ความลับหลังกำแพงศิลา บันทายฉมาร์-สมโบร์ไพรกุก-เสียมราฐ

Culture ศิลปวัฒนธรรม

ก้อนศิลาหินทรายที่ถูกแกะสลักเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ บอกเล่าเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านกาลเวลามานานกว่า 1,000 ปี ใบหน้าปริศนาสลักไว้บนยอดปราสาทหลายแห่งในพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ท่ามกลางแท่งศิลาขนาดใหญ่ที่ทับถมกันสูงท่วมหัว เป็นภาพที่ตื่นตาตื่นใจและตื่นตะลึง! สำหรับใครก็ตามที่ได้เห็นกลุ่มปราสาท บันทายฉมาร์ เป็นครั้งแรก ความลึกลับดำมืด พอๆ กับเสน่ห์และมนต์ขลังดึงดูดให้ใคร่รู้อยากค้นหาคำตอบ “มันคืออะไรกันแน่?” เมื่อจุดที่ยืนอยู่นั้น มองโดยรอบแล้วราวกับอยู่ในนครที่ถูกสาปตลอดกาล

กลุ่มปราสาทบันทายฉมาร์ อยู่ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา ไปทาง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ตั้งอยู่ใน จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา หรือที่คนไทยเรียกว่า เมืองศรีโสภณ นั่นเอง กลุ่มปราสาทแห่งนี้ต้องเรียกว่า “มหาปราสาท” ถึงจะถูก เพราะความอลังการงานสร้างที่มองเห็นคนตัวเล็กนิดเดียวหากเดินเข้าไปอยู่ในกองศิลาทรายที่ถล่มทับถมกันเนื่องเพราะกาลเวลา

คำบอกเล่าร่องรอยประวัติศาสตร์ของกลุ่มปราสาทบันทายฉมาร์แห่งนี้ ระบุว่า เป็นกลุ่มปราสาทที่เก่าแก่ที่สุดของกัมพูชา เกิดขึ้นก่อนปราสาทนครวัด-นครธม ว่ากันว่าอาณาเขตภายในกำแพงศิลานั้นคือ ศาสนสถาน ส่วนรอบนอกคือตัวเมือง เพราะมี “ธรรมศาลา” หรือที่พักคนเดินทางในสภาพที่ยังสร้างไม่เสร็จ ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมการเดินทางของคนสมัยก่อน ก่อนจะเข้าไปยังศาสนสถาน แค่ศาสนสถานก็ใหญ่โตมโหฬารแล้ว ถ้าเป็นตัวเมืองด้วยจะใหญ่โตขนาดไหน ลองจินตนาการดู

ปราสาทบันทายฉมาร์ เป็นปราสาทสำคัญในสมัย พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ลักษณะการก่อสร้างตัวปราสาทเป็นปราสาทหิน พื้นที่โดยรอบมีฐานะเป็นเมือง ปรากฏหลักฐานในเอกสารโบราณและแผนที่เส้นทางเดินทัพสมัยรัชกาลที่ 2 ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ของไทย มีการระบุตำแหน่งเอาไว้ชัดเจนว่าบันทายฉมาร์เป็นกลุ่มปราสาทที่คนไทยรู้จักมานานแล้ว เป็นศาสนสถานสำคัญที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างไว้นอกเมืองพระนคร เพื่ออุทิศให้กับพระราชโอรสและกลุ่มขุนนางที่เสียชีวิตในการสงคราม “ศรินทรกุมาร” ซึ่งเป็นพระราชโอรส มีปรากฏรายชื่อในจารึกของปราสาทบันทายฉมาร์

เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญของที่นี่ก็คือ ภาพสลักที่ระเบียงปราสาท เป็นภาพเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และภาพสลักพระอวโลกิเตศวรปางพันกร คือมีพระกรหนึ่งพันกร ในอดีตเคยมีขโมยเข้าไปลักลอบขนชิ้นส่วนพระอวโลกิเตศวรนี้ออกมาตามใบสั่ง แต่ไปไม่ถึงไหนมาจับได้ที่ชายแดนประเทศไทย ทางการไทยจึงส่งคืนกัมพูชาไป ปัจจุบันชิ้นส่วนเหล่านั้นมีการนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ ที่กรุงพนมเปญ

ซากหินกองระเกะระกะของบันทายฉมาร์ ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ของกัมพูชาร่วมกับเจ้าหน้าที่จากประเทศเยอรมนีกำลังบูรณะอยู่บางส่วน เมื่อเดินเลยเข้าไปด้านใน มีภาพสลักหินนูนต่ำแสดงถึงรอยอดีตอันยิ่งใหญ่ให้สัมผัส ตั้งแต่ซุ้มประตูหรือโคปุระ จนถึงตัวปราสาทหลัก ทับหลัง หน้าบัน นางอัปสรา และลวดลายที่สวยงามสลับซับซ้อน พระศิวะ พระวิษณุ พระพรหม เทวดา ครุฑ ฤๅษี พราหมณ์ และพระพุทธเจ้า เป็นต้น

ตามหลืบมุมต่างๆ ของปราสาทด้านใน บางแห่งยังมีจารึกตัวหนังสือโบราณหลงเหลือให้เห็น กลุ่มปราสาทบันทายฉมาร์มีปราสาททั้งหมดประมาณ 10 หลัง ปราสาทหลักคือปราสาทบันทายฉมาร์, ปราสาทตาเปล่ง, ปราสาทตาสก, ปราสาทตาเปรียว, และ “ป้อมประจำทิศ” ทั้งสี่ทิศ

ประเด็นหนึ่งที่หลายคนอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงให้ขุนนางไทยไปรื้อปราสาทเขมรเพื่อนำมาไว้ที่ประเทศไทย แท้จริงแล้วเป็นปราสาทบันทายฉมาร์ ไม่ใช่ปราสาทนครวัด-นครธม อย่างที่เข้าใจกัน

ส่วนกลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก อยู่ห่างจากเมืองเสียมเรียบประมาณ 120 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขต จ.กำปงธม องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกชิ้นล่าสุดของกัมพูชา ขณะที่รัฐบาลกัมพูชาเองก็ได้แถลงข่าวล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้วว่า ได้บูรณปฏิสังขรณ์กลุ่มปราสาทชุดใหม่ คือบันทายฉมาร์และสมโบร์ไพรกุก ซึ่งเป็นกลุ่มปราสาทเก่าแก่ที่สุดของกัมพูชา เพื่อเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบศิลปและโบราณสถานในกัมพูชา

อาจารย์ศานติ ภักดีคำ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เขมร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มศว. ให้ข้อมูลว่า สมโบร์ไพรกุกมีอายุในสมัย พระเจ้าอิศาณวรมัน ที่ 1 (ค.ศ.616-635) ก่อนเกิดนครวัด 500 ปี เป็นอาณาจักรยุคเริ่มแรกตั้งแต่สมัยเจนละ ถือเป็นยุครุ่งเรืองที่สามารถรวบรวมเอาอาณาจักรฟูนันมาไว้ด้วยกันได้อย่างเป็นปึกแผ่น

สมโบร์ไพรกุกสร้างด้วยอิฐ มีการจำหลักลวดลายลงบนเนื้ออิฐ แต่ทับหลังบางส่วนมีการสลักบนหินทรายแล้วยกมาประกอบ แตกต่างจากศิลปะในยุคนครวัด เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคล้ายๆ ศิลปะอินเดีย ส่วนมากสลักเป็นรูปคนและบริวาร ดูเหมือนใบหน้าชาวอินเดีย ไม่เหมือนคนเขมร สะท้อนให้เห็นถึงการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากแดนภารตะที่แพร่เข้าไปในเขมร แต่เดิมสันนิษฐานว่าอาจมีปราสาททั้งหมดราว 300 หลัง แต่ปัจจุบันเท่าที่สำรวจพบมีเหลืออยู่ราว 160 หลัง

“กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุกที่จริงแล้วมีฐานะเป็นเมืองหลวง ก่อนที่กัมพูชาจะย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองพระนคร ที่เสียมราฐ เพราะฉะนั้นจึงเก่าแก่มากกว่านครวัด-นครธม เสียอีก โบราณสถานที่สมโบร์ไพรกุกมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 กลุ่มปราสาทนี้จะเห็นร่องรอยของศิลปะอินเดียชัดเจนมาก ที่ส่งอิทธิพลเข้าไปในเขมรตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่สำคัญสมโบร์ไพรกุก ปรากฏในเอกสารในจารึกของกัมพูชาและในเอกสารของจีนที่เข้ามาในราชวงศ์สุย ได้บันทึกถึงเรื่องราวของอาณาจักรเจนละ และบันทึกว่าราชธานีของพระเจ้าอิศาณวรมันนั้น อยู่ที่อิศาณปุระ ซึ่งก็คือกลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุกนั่นเอง”

กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุก มีพื้นที่ถึง 25 ตารางกิโลเมตร โดยยูเนสโกระบุว่าพื้นที่นี้ถูกเรียกว่า อิศาณปุระ (Ishanapura) ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรโบราณเจนละ (Chenla) แห่งอารยธรรมขอมในช่วงปลายศตวรรษที่ 6-7 ก่อนหน้าจักรวรรดิแขมร์จะเข้ามาแทนที่

อิศาณปุระหรือสมโบร์ไพรกุก ถือกันว่าเป็นจุดกำเนิดของอาณาจักรเขมรโบราณ และส่งอิทธิพลถึงศิลปะเขมรในยุคต่อๆ มาด้วย เพราะฉะนั้นทั้งสามกลุ่มปราสาท ตั้งแต่สมโบร์ไพรกุก บันทายฉมาร์ และนครวัด-นครธม ทั้งหมดคืออาณาจักรกัมพูชาที่เชื่อมโยงและร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปของประวัติศาสตร์เขมรให้ครบถ้วนสมบูรณ์

อ.ศานติ ภักดีคำ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เขมร คณะมนุษยศาสตร์ มศว

ศานติ ภักดีคำ

อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เขมร

คณะมนุษยศาสตร์ มศว

“หากมีโอกาสเดินทางไปศึกษาประวัติศาสตร์ของอาณาจักรเขมรแล้ว สิ่งที่จะต้องไปดูที่กลุ่มปราสาทบันทายฉมาร์ คือ พระพักตร์พระอวโลกิเตศวรที่สร้างอยู่นอกเมือง เป็นศาสนสถานสำคัญแห่งหนึ่งของเขมรโบราณ เราไม่ค่อยได้ไปสัมผัส ไม่ค่อยได้ไปรับรู้ สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เขมรและเกี่ยวข้องกับประเทศไทยเราด้วย คือในสมัยรัชกาลที่ 4 เคยส่งขุนนางไทยออกไปดูปราสาทบันทายฉมาร์ เพื่อจะรื้อนำกลับมาไว้ในประเทศไทย เพราะฉะนั้น ที่นี่จึงสำคัญที่ต้องไปดู และยิ่งกว่านั้น กลุ่มปราสาทบันทายฉมาร์และสมโบร์ไพรกุก ทั้งสองแห่งนี้ ทางรัฐบาลกัมพูชาเพิ่งจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้อย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้ศึกษาประวัติศาสตร์เขมร ตั้งแต่ยุคเขมรโบราณ มาถึงยุคกลางและยุคพระนคร เป็นรอยต่อที่เชื่อมโยงกัน ทำให้เราเห็นภาพรวมของกัมพูชาได้ชัดเจนและสมบูรณ์ขึ้น”

สำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์เขมร และไม่พลาดโอกาสที่จะได้สัมผัสทั้งขุมความรู้และอาหารตา เพลิดเพลินกับเรื่องราวที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน “มติชนอคาเดมี” ในสังกัดบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดนำชมความงามอลังการ ยิ่งใหญ่ตระการตาของกลุ่มปราสาททั้งสามกลุ่ม ตั้งแต่บันทายฉมาร์-สมโบร์ไพรกุก และนครวัด-นครธม ที่เมืองเสียมเรียบ สนับสนุนการเดินทางโดยบางกอกแอร์เวย์ส ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายนนี้ สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2954-3977-84 ต่อ 2123, 2124 และ 08-2993-9097