“สิงหาคม” นอกจากเป็นเดือนสำคัญที่มี “วันแม่แห่งชาติ” วันที่ 12 สิงหาคมแล้ว ยังเป็นเดือนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค พร้อมพระราชโอรส พระราชธิดา เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม ครั้งนี้ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5” ขณะทรงเป็นเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ตามเสด็จด้วย โดยเส้นทางเสด็จฯผ่านจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งต่อมาทรงนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาปรับใช้ในการสร้างพระราชวังบนยอดเขา คือ “พระนครคีรี” หรือเขาวัง กลางเมืองเพชรบุรี นอกจากนี้ เมืองเพชรบุรียังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงมาสร้างวังถึง 3 รัชกาลด้วยกัน ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6
“ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์” นักประวัติศาสตร์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าว่า เพชรบุรีเป็นเมืองที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดียาวนาน ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มในดินแดนไทยตราบถึงปัจจุบัน ที่สำคัญเป็นดินแดนที่มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เนื่องจากทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จแปรพระราชฐานประทับแรมต่างจังหวัด และทรงโปรดปรานเมืองเพชรบุรีอย่างยิ่ง ทรงเลือกพื้นที่บนเขามหาสวรรค์ (มไหสวรรย์) กลางเมืองเพชรบุรีเป็นที่สร้างพระราชวังที่ประทับ รู้จักกันในปัจจุบันว่า “เขาวัง” หรือ “พระนครคีรี” เป็นพระราชฐานที่ประทับแห่งแรกที่สร้างขึ้นอย่างถาวรนอกเหนือจากพระบรมมหาราชวัง
“สถาปัตยกรรมบนพระนครคีรีแสดงถึงพระราชนิยมของรัชกาลที่ 4 ซึ่งสะท้อนนวัตกรรมอันทันสมัยในช่วงเวลานั้น เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปรากฏอิทธิพลศิลปะตะวันตกผสมผสานศิลปะจีนและไทย น้อยคนนักจะทราบว่ารัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้ทดลองติดตั้งสายล่อฟ้าที่นี่เป็นครั้งแรก มีเจดีย์ทรงระฆังที่สร้างด้วยหินอ่อนจากเกาะสีชัง จ.ชลบุรี มีหอชัชวาลเวียงชัย เปรียบเสมือนประภาคาร และสถานที่ทอดพระเนตรดาวพุธ ตามที่ระบุในจดหมายเหตุของหมอบรัดเลย์
พระนครคีรีจึงเป็นพระราชวังที่แสดงถึงความทันสมัยศิวิไลซ์อย่างยิ่ง ทั้งยังใช้รับรองพระราชอาคันตุกะเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระราชอาคันตุกะที่สำคัญ คือดุ๊กและดัชเชสโยฮันเบรต แห่งเมืองบรันทวีท เจ้าผู้ครองนครรัฐของเยอรมนี หรือรัฐโยฮันเบรต บนยอดพระนครคีรี มีพระที่นั่งหลายองค์ อาทิ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ องค์ใหญ่ที่สุด สร้างแบบตึกฝรั่งเป็นวังที่ประทับของรัชกาลที่ 4 มีห้องพระบรรทม ห้องทรงอักษร ห้องออกว่าราชการ ฯลฯ
อีกองค์ที่สำคัญ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท ศิลปะแบบไทยท่ามกลางตึกฝรั่งของพระที่นั่งต่างๆ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะหล่อพระบรมรูปของพระองค์เท่าขนาดจริงมาประดิษฐาน แต่ฝรั่งปั้นรูปจำลองถวายให้ทอดพระเนตรไม่ทรงพอพระราชหฤทัย จึงให้ช่างไทยสมัยปั้นหุ่นใหม่ ก็ทรงพอพระทัย และโปรดฯให้หล่อพระบรมรูปนั้นขึ้น แต่ไม่ทันเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
นอกจากนี้มีพระเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ “พระธาตุจอมเพชร” ซึ่งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนยอดเขาที่ไกลสุดเป็นที่ตั้งของวัดพระแก้วน้อย บริเวณไหล่เขาด้านทิศตะวันออกมีวัดโบราณชื่อวัดสมณ (สะ-มะ-นะ) ปัจจุบันคือ วัดมหาสมณาราม หรือวัดเขาวัง
ใกล้พระนครคีรีมีเขาหลวง ซึ่งมีถ้ำขนาดใหญ่ประดิษฐานปูชนียวัตถุสมัยอยุธยา อาทิ พระพุทธไสยาสน์ รอยพระพุทธบาท พระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือหลวงพ่อถ้ำหลวง สิ่งสำคัญภายในถ้ำคือพระพุทธรูปในศิลปะรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีจารึกพระปรมาภิไธยและตราพระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 1-4 รวมทั้งพระพุทธรูปขนาดหน้าตักประมาณ 1 ศอก กว่า 100 องค์ เรียงรายรอบผนัง เกือบทุกองค์มีจารึกพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์จักรี เชื่อว่าสร้างเพื่อถวายพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 1-4 และพระราชวงศ์
ห่างตัวเมืองเพชรบุรีไม่ไกล มี “พระรามราชนิเวศน์” หรือ “พระราชวังบ้านปืน” ว่ากันว่ารัชกาลที่ 5 ทรงซื้อที่ดินจากราษฎรแล้วตัดถนนเข้าไป สร้างเมื่อ พ.ศ.2450 รัชกาลที่ 5 ทรงวางศิลาฤกษ์และพระราชทานนามไว้ก่อน พร้อมให้หล่อรูปพระนารายณ์ทรงธนู แต่ชาวบ้านเรียกพระนารายณ์ปืน ซึ่ง “ปืน” ในที่นี่หมายถึงลูกธนู ทรงตั้งใจนำมาไว้ที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ แต่สร้างไม่เสร็จก็สวรรคตก่อน รัชกาลที่ 6 จึงมาสร้างต่อ แต่สร้างเสร็จแล้วไม่เคยเสด็จฯประทับอย่างเป็นทางการ จะเสด็จฯเมื่อฝึกซ้อมเสือป่าเท่านั้น
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของร่องรอยประวัติศาสตร์ที่ปรากฏผ่าน วัด-วัง เมืองเพชรบุรี ยังมีเกร็ดเรื่องเล่าน่าสนใจอีกมาก ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมสัมผัสร่องรอยประวัติศาสตร์เพชรบุรี ในกิจกรรมทัวร์ ทัศนา “วัด-วัง” เมืองเพชร ฟังเกร็ดเรื่องเล่า “สองแผ่นดิน” จ.เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ นำชมโดย ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ จัดโดย มติชนอคาเดมี ระหว่างวันที่ 18-19 สิงหาคม 2561 ในราคา 5,800 บาท
หรืออ่านรายละเอียดที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_17782 หรือติดต่อผ่านเฟซบุ๊ก Matichon Academy โทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124 08-2993-9097, 08-2993-9105 หรือไลน์ @matichonacademy