4 เกร็ดประวัติศาสตร์น่าค้นหา ในทัวร์ออกพระเพทราชา “ฮีโร่” แห่งกรุงศรีฯ

Culture ศิลปวัฒนธรรม

ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้วสำหรับทัวร์ ออกพระเพทราชา “ฮีโร่” แห่งกรุงศรีฯ รอบแรก ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเต็มอิ่มสาระความรู้ประวัติศาสตร์กันอย่างเต็มที่ แต่ด้วยกระแสเรียกร้องให้จัดอีกรอบ มติชนอคาเดมีจึงจัดทัวร์รอบ 2 ซึ่งจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน 2561

แต่ก่อนจะไปทัวร์ ลองมาดู 4 เกร็ดประวัติศาสตร์น่าค้นหาในทัวร์ตามรอยออกพระเพทราชากัน!

1.ถิ่นกำเนิดพระเพทราชา

หลักฐานที่มีอยู่ในพงศาวดารบอกว่า พระเพทราชานั้นเป็นคนบ้านพลูหลวง ซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.สุพรรณบุรี เป็นชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำสุพรรณบุรีขึ้นไปทางเหนือ อาจจะนอกกำแพงเมืองสุพรรณบุรีออกไปนิดหนึ่ง แต่ก็ถือว่าอยู่ในอำเภอเมือง

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่าไม่น่าจะใช่ เพราะไม่หลังจากที่พระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว กลับไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ ในยุคของพระองค์เลย ซึ่งถ้าหากสุพรรณบุรีเป็นบ้านเกิดจริง พระองค์น่าจะมาสร้างสิ่งปลูกสร้างที่นี่บ้างหลังขึ้ครองราชย์ กระนั้น ก็เชื่อกันว่าพระองค์น่าจะมีเชื้อสายจากสุพรรณบุรีอยู่บ้าง เพราะในพงศาวดารระบุว่า หลังจากที่พระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว มีพระญาติจากสุพรรณบุรีมาขอเข้าเฝ้า

2.ชายผู้นอนกรนเป็นเสียงดนตรี

หนึ่งในตำนานที่เกี่ยวข้องกับพระเพทราชาคือเรื่องเล่าที่วัดกุฎีทอง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี โดยตำนานนั้นเล่าอยู่ว่า ครั้งหนึ่งในช่วงก่อนพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ มีชายมานอนหลับที่วัดแห่งนี้ และชายคนดังกล่าวนอนกรนเป็นเสียงดนตรี เจ้าอาวาสที่นี่เลยทำนายไว้ว่าจะได้เป็นใหญ่ต่อไป ซึ่งชายคนนั้นก็บอกว่า ถ้าได้เป็นใหญ่จริงจะกลับมาสร้างกุฏิ หรือกุฎีทองถวาย ซึ่งเมื่อพระเพทราชาได้ปกครองแผ่นดิน พระองค์ก็ทรงมาสร้างกุฏิถวายที่นี่จริงๆ โดยสมเด็จมาบนเสลี่ยงคานหาม มีการจัดพิธีฉลองสมโภชน์ยิ่งใหญ่ แต่เมื่อเสด็จกลับก็ทรงลืมไว้ ทางวัดจึงจัดเก็บไว้ และจัดแสดงให้ดูในปัจจุบัน

3.ยุคสมัยของพระเพทราชา ยังมีการส่งทูตไปฝรั่งเศส

หลายคนเข้าใจว่าหลังสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยาและฝรั่งเศสเป็นอันขาดสะบั้นลง แต่ในพงศาวดารระบุว่า พระเพทราชาก็ยังส่งทูตไปฝรั่งเศส ซึ่งแปลว่าท่านยังสืบสานในสิ่งที่พระนารายณ์ทำ ไม่ว่าจะเป็นทูตก็ยังรับอยู่ พ่อค้าก็ยังรับอยู่ ความสัมพันธ์ระหว่างสยามและฝรั่งเศสไม่ได้จบลง มีแค่ทหารที่ต้องออกไป มิชชั่นนารีถูกปล่อยตัวออกมา พ่อค้าก็ยังทำการค้าได้เหมือนเดิม และคงไม่มีใครที่จะไปตัดตอนการค้าได้ เพราะเป็นท่อน้ำเลี้ยงของอยุธยานั่นเอง

4.”ออกพระเพทราชา” เป็นแค่ชื่อตำแหน่ง

การเข้ามามีบทบาทในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาของพระเพทราชานั้น พบว่าพระองค์เข้ามาดำรงตำแหน่งในกรมช้าง ที่มีชื่อตำแหน่งว่า “พระเพทราชาธิบดีศรีสุริยาภิชาติสุริยวงษ์องคสมุหะฯ” และเป็นชื่อตำแหน่งที่ใช้กันมาจนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ แต่พระนามของพระองค์หลังขึ้นครองราชย์นั้นคือ พระบาทสมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม เพราะในมุมมองหนึ่ง การที่พระองค์ขับไล่ฝรั่งเศสออกไป ทำให้พระองค์กลายเป็น “พระเอกขี่ม้าขาว” หรือ “ฮีโร่” ในสายตาชาวกรุงศรีอยุธยา ได้รับการขนานนามเป็น “พระมหาบุรุษ” ปกปักพระพุทธศาสนา ช่วยกอบบ้านกู้เมืองให้พ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส

แล้วทำไมเราถึงยังเรียกพระองค์ว่าพระเพทราชา? การปฏิวัติแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ของพระองค์ส่งผลดีหรือผลเสียกันแน่? มติชนอคาเดมีชวนไปค้นคว้าค้าหาร่องรอยประวัติศาสตร์ ในทัวร์ ออกพระเพทราชา “ฮีโร่” แห่งกรุงศรีฯ จ.สุพรรณบุรี-พระนครศรีอยุธยา รอบ 2 วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน 2561 นี้ ราคา 2,700 บาท (อ่านรายละเอียดการเดินทางได้ที่ https://www.matichonacademy.com/content/article_15932)

สนใจติดต่อ มติชนอคาเดมี Inbox : Facebook Matichon Academy Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124 Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105 line : @matichonacademy