ทำความรู้จัก อัตลักษณ์เครื่องเงิน 5 ภาค

Culture ศิลปวัฒนธรรม

ปัจจุบันเครื่องประดับเงินอาจจะถูกมองว่าใส่แล้วเชย ไม่ทันสมัย หรืออาจจะซื้อมาในราคาสูง แต่พอจะขายต่อกลับขายยาก เพราะคนส่วนใหญ่สนใจโลหะหรือแร่ที่มีค่ามากกว่าอย่างเพชรหรือทองคำ แต่หากจะว่าไปแล้ว “เครื่องเงิน” จัดเป็นเครื่องประดับที่รวมความละเอียดอ่อน และบ่งบอกอัตลักษณ์ของผู้ที่สลักเสลางานเงินชิ้นนั้นขึ้นมาได้เป็นอย่างดี หรือจะเรียกว่า เครื่องเงินโบราณ คือไทม์แมชชีนให้เราได้เรียนรู้ความคิดและความเชื่อของคนในยุคอดีตก็ว่าได้ และเมื่อโลกเปลี่ยน เครื่องเงินก็เปลี่ยนดีไซน์ไปตามยุคสมัยเช่นกัน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ตัวตนของคนแต่ละท้องถิ่นก็ยังจารึกอยู่ในลวดลายเสมอ จึงอยากจะพาไปเที่ยวทั่วไทย สำรวจเครื่องเงินจากแต่ละภาคของไทย ว่ามีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นอย่างไรบ้าง

ภาคเหนือ

เครื่องเงินเมืองน่าน น่านคือหนึ่งในเมืองที่มีภูมิปัญญาการผลิตเครื่องเงินมาช้านาน เครื่องเงินน่านจึงไม่เหมือนกับที่อื่น โดยปัจจุบันแบ่งเป็น 2 แบบคือ แบบเงินดั้งเดิม และแบบชมพูภูคา (เครื่องเงินชาวเขา) โดยแบบดั้งเดิมจะมีรากมาจากการกวาดต้อนเทครัวช่างเงินและช่างทองจากฮ่อน้อย ฮ่อหลวง เมืองยอง และเชียงแสน มายังบริเวณบ้านประตูป่องของเมืองน่าน ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ จนเกิดการถ่ายทอดภูมิปัญญา ส่วนแบบชมพูภูคา เกิดจากการประยุกต์งานเงินโดยชาวเขาเผ่าเมี่ยน และเผ่าม้ง

เครื่องเงินน่านในภาพรวมต่างจากเครื่องเงินภาคอื่นตรงที่ช่างนิยมใช้เม็ดเงินที่มีค่าความบริสุทธิ์ระหว่าง 96-98% ซึ่งมีความอ่อนตัวสูงกว่าเนื้อเงินทั่วไป ทำให้นำไปตีหรือขึ้นรูปได้ง่ายขึ้น ชิ้นงานที่ออกมาจะมีลักษณะเนื้อด้านไม่เงา ลวดลายส่วนมากมักมีที่มาจากธรรมชาติ เช่น ลายดอกกระถิน ลายพันธุ์ไม้ในป่าหิมพานต์ ลายดอกกลีบบัว ลายตาสับปะรด ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีลวดลายอื่นที่โยงกับความเชื่อ เช่น ลายเทพพนม ลายสิบสองนักษัตร โดยจะผลิตออกมาเป็นทั้งเครื่องใช้ เช่น สลุงเงิน พานรอง เชี่ยนหมาก ตลับเงิน และเครื่องประดับ เช่น กำไลข้อมือ ต่างหู แหวน ปิ่นปักผม เป็นต้น

ภาคอีสาน

เครื่องเงินเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ อิทธิพลเครื่องเงินสุรินทร์ ที่บ้านเขวาสินรินทร์ มีรากลึกมาจากบรรพบุรุษชาวเขมร ย้อนกลับไปเมื่อราว 270 ปีก่อน ชาวเขมรกลุ่มหนึ่งได้อพยพหนีสงครามมาตั้งรกราก และพกความสามารถในการตีทองรูปพรรณเป็นเครื่องประดับมาด้วย โดยมีคำเรียกเครื่องประดับคอในภาษาถิ่นว่า ‘จาร’  ‘ตะกรุด’ หรือ ‘ปะคำ’ ต่อมาคนหันไปนิยมซื้อทองจากห้างทองมากกว่า ศิลปะลวดลายจึงย้ายมาสลักลงบนเครื่องเงินแทน โดยมีเอกลักษณ์อยู่ที่การผลิตเม็ดประคำ หรือประเกือม ในภาษาเขมร ด้วยวิธีโบราณ โดยนำวัตถุดิบเงิน 60% มาตีเป็นรูปต่างๆ พร้อมอัดครั่งไว้ภายใน นำมาเสริมในลวดลาย เช่น ถุงเงิน หมอนแปดเหลี่ยม กรวย แมงดา มะเฟือง หรือลายอย่างกลีบบัว ดอกพิกุล ลายพระอาทิตย์ เสร็จแล้วนำมารมดำให้ลายเด่น ความสวยงามของเงินสุรินทร์อยู่ที่ความแวววาว และประยุกต์ผลิตเป็นเตื่องประดับที่มีลวดลายซับซ้อนสวยงามทั้ง กำไลข้อมือ สร้อยประคำ ต่างหู แหวน เป็นต้น

ภาคกลาง

เครื่องเงินศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย คล้ายคลึงกับสุรินทร์ตรงที่เกิดการผ่องถ่ายจากเครื่องทองมาสู่เครื่องเงิน และมีเอกลักษณ์เด่นตรงที่เครื่องเงินสุโขทัยเป็นรูปแบบถักเส้นเงิน เหมือนวิธีถักเส้นทอง ตามภูมิปัญญาช่างทองสุโขทัยโบราณ โดยคงลวดลายทางศิลปะของสุโขทัยเอาไว้ ทั้งลายโบสถ์หรือวิหาร ลายเครื่องสังคโลก ลวดลายธรรมชาติ และลายไทยต่างๆ เริ่มจากนำเม็ดเงินบริสุทธิ์ 99% มาหลอมลงในบล็อกให้เป็นเงินแท่ง นำมารีดเป็นแผ่นบาง และออกแรงดึงจนเป็นเส้นเงินขนาดต่างๆ เพื่อนำไปถักลาย และประกอบเป็นเส้นโดยใช้น้ำประสานทอง นำไปลนด้วยไฟอ่อนๆ จากนั้นช่างจะใช้เทคนิคลงยาสี โดยสีที่นิยมใช้ คือแม่สีอย่าง สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน แล้วจึงติดพลอยสีลงบนตัวเรือน งานเครื่องเงินสุโขทัยจึงเน้นไปที่เครื่องประดับอย่าง สร้อยที่มีลวดลายต่างๆ ต่างหู กำไล สร้อยคอ แหวน เข็มขัด ฯลฯ

ภาคใต้

เครื่องเงินนครศรีธรรมราช พูดถึงเครื่องเงินนคร มักจะมีคำว่า เครื่องถม พ่วงมาด้วยเสมอ และถือเป็นหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอย่างหนึ่ง สำหรับฝีมือช่างเงินนครศรีธรรมราชนั้นเป็นภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษชาวไทรบุรีที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาเมื่อครั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) มาตั้งบ้านเรือนบริเวณหน้าเมือง ชื่อเสียงเครื่องทองไทรบุรีที่นำไปขายในตลาดดังถึงหูเจ้าเมือง จึงถูกเรียกให้เข้าไปทำทองให้เสมอ จนกระทั่งราคาทองสูงขึ้นมาก ไม่ค่อยมีผู้ว่าจ้างให้ทำ บรรดาช่างจึงหันมาผลิตเครื่องเงินแทน โดยยังนำเอาลวดลายเครื่องทองมาใช้อย่างปราณีตสวยงาม เอกลักษณ์เครื่องเงินนครเป็นลักษณะเครื่องเงินถัก ทั้งสายสี่เสา หรือหกเสา ที่ถักด้วยลวดเงินเส้นบางเฉียบ รวมทั้งสร้อยสามกษัตริย์ทำด้วยทอง เงิน และนาก แม้กระทั่งเครื่องชุดละครไทย พวกทับทรวง ปิ่นปักผม เข็มขัด ช่างเมืองนครก็ผลิตได้อย่างละเอียดและประณีตมาก ขาดไม่ได้คือเครื่องประดับเม็ดนโม หรือเง็ดเงินเล็กๆ ตีลายนโม ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องเงินแห่งเมืองนครศรีธรรมราชไปแล้ว

ภาคตะวันออก

เครื่องเงินจันทบุรี ใครว่าจังหวัดจันทบุรีจะมีชื่อเสียงแต่เครื่องประดับพลอยเพียงอย่างเดียว ในเมื่ออัญมณีน้ำงามนั้นจำเป็นที่จะต้องมีตัวเรือนที่คู่ควร จันทบุรีเองก็มีภูมิปัญญาในการสลักเสลาเครื่องเงินให้ออกมาสวยงาม และมีความเป็นมายาวนานเช่นกัน โดยเฉพาะศิลปะการทำ แหวนกล ที่มีความซับซ้อน ซึ่งเป็นการนำแหวนหลายวงมาคล้องกันให้เกิดแหวนวงเดียว แล้วเมื่อบิดหมุนก็จะสามารถแยกออกจากกันได้ราวกับมีกลไก โดยศิลปะนี้เหลือคนทำอยู่ไม่มาก เพราะช่างต้องมีความชำนาญและละเอียดอ่อน เนื่องจากชิ้นงานต้องผลิตด้วยมือทั้งหมด โดยรูปแบบเฉพาะของแหวนกลจันทบุรีนิยมทำหัวแหวนเป็นรูปสัตว์ตามปีนักษัตรต่างๆ เช่น ปู หรือปลา ขณะที่แหวนกลในต่างระเทศจะเป็นเพียงลวยลายเส้นสายที่ไม่ซับซ้อนเท่า ปัจจุบัน แหวนกลมีการพัฒนารูปแบบให้ทันสมัยขึ้นเพื่อจับกลุ่มตลาดคนรุ่นใหม่ โดยวัสดุที่นำมาทำก็จะนิยมใช้เงินและทองเป็นตัวเรือน และขาดไม่ได้ก็คือพลอยสีสวย ที่จะมาเป็นนางเอกอยู่บนตัวเรือนอันปราณีตและซับซ้อนไปด้วยกลไกนี้

ทุกวันนี้ เครื่องเงินในแต่ละภาคต่างต้องการพัฒนาให้ชิ้นงานมีความสมัยใหม่ เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตและรสนิยมของคนรุ่นใหม่ และชาวต่างชาติมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “สืบสานงานเงิน” โดย สยามเจมส์ กรุ๊ป ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในการหล่อเลี้ยงอัตลักษณ์เครื่องเงินไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคง แข็งแรง และช่วยพัฒนาทักษะฝีมือให้สืบไปยังรุ่นต่อรุ่น ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจในการออกแบบด้วยการประยุกต์เอกลักษณ์โบราณของเครื่องเงินแต่ละท้องถิ่นให้เข้ากับความต้องการของตลาด ซึ่งไม่ได้หยุดอยู่แค่ในประเทศ แต่ยังขยายสู่ตลาดโลกอีกด้วย