หลังจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี (พระยศในขณะนั้น) ได้ให้พระประสูติกาลพระราชโอรสวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2495 เวลา 17 นาฬิกากับ 45 นาที บันทึกของ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล บรรยายรายละเอียดต่อไปว่า อารามดีใจสมประสงค์ของดวงใจทุกๆ ดวง นายแพทย์ที่ถวายการประสูติ ซึ่งพร้อมที่จะบอกกล่าวแก่ที่ประชุม ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน กล่าวออกมาด้วยเสียงอันตื่นต้นกังวาน ว่า “ผู้ชาย” แทนที่จะว่า “พระราชโอรส”
บันทึกให้ภาพรายละเอียด ว่าฝนโปรยอยู่ตลอดเวลา แตรสังข์ดุริยางค์เริ่มประโคม ทหารบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ปืนใหญ่ทั้งบกและเรือยิงกันอย่างสะเทือนเลื่อนลั่น เสียงไชโยโห่ร้องก็ดังอยู่สนั่นหวั่นไหว สมใจประชาชนแล้ว เราอยากได้พระราชโอรส เราอยากได้สยามมกุฎราชกุมาร เราก็ได้ดังใจนึก พระราชาในระบอบประชาธิปไตย พระราชาของประชาชน แม้แต่การประสูติของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็ต้องตามมติของมหาชน ดวงใจทุกๆ ดวงมีความสุข ดวงใจทุกๆ ดวงรวมอยู่ที่พระมหากษัตริย์ไทย ดวงใจทุกๆ ดวงพร้อมกันตั้งจิตอธิษฐานขอให้ทุกๆ พระองค์ทรงพระเจริญ ขอให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์น้อย จงทรงพระเกษมสำราญ ข่าวการประสูติได้แพร่ไปทั่วประเทศและทั่วโลก ความปลื้มปีติมีอยู่ทั่ว แม้ผู้กระจายข่าวโฆษณาของรัฐบาลก็ยินดีจนปรากฏความละล่ำละลักออกมาว่า วันประสูตินั้นเป็นวันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2491 แทนที่จะเป็น 2495
เมื่ออ่านบันทึกถึงบรรทัดนี้ เป็นอันว่าในที่สุดความปรารถนาและการรอคอยของราษฎรชาวไทยก็สมดังใจปรารถนา เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ประสูติพระราชโอรส “สมเด็จเจ้าฟ้าชาย” สร้างความปีติยินดีแก่พสกนิกรชาวไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานน้ำพระมหาสังข์แก่พระราชโอรสตามพระราชประเพณี เมื่อเวลา 14.45 น. ของวันที่ 28 กรกฎาคม 2495 น้ำหนักพระองค์ขณะนั้นชั่งได้ 6 ปอนด์ และทรงถ่ายพระรูปฝีพระหัตถ์พระราชทานแก่ประชาชนผ่านทางหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าชายทรงมีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร”
สมเด็จเจ้าฟ้าชาย (พระยศขณะนั้น) ทรงเป็นทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงเป็น “ทูลกระหม่อมชาย” ของทุกๆ พระองค์และทุกๆ คน เพียงพระองค์เดียว ดังนั้น คำว่า “ชาย” จึงเป็นเสมือนชื่อที่ใช้แทนพระองค์ ไม่ทรงมีชื่อเล่นเป็นอย่างอื่น
วันที่ 15 กันยายน 2495 เป็นวันสมโภชเดือนทูลกระหม่อมฟ้าชายที่ประสูติใหม่ เนื่องด้วยการประสูติเช่นนี้และการสมโภชเช่นนี้ ไม่ได้มีกันมาหลายสิบปีแล้ว จึงเป็นธรรมดาเมื่อจะรื้อฟื้นกันขึ้นมาอีก ก็จำต้องได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมัยขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) แม้จะทรงได้รับการศึกษามาจากต่างประเทศก็จริง แต่ยังทรงเห็นอยู่เหมือนกันว่าประเพณีบางอย่างที่มีเหตุผล ที่เคยทำมาแต่โบราณอันควรจะรักษาไว้ก็ยังมี สิ่งใดที่ทรงเห็นว่าล้าสมัยไม่เหมาะสมแก่กาละ ก็โปรดให้แก้ไขเสียบ้าง ในพระราชพิธีสมโภชเดือนคราวนี้ ทรงปรึกษาพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรีในเวลานั้น ถึงการที่จะแก้ไขราชประเพณีให้รัดกุมยิ่งขึ้น และเสด็จในกรมพระองค์นี้ก็ได้ถวายคำปรึกษาให้เป็นไปตามพระราชประสงค์
พระราชพิธีนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้น ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต อันเป็นที่ประทับในปัจจุบัน เจ้าพนักงานได้แต่งห้องประชุมชั้นบนเป็นห้องพิธี เวลาเย็นวันที่ 14 กันยายน พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ มีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ รุ่งขึ้นวันที่ 15 (กันยายน) เวลาเช้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกยังห้องพิธี มีพระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐมนตรี และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างคับคั่ง สถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลได้รายงานข่าวพระราชพิธีให้ประชาชนได้ทราบทุกระยะ พอได้เวลา นายแพทย์และพยาบาลประจำพระองค์ก็เชิญเสด็จทูลกระหม่อมฟ้าชายประทับรถเข็นออกจากห้องบรรทมเข้าสู่ห้องพิธี ท่ามกลางพิธีสงฆ์ และพิธีพราหมณ์
ในห้องประชุมมีแท่นพระพุทธรูปตั้งอยู่ทางด้านตะวันออก พระสงฆ์อยู่ ณ อาสนะด้านเหนือ พระราชอาสน์ทอดอยู่ด้านใต้ เบื้องหลังพระราชอาสน์เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน เบื้องขวาของพระราชอาสน์เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายหน้า องคมนตรี รัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการอื่นๆ เฝ้ากันอยู่ที่ท้องพระโรง กลางห้องพิธีเป็นที่วางพระอู่ ใกล้ๆ มีเครื่องราชภัณฑ์เตรียมไว้พร้อมเพื่อการพิธี
พอถึงพระฤกษ์ พยาบาลเชิญเสด็จทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าชายเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจรดพระกรรบิด กริบพระเกศา ทรงเจิม ทรงผูกด้ายขวัญ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์ประกอบพิธี ลอยกุ้ง ปลาทอง มะพร้าวเงิน มะพร้าวทอง ลงในพระขันสาคร ครั้นแล้วพระสงฆ์ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา
พระมหาราชครูได้เริ่มทำพิธีเสด็จขึ้นอู่ และเห่กล่อมเปิดศิวาลัยไกรลาสตามพิธีของพราหมณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จมายังพระอู่ ทรงวางราชภัณฑ์ มีพระแสงเพชรน้อย (มีดปลอกฝังเพชร) พระแสงปืนนพรัตน์ (ปืนพกโบราณประดับพลอยเก้าสี) ทองคำแท่งหนัก 100 บาท เงินแท่งหนัก 20 บาท เงินบาท ฯลฯ ลงในพระอู่ตามราชประเพณี พระมหาราชครูก็เชิญเสด็จทูลกระหม่อมฟ้าชายขึ้นพระอู่ ขณะประทับในพระอู่ ทูลกระหม่อมฟ้าชายก็ทรงพระกันแสง ซึ่งดังพอที่จะได้ยินกันทั่วไปในห้องพิธี และเมื่อวิทยุได้กระจายพระสุรเสียงออกไปทั่วพระราชอาณาจักร ก็ทำให้ประชาชนผู้ได้ฟังพากันพอใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ทรงแสดงพระองค์ต่อประชาชน คล้ายๆ กับทรงทักทายกับประชาชน และทรงมีส่วนในพระราชพิธีนี้อย่างเต็มที่
พอพราหมณ์เห่กล่อมตามพิธีของพราหมณ์ ทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าชายก็บรรทมหลับสบายอยู่ในพระอู่นั้น นับเป็นการเห่กล่อมที่ได้ผลอันพึงพอใจ ครั้นแล้วพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่มาชุมนุมอยู่ ณ ที่นั้น ก็เวียนเทียนครบ 3 รอบตามประเพณี ประเพณีการเวียนเทียนนี้คงจะได้มาจากอินเดีย ในอินเดียเองยังคงฏิบัติอยู่เรียกว่า “อารตี” คือเอาดวงประทีปใส่กระบะเวียนจากขาวมาซ้าย มักใช้เวียนรอบต้นกะเพราหรือเทวรูป เป็นเพียงการแสดงความเคารพ แต่ทางไทยเราถือว่าเป็นการทำให้บริสุทธิ์ การทำให้บริสุทธิ์นั้นมีทำกันอยู่ 2 วิธี คือ ทำด้วยน้ำวิธีหนึ่ง และทำด้วยไฟวิธีหนึ่ง ท่าทางที่เวียนนั้นคือแกว่งไฟเข้าไปหาตัวเพื่อทำให้บริสุทธิ์ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ทูลกระหม่อมฟ้าชายก็เสด็จกลับ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวงก็นำของขวัญขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานบัตรขอบพระทัย และขอบใจโดยทั่วกัน
ในพระราชพิธีนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานของที่ระลึกแก่ราชสักขีในวันประสูติ แก่คณะกรรมการแพทย์ นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติ นายแพทย์ประจำพระองค์ และคณะพยาบาลโดยทั่วกันด้วย
ส่วนเพลงร้องเห่กล่อมนั้น มี อาทิ ร้องพัดชา เพลงมหาชัย ร้องเห่กล่อม เพลงบะหลิ่มและสระบุหร่ง ซึ่งขอคัดลอกมาเสนอ ดังนี้
พระเอยพระหน่อนาถ บรรจบมาสพระชนม์เจริญศรี
ปวงข้า ฝ่ายุคลกมลปรีดิ์ จะขับไม้มโหรีจำเรียงราย
เชิญเสด็จ ไสยาสสถาพร สดับกลอนประนอมกล่าวถวาย
บำเรอบัวบาทให้หทัยสบาย พระฤาสายสนิทนิทราเทอญ
ภาพจากคลิปวิดีโอ เพจเฟซบุ๊กกรมประชาสัมพันธ์