ก่อนนั้น..ก้อนอิฐก้อนหินสักก้อนดูเหมือนจะไม่ได้มีความหมายอะไรมากกว่าการเป็นวัตถุชิ้นหนึ่งในการก่อสร้าง แต่เมื่อได้เรียนรู้มากขึ้น พบเห็นมากขึ้น ก้อนอิฐก้อนหินที่มองเห็นลวดลายสลักต่างๆ บนนั้น ไม่ได้ไม่มีความหมายอีกต่อไป
แต่กลับกลายเป็นเหมือนแผ่นกระดาษที่ขีดเขียนเรื่องราวของคนโบราณ เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปในอดีตได้อีกแล้วก็ตาม เฉกเช่นเรื่องราวของ “อาณาจักรเขมร” ที่ได้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบรรพบุรุษ ไว้บนก้อนศิลา เรียงรายเป็นกำแพงยาวเหยียด…
“มติชน อคาเดมี” ร่วมกับสายการบิน “บางกอกแอร์เวยส์” เจ้าของฉายา “เอเชีย บูทีค แอร์ไลน์” จัดทริปเดินทางสู่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เพื่อเรียนรู้เรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังกำแพงศิลาซึ่งสลักรูปและลวดลายต่างๆ ไว้ ในกลุ่มปราสาทที่กระจายกันอยู่ในอาณาจักรเขมร
ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มจนถึงยุคพระนครหลวง อันเป็นช่วงสิ้นสุดของอาณาจักรเขมรโบราณ นับเป็นความมหัศจรรย์จากฝีมือมนุษย์ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นกลุ่มปราสาทสมโบร์ไพกุก ในเมืองกัมปงธม กลุ่มปราสาทบันทายฉาร์ ในเมืองศรีโสภณ หรือบันเตียเมียนเจย ไปจนถึงปราสาทอันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก “นครวัด-นครธม”
อาณาจักรขอมหรือเขมร ถือเป็นหนึ่งในอาณาจักรโบราณที่ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลอย่างมาก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเริ่มต้นของอาณาจักรเขมรเกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 6 ก่อตั้งเป็น “อาณาจักรฟูนัน” ซึ่งก็คือบริเวณประเทศกัมพูชาปัจจุบัน และครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของประเทศไทย ลาว และเวียดนาม
ตามเอกสารจีน คำว่า “ฟูนัน” หรือ ฟู๋หนาน” สันนิษฐานว่าตรงกับคำเขมรว่า “พนม” ซึ่งแปลว่าภูเขา ส่วนภาษาเขมรโบราณใช้คำว่า “วนัม” (vnam) ฟูนันปรากฏชื่อในการติดต่อกับจีนครั้งแรกช่วงกลางๆ พุทธศตวรรษที่ 8 ประมาณ พ.ศ. 773 และปรากฏชื่อครั้งสุดท้ายในการส่งทูตไปเมืองจีน ประมาณ พ.ศ. 1160-1170 ต่อมาเอกสารจีนเรียกอาณาจักรนี้ว่า “เจนละ” และเรียกมาตลอดจนสิ้นยุคเมืองพระนคร ดังนั้น “อาณาจักรฟูนัน” ถือเป็นอาณาจักรเก่าแก่แรกสุดของกัมพูชา
ในพุทธศตวรรษที่ 11 อาณาจักรฟูนันเสื่อมถอยลง เกิดแคว้น “เจนละ” ขึ้น โดยพระเจ้าภววรมันที่ 1 และพระเจ้าอิศานวรมันที่ 1 ได้สร้างราชธานีขึ้นใหม่ ปัจจุบันคือกลุ่มปราสาทโบราณสถาน “สมโบร์ไพรกุก” ในจังหวัดกำปงธม ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบเขมร ระหว่างกึ่งทางพนมเปญ-เสียมเรียบ ราวๆ 120 กิโลเมตร บนทางหลวงหมายเลข 6 หมู่ปราสาทสมโบร์ไพรกุกนั้น สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอิศานวรมัน ที่ 1 ก่อนการเกิดของนครวัด
คำว่า “สมโบร์ไพรกุก” หมายถึง “ป่าปราสาท” เพราะในป่ามีปราสาทสร้างอยู่เต็มไปหมด หรือเรียกอีกชื่อว่า “ป่าปราสาทแห่งกัมปงธม” ปราสาททั้งหลายเหล่านั้นสร้างด้วยอิฐ ระหว่างก้อนอิฐแต่ละก้อน จะหยอดด้วยยางไม้แล้ววางก่อกันจนแนบสนิท ซึ่งนิยมใช้วิธีนี้ในการก่ออิฐตัวปราสาท ขณะที่ตัวปราสาทเป็นเรือนธาตุไม่เพิ่มมุม ชั้นหลังคาประกอบด้วยเรือนธาตุจำลองซ้อนชั้นลดหลั่นกันไป สื่อถึงอาคารสำหรับเทพเจ้าชั้นสูง ประตูของปราสาททั้งสี่มุมนั้นมีเพียงประตูเดียว อีกสามประตูเป็นประตูหลอก เนื่องจากวิทยาการสมัยนั้นยังไม่สามารถเจาะช่องประตูได้มากกว่าหนึ่งบาน กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุกยังมีกลุ่มปราสาทขนาดย่อยอีกมากมายในป่า ว่ากันว่ามีมากถึง 300 กว่าปราสาท
ถัดมาในพุทธศตวรรษที่ 12 รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 อาณาจักรเขมรช่วงนี้ถูกชวารุกราน แคว้นเจนละแตกออกเป็น “เจนละบก” และ “เจนละน้ำ” โดยเจนละน้ำอยู่ที่ลุ่มน้ำโขงตอนใต้ (ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน) ส่วนเจนละบก อยู่ในพื้นที่ประเทศลาวตอนกลางในปัจจุบัน ในพุทธศตวรรษที่ 14 พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจนละน้ำ
ทรงรวบรวมแคว้นเจนละบกและเจนละน้ำเข้าเป็นปึกแผ่น แล้วประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับชวา และได้เสด็จจากชวามาครองกัมพูชา โดยระยะแรกประทับอยู่ ณ เมืองอินทรปุระ แล้วจึงเสด็จไปประทับที่เมืองหริหราลัย จากนั้นได้สร้างพระราชอำนาจและปราบปรามอาณาจักรจามปาที่รุกรานกัมพูชา
ในการกลับมาครั้งนี้ พระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ได้นำเอา “ลัทธิไศเลนทร์” หรือ “ลัทธิเทวราชา” กลับมาด้วย จึงเกิดการสร้างปราสาทหรือเทวาลัยขึ้น เพื่ออุทิศถวายเป็นทิพยวิมานของเทพเจ้า อีกทั้งยังเป็นที่เก็บพระอัฐิของกษัตริย์เมื่อเสด็จสวรรคต ซึ่งเชื่อว่าดวงพระวิญญาณจะหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวกับเทพเจ้าที่พระองค์ทรงนับถือ เมืองหริหราลัยจึงเป็นราชธานีของกัมพูชาโบราณสืบต่อมาอีกหลายรัชกาล หลังจากนั้น พระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 ได้ย้ายราชธานีไปแห่งใหม่ คือ “พระนครศรียโศธรปุระ” หรือ “เมืองพระนคร”
หลังจากรัชกาลพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 มีกษัตริย์ปกครองเมืองพระนครสืบมาอีกหลายพระองค์ ที่สำคัญคือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สร้างปราสาทพระวิหาร และพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด สิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรัชกาลของพระองค์ ในศิลาจารึกกล่าวว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีความสามารถในการสงคราม ทรงรบกับจาม ญวน เสียม (ไทย) และมอญ ทำให้พระราชอาณาจักรในสมัยของพระองค์นั้นกว้างใหญ่ไพศาลไปถึงประเทศจีน
พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงนับถือไวษณพนิกาย จึงทรงสร้าง “นครวัด” เป็นที่บูชาพระวิษณุและสำหรับบรรจุพระอัฐิของพระองค์ด้วย ดังนั้น เหตุนี้ปราสาทนครวัดจึงถูกสร้างให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ต่างจากปราสาทอื่นๆ ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ เป็นคติเทวราชาที่เชื่อว่ากษัตริย์คือเทพเจ้าอวตารลงมา ด้วยความเชื่อเช่นนี้เอง ที่ทำให้กษัตริย์ขอม เมื่อขึ้นครองราชย์จึงสร้างปราสาทเป็นศาสนสถานสัญลักษณ์ประจำรัชกาล คล้ายกับไทยที่นิยมสร้างวัดประจำรัชกาลนั่นเอง
เมื่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สวรรคต อาณาจักรกัมพูชาโบราณมีกษัตริย์ครองราชย์ต่อมาอีกหลายพระองค์ จนถึงรัชกาล พระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมัน ในรัชกาลนี้อาณาจักรจามปาสามารถตีเมืองพระนครศรียโศธรปุระได้สำเร็จ และทำลายเมืองพระนครเสียหาย พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงรวบรวมกองทัพมารบกับจาม ได้ขับไล่จามออกไปจากกัมพูชา แต่เนื่องจากเมืองพระนครศรียโศธรปุระถูกทำลายอย่างหนัก จึงทรงย้ายไปสร้างเมืองพระนคร (ที่ 2) ขึ้นใหม่ เรียกว่า “นครธม” หรือตามเอกสารไทยเรียกเมือง “พระนครหลวง”
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงเป็นกษัตริย์กัมพูชาที่มีความเข้มแข็ง ชำนาญในการศึกสงคราม และเชี่ยวชาญในการปกครองแผ่นดินอย่างมาก ทำให้เมืองพระนครเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง พระองค์โปรดให้สร้างสิ่งก่อสร้างสถานพยาบาลรักษาโรค “อาโรคยศาล” และที่พักคนเดิน หรือ “ธรรมศาลา” จำนวนมากในพระนคร และตามเมืองต่างๆ สำหรับสิ่งก่อสร้างและศาสนาสถานที่สำคัญในรัชกาลนี้ ได้แก่ ปราสาทบายน ปราสาทพระขรรค์ เป็นต้น
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้สร้างปราสาท “บันทายฉมาร์” ไว้นอกเมืองพระนคร ซึ่งถือเป็นปราสาทอันยิ่งใหญ่ในสมัยของพระองค์ และยังเป็นศาสนสถานสำคัญ ที่สร้างเพื่ออุทิศให้กับพระราชโอรส “ศรินทรกุมาร” และกลุ่มขุนนางที่เสียชีวิตในการสงคราม ลักษณะการก่อสร้างตัวปราสาทบันทายฉมาร์เป็นปราสาทหิน เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญของที่นี่ก็คือ ภาพสลักที่ระเบียงปราสาท จะเป็นการบอกเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยภาพสลักที่สำคัญเป็นไฮไลท์ของที่นี่ ที่ทุกคนต้องไปดู คือ “พระอวโลกิเตศวรปางพันกร”
กลุ่มปราสาทบันทายฉมาร์ มีประมาณ 10 หลัง หลักๆ ได้แก่ ปราสาทตาเปล่ง ปราสาทตาสก ปราสาทตาเปรียว ปราสาทตาพรหม ปราสาทแม่บุญ และป้อมประจำทิศทั้ง 4 ทิศ ที่เชื่อว่าเป็นของราชองครักษ์ผู้ภักดี
ภายหลังพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เสด็จสวรรคตในปี 1763 เมืองพระนครหลวงก็อ่อนแอลง พระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ได้ดัดแปลงปราสาทต่างๆ ให้เป็นศาสนสถานฮินดู มีการสกัดพระพุทธรูปออก ให้เป็นศิวลึงค์แทน
หลังสิ้นพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 อาณาจักรกัมพูชาโบราณก็เสื่อมถอย อ่อนแอทางเศรษฐกิจ เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างพราหมณ์กับพุทธ และยังเกิดสงครามกับอาณาจักรโคเวียด (เวียดนาม) ยังต้องส่งเครื่องบรรณาการให้กับกรุงศรีอยุธยา จนถึงรัชสมัยของนักองจันทร์ (พ.ศ. 2059-2099) หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของกษัตริย์ขอมโบราณอีกเลย ปราสาทต่างๆ ถูกปล่อยทิ้งรกร้างในป่าเป็นเวลานานถึง 500 ปี