดในโลก (อันดับหนึ่ง แคนาดา) กลุ่มที่ยังกังวล คือกลุ่มผู้สูงวัย ที่มองว่าสังคมไร้เงินสดอาจไม่ใช่สังคมสำหรับพวกเขา

สวีเดน เดินหน้าสร้างสังคมไร้เงินสดให้สมบูรณ์แบบมาหลายปีแล้ว ผลคือมีการใช้เงินสดทำธุรกรรมตามร้านค้าลดน้อยลงเหลือเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น ทั้งยังห้ามใช้ธนบัตรหรือเหรียญจ่ายค่ารถโดยสารสาธารณะ และตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

พ่วงด้วยมีกฎหมายที่ให้ร้านค้าสามารถปฏฺิเสธที่จะรับเงินสดได้

แน่นอนว่านี่อาจเป็นชีวิตที่ยุ่งยากสำหรับผู้ที่ไม่เต็มใจเข้าสู่สังคมไร้เงินสด โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่ไม่ถนัดการชำระเงินแบบดิจิทัลหรือทำธุรกรรมบนโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อจ่ายค่าบริการต่างๆ

ขณะที่ในกรุงสต๊อกโฮล์มตู้เอทีเอ็มก็กำลังจะเป็นสิ่งหายากขึ้นทุกทีเช่นเดียวกัน

เป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศที่ไปไกลในเรื่องสังคมไร้เงินสดแล้ว

ยังไม่วายมีประเด็นน่าห่วงว่าเราจะบริหารจัดการอย่างไรกับประชากรอีกจำนวนหนึ่งที่กำลังรู้สึก…ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง