หนึ่งในการกินที่ทำให้สุขภาพดี นอกจากตัวอาหาร วัตถุดิบ กรรมวิธีการปรุงแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องใส่ใจคือ “ภาชนะ” ซึ่งภาชนะในการปรุงอาหารแต่ละชนิดมีข้อดีและวิธีใช้แตกต่างกัน ควรระมัดระวังในการใช้และการเก็บรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลต่อสุขภาพและทำให้สูญเสียรสชาติของอาหาร
ภาชนะเคลือบ (non-stick) ไม่ควรใช้ไฟแรง
ภาชนะที่เคลือบสารเทฟลอนง่ายต่อการทำความสะอาด การตั้งไฟแรงหรือของใช้ของมีคมขูดขณะประกอบอาหารจะทำให้สารที่เคลือบไว้หลุดออก ปัจจุบันยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีผลเสียต่อสุขภาพ แต่จะทำให้อายุการใช้งานของภาชนะนั้นๆสั้นลง
*ไม่ควรใช้แปรงแข็งๆปัดแรงๆ
ภาชนะสเตนเลสไม่เหมาะสำหรับการตุ๋นยาจีน
ควรหลีกเลี่ยงการนำภาชนะสเตนเลสมาตุ๋นยาจีน เพราะว่าในยาจีนจะมีสารจำพวกกรดอินทรีย์หรือแอลคาลอยด์ เมื่อโดนความร้อนหรือผ่านการตุ๋นนานๆจะทำปฏิกิริยาทางเคมีกับโลหะจนทำให้สรรพคุณของยาจีนหมดไปและอาจก่อให้เกิดสารที่เป็นโทษต่อร่างกาย นอกจากนี้ยังไม่ควรใส่เหล้า หรืออาหารที่มีความเป็นกรดหรือด่างมากไว้ในภาชนะนั้นนานๆ
*ไม่ควรใช้โซดาที่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนได้ดี ควรใช้ด่างหรือน้ำยาทำความสะอาดในการทำความสะอาดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผุกร่อน
ภาชนะที่ทำด้วยเหล็กต้องระวังไม่ให้ขึ้นสนิม
ภาชนะที่ทำด้วยเหล็กนับเป็นภาชนะที่มีความปลอดภัยที่สุด แต่ต้องระวังห้ามนำไปตุ๋นยาจีน เหตุผลที่ต้องห้ามนำไปตุ๋นยาจีนเหมือนกับเหตุผลของภาชนะสเตนเลส ไม่ควรใส่อาหารทิ้งไว้ในภาชนะค้างคืน นอกจากนี้ เมื่อใช้ภาชนะเหล็กกับถั่วเขียวหรือชา และใช้ความร้อนสูง จะทำให้น้ำถั่วเขียวมีรสชาติผิดเพี้ยนและน้ำชามีรสฝาด
*ควรล้างและเช็ดให้แห้งทันที หลังใช้งานเสร็จ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นสนิม ควรใช้ฟองน้ำนุ่มๆในการล้าง
ภาชนะที่ทำจากอะลูมิเนียมไม่ควรนำมาอุ่นอาหารที่มีความเป็นกรดหรือด่าง
การผลิตภาชนะอะลูมิเนียมจะต้องผ่านกระบวนการทำให้ปฏิกิริยาทางเคมีคงที่ ทนต่อการผุกร่อนและกระจายความร้อนได้เร็ว แต่กระนั้นเมื่อโดนกรดหรือด่าง ก็ยังคงมีปฏิกิริยาอยู่นั่นเอง จึงไม่ควรนำมาอุ่นอาหารที่มีความเป็นกรดหรือด่าง
*ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีความเป็นด่างรุนแรง เพื่อป้องกันการผุกร่อน
ภาชนะที่เป็นกระเบื้องไม่ควรมีลวดลายด้านในภาชนะ
ภาชนะประเภทกระเบื้องต้นต่อความเป็นกรดและด่าง จึงเหมาะสำหรับการปรุงอาหารทุกวิธี ทั้งต้ม ตุ๋น ผัด และย่าง อีกทั้งยังทำความสะอาดง่าย หากมีการใช้โลหะมาประดับเป็นลวดลาย ไม่ควรใส่เข้าไปในไมโครเวฟ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปล่อยสารพิษหรือเกิดประกายไฟ
*ควรหลีกเลี่ยงการเลือกภาชนะที่มีลวดลายด้านในภาชนะ ในการใช้งานครั้งแรกควรนำมาใส่น้ำและต้มให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อ
ภาชนะดินเผาเหมาะสำหรับการต้ม
ภาชนะที่ทำจากดินเผาจะเก็บอุณหภูมิได้ดี จึงนิยมนำมาใช้ในการทำหม้อไฟหรือต้ม ควรหลีกเลี่ยงภาชนะที่มีลวดลายด้านใน
*ก่อนนำมาใช้ครั้งแรก ควรล้างให้สะอาด ใส่น้ำและใบชา ต้มให้เดือดด้วยไฟอ่อน หรือแช่ด้วยน้ำซาวข้าวทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อทำให้พื้่นผิวด้านในอ่อนตัว
ควรใช้ภาชนะพลาสติกอย่างเหมาะสม
การใช้ภาชนะพลาสติกควรสังเกตว่าภาชนะนั้นๆทำจากวัสดุใด เช่น หากทำจากวัสดุพอลิโพรพิลีน จะทนความร้อนได้ประมาณ 135 องศาเซลเซียส หากทำจากวัสดุพอลิสไตรีน ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนความร้อน ไม่ควรใช้กับอาหารที่มีความเป็นกรด และอาหารทอด ส่วนพลาสติกที่ทำให้จากวัสดุพอลิไวนิลคลอไรด์ จะปล่อยสารก่อมะเร็งเมื่อโดนความร้อน แต่ปัจจุบันไม่นิยมใช้กันแล้ว การใช้ฟิล์มถนอมอาหารในไมโครเวฟ ไม่ควรปิดฟิล์มให้สนิท และควรห่างจากอาหารอย่างน้อย 3 เซนติเมตร
ที่มา หนังสือกินเปลี่ยนชีวิต ด้วยอาหาร 100 ชนิด จากธรรมชาติ สนพ.นานมีบุ๊คส์