ร้อยเรื่องราว “ไปรษณียากรไทย” และเทรนด์สะสมแสตมป์ไทย-ทำไมจึงไปไม่รอด

Culture ศิลปวัฒนธรรม

ร้อยเรื่องราว “ไปรษณียากรไทย” และเทรนด์สะสมแสตมป์ไทย-ทำไมจึงไปไม่รอด

“รู้หรือไม่ว่าหลายคนอาจเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการเก็บสะสมแสตมป์ โดยเฉพาะมือใหม่ ที่มักใช้วิธีเอาจดหมายไปแช่น้ำทั้งซอง หรือตัดมาจากซองจดหมาย!”

เป็นการเปิดบทสนทนาที่น่าสนใจไม่น้อยจาก “ชูเกียรติ ตลับเพ็ชร์” อดีตพนักงานการบินไทย ที่ใช้เวลาว่างเป็นนักสะสมแสตมป์ตัวยง จนมีรางวัลมากมายจากการเข้าประกวดแสตมป์ในโอกาสต่างๆ

และในโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงตราไปรษณียากรโลก พ.ศ.2561 หรือ Thailand 2018 World Stamp Exhibition ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2561 ณ ชั้น 5 สยามพารากอน “มติชนอคาเดมี” จึงไม่พลาดที่จะพาทุกคนไปรู้จักโลกของแสตมป์ให้มากขึ้นผ่านการพูดคุยกับนักสะสมแสตมป์อย่าง “ชูเกียรติ” ก่อนไปชมแสตมป์กันที่งานแสตมป์โลก

ก่อนจะไปถึงคำตอบของคำถามที่ว่า แล้วการเก็บแสตมป์ที่ถูกวิธีเขาเก็บกันแบบไหน? ขอปูพื้นฐานคร่าวๆ เกี่ยวกับแสตมป์ให้รู้กันสักนิด

“ชูเกียรติ” บอกว่า แสตมป์มี 2 ประเภท คือ แสตมป์ที่ระลึก หรือแสตมป์ที่ออกมาในโอกาสพิเศษ เช่น โอกาสที่การบินไทยอายุครบ 25 ปี ก็จะมีแสตมป์ออกมา โดยจะมีจำนวนพิมพ์ที่แน่นอน เมื่อพิมพ์หมดแล้วจะไม่พิมพ์เพิ่ม

ตัวอย่างแสตมป์ที่ระลึก

ส่วนแสตมป์อีกประเภทคือ แสตมป์ที่ใช้ประจำวัน เป็นแสตมป์ทั่วไปที่ใช้ติดจดหมาย มีการกำหนดราคาให้ใช้กับพัสดุที่น้ำหนักแตกต่างกัน เมื่อพิมพ์หมดแล้วก็พิมพ์เพิ่ม พิมพ์ซ้ำ ซึ่งบางครั้งในแต่ละรอบ บริษัทที่พิมพ์ก็เป็นคนละบริษัทกัน จึงทำให้เกิดรายละเอียดที่แตกต่างกันที่คนไม่เล่นแสตมป์จริงๆ อาจจะไม่รู้ หรือ

บางครั้งก็เกิดความผิดพลาด ซึ่งเรียกว่า แสตมป์ตลก แต่กลับเป็นแสตมป์ที่มีมูลค่าสูงมากเลยทีเดียว
อย่างเช่นแสตมป์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่การพิมพ์มีการเคลื่อนไปจากตำแหน่งปกติ ทำให้รอยปรุของฟันแสตมป์ผิดปกติ เช่น ไม่มีรอยปรุ หรือการปรุฟันของแสตมป์ไม่ลงตามสัดส่วนที่กำหนด  เป็นต้น

ตัวอย่างแสตมป์ที่เกิดความผิดพลาดในการพิมพ์

ที่โด่งดังเลยคือแสตมป์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผลิตขึ้นในปี พ.ศ.2517

พิมพ์ผิดจากคำว่า Baht เป็นคำว่า Bath 

เปรียบเทียบแสตมป์ที่สะกดถูกกับสะกดผิด

แต่ไฮไลต์ที่ใครๆ ต้องพูดถึง แสตมป์พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร ราคาดวงละ 2 บาท ที่มองเผินๆ อาจไม่เห็นว่ามีความแตกต่างกัน แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นเลยว่า ลายกนกที่ล้อมรอบหน้าของพระวรวงศ์เธออยู่นั้น มีการเวียนในทิศทางที่แตกต่างกัน

สังเกตลายกนก 2 ดวงทางซ้ายและ 2 ดวงทางขวา จะหมุนคนละทิศกัน

ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้ สาเหตุมาจากการที่ไทยเราส่งแสตมป์ไปพิมพ์ที่ต่างประเทศ เวลาไปทำเป็นเพลทพิมพ์ โรงพิมพ์นำรูปพระพักตร์ไปทำเพลทหนึ่ง และขอบลายกนกก็ทำอีกเพลทหนึ่ง พอเอามาขึ้นแท่นพิมพ์ก็อาจจะไม่รู้ว่าต้องวางเพลทในทิศทางไหน จึงทำให้เกิดความผิดพลาด แต่ความผิดพลาดนี้เองที่ทำให้แสตมป์ชุดนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และจะมีราคาแพงยิ่งกว่า หากแสตมป์ที่ถูกกับแสตมป์ที่ผิดอยู่ติดกัน ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในวิธีการเก็บแสตมป์ให้ถูกวิธีนั่นเอง

ย้อนกลับมาสู่คำพูดเปิดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเก็บแสตมป์ให้ถูกวิธี สำหรับในมุมมองของนักสะสม วิธีที่มือใหม่ทั้งหลายใช้อย่างเช่นการไปละลายน้ำ หรือการตัดออกจากซองนั้นไม่ได้ผิดซะทีเดียว แต่เป็นการทำให้แสตมป์นั้นไม่มีมูลค่าต่อการนำไปใช้ประกวด จะเอาไปขายเก็งกำไรก็อาจจะได้ราคาน้อยกว่าที่ควรจะได้

ชูเกียรติ ตลับเพ็ชร์

วิธีการที่ดีในการเก็บแสตมป์สำหรับนักสะสม คือ ต้องเก็บทุกช่วงราคา เช่น หากแสตมป์ชุดนี้มีราคา 2 บาท, 7.50 บาท, 8.50 บาท และ 9.50 บาท ก็ต้องเก็บทุกราคาแบบที่ยังไม่ประทับตราด้วย หรือหากเก็บแสตมป์แบบที่มีการประทับตรา ก็ต้องเป็นตราประทับในวันแรกจำหน่าย ซึ่งจะมีค่ามากขึ้นหากเป็นตราประทับบนซองที่เกิดจากการส่งจริงในวันแรกจำหน่าย ดังนั้นวิธีการเก็บแสตมป์ที่มีตราประทับที่ถูกต้องก็คือ ต้องเก็บไว้ทั้งซองนั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจคือซองจดหมายและการติดแสตมป์สมัยก่อน ที่ไม่ได้ติดด้านหน้าซองกันอย่างเราๆ แต่จะไปติดไว้ที่ด้านหลัง ปิดทับจุดเปิด-ปิดซองจดหมาย เพราะกลัวจะถูกเปิดซองจดหมาย ซองจดหมายในสมัยก่อนจึงเป็นสิ่งที่นักสะสมชื่นชอบ

การติดแสตมป์ของคนสมัยก่อน ปิดด้านหลังซองเพราะกลัวถูกเปิดอ่าน

โดยนอกจากแสตมป์แล้ว ตราประทับเองก็สำคัญมาก บางครั้งซองจดหมายที่มีมูลค่าสูง กลับกลายเป็นซองที่ถูกประทับตราจากที่ทำการไปรษณีย์ที่มีความพิเศษของตัวเอง เช่น มีตราสวยๆ หรือเป็นที่ทำการที่อยู่ไกลมากๆ หรือเป็นวันที่เลขสวย เช่น 09-09-09 เป็นต้น

“แต่ที่น่าเสียดายคือ ไปรษณีย์ไทยยิ่งพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่งานสะสมกลับยิ่งหายหมด เมื่อก่อนการประทับตราตั้งแต่ต้นทางนั้นจะประทับตราให้อ่านได้ชัดเจน ตราประทับก็สวยงาม แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีอีกแล้ว” ชูเกียรติบอก

พระราชสาส์น ลายพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

นักสะสมแสตมป์ตัวยงยังบอกอีกว่า สิ่งที่น่าเก็บอีกอย่างในวงการนี้คือ Royal Mail หรือจดหมายราชสำนัก โดยเฉพาะในยุครัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นยุคที่ยังไม่มีการใช้ตราไปรษณียากร ของพวกนี้นักสะสมจะต้องไปตามหาจากตลาดยุโรป ซึ่งมีราคาแพงมาก บางครั้งมูลค่าอาจถึงหลักล้าน เพราะบางฉบับจะมีลายพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 4 ด้วย

ความลับหลังแสตมป์การบินไทย

สำหรับคนที่สะสมแสตมป์อาจจะเคยเห็นแสตมป์ที่ระลึกชุด 25 ปีการบินไทย และ 50 ปี การบินไทยกันมาบ้าง แต่เชื่อว่าที่หลายคนยังไม่รู้คือ “ชูเกียรติ” คือผู้ที่ผลักดันให้การบินไทยทำแสตมป์ออกมาเป็นที่ระลึกในวาระพิเศษนี้

เขาเล่าถึงเรื่องนี้ให้ฟังว่า จากที่เป็นคนสะสมแสตมป์อยู่แล้ว และบังเอิญทำงานอยู่ที่การบินไทย จึงพอจะรู้วาระที่สำคัญต่างๆ ขององค์กร เมื่อการบินไทยอายุใกล้ครบ 25 ปีในปี 2528 ซึ่งการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้เอารูปเครื่องบินของการบินไทยไปทำเป็นแอโรแกรม เขาจึงถือโอกาสเอาไอเดียนี้มาเขียนโปรเจ็กต์ทำแสตมป์การบินไทยเสนอหัวหน้าในปี 2526

เซตเรื่องราวแสตมป์การบินไทย ที่ชูเกียรติส่งเข้าประกวด

จนระยะเวลา 6 เดือนผ่านไปก็ไม่ได้รับความสนใจ จนปี 2527 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องเริ่มพิมพ์แสตมป์ได้แล้ว (แสตมป์ใช้เวลาพิมพ์ประมาณ 1 ปี) เขาจึงค่อยๆ ทำไปด้วยตัวเอง อาศัยความรู้และผู้ใหญ่ที่อยู่ในสมาคมสะสมแสตมป์แห่งประเทศไทย ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่ในสมาคมทำงานอยู่ที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย จนเดินเอกสารต่างๆ เองทั้งหมด ติดต่อให้ “ประวัติ พิพิธปิยะปกรณ์” ออกแบบ จนสำเร็จและวางจำหน่ายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2528

“ชูเกียรติ ตลับเพ็ชร์” นักสะสมผู้ปลุกปั้นแสตมป์การบินไทย

ความพิเศษของแสตมป์ 25 ปีการบินไทยคือ “ทริค” ที่นักออกแบบได้ซ่อนไว้ในแสตมป์ โดยแสตมป์ชุดนี้ผลิตออกมา 4 ราคาด้วยกัน คือ 2 บาท, 7.50 บาท, 8.50 บาท และ 9.50 บาท แต่ทุกราคามีสีเดียวกันหมด ไม่เหมือนกับแสตมป์ที่ระลึกอื่นๆ ที่มีหลายสี หรือลายไม่เหมือนกัน โดยเป็นความตั้งใจของนักออกแบบที่ต้องการให้ออกมาเป็นสีเดียวกัน เพราะเมื่อนำมาวางต่อกันแล้ว ก้อนเมฆทั้งหมดจะเรียงต่อกันสวยงาม ซึ่งเป็นความเชื่อว่า เหมือนเวลาบินไป เครื่องบินก็จะบินไปข้างหน้า แสดงถึงความก้าวหน้านั่นเอง

แสตมป์ชุด 25 ปี การบินไทย

นอกจากแสตมป์แล้ว สิ่งที่น่าเก็บสะสมเกี่ยวกับการบินไทยยังมีอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ซองเที่ยวบินแรก (First Flight Discovers) หรือซองจดหมายพิเศษที่สายการบินจัดทำขึ้นเพื่อมอบให้ผู้โดยสารเป็นที่ระลึก และเพื่อยืนยันการเปิดบินเที่ยวบินแรกจากเมืองต้นทางไปยังเมืองปลายทาง ซึ่งจะมีการประทับตราบนดวงแสตมป์ที่ติดบนซองด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ชูเกียรติได้ซองเหล่านี้มาจากการประมูลบ้าง ซื้อทางอีเบย์บ้างก็มี บางชิ้นราคาหลักพันเลยทีเดียว

ตัวอย่างซองเที่ยวบินแรกของการบินไทย ไปกรุงนิวเดลี

ส่วนของสะสมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการบินไทยที่ชูเกียรติสะสม ยังมีซองใส่ตั๋ว โปสการ์ดบนเครื่อง รวมไปถึงหนังสือสวัสดี โฆษณาต่างๆ จนทำให้ชุดสะสมที่มีมูลค่ามากที่สุดของชูเกียรติ ก็คือชุดของการบินไทย เพราะสามารถจัดเป็น Private Collection ได้ โดยมีผู้สนใจติดต่อประมูลเข้ามา เป็นชุด 25 ปี รวมกับชุด 50 ปี ราคาน่าจะราวๆ 400,000 บาท

เทรนด์สะสมแสตมป์ไทย-ไปไม่รอด

“ไปไม่รอด” คือคำตอบของชูเกียรติ เมื่อถามถึงเทรนด์การสะสมแสตมป์ในไทยในอนาคต

ชูเกียรติให้เหตุผลว่า เพราะสมัยก่อนแสตมป์จะออกแบบมาอย่างสวยงาม มีวิธีการพิมพ์ที่ดี แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ความน่าสนใจสำหรับนักสะสมแสตมป์ก็ลดลงเรื่อยๆ ตอนนี้ราคาก็ลดลงเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ

อีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะเรื่องของการสื่อสารในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปมาก จากจดหมายมาเป็นอีเมล์ และตอนนี้ก็หันมาใช้การแชตติดต่อกันแทนด้วยซ้ำ

แม้แต่ชูเกียรติเอง ปัจุบันเขาก็เลิกเล่นแสตมป์แล้ว แต่หันมาสะสมเหรียญและธนบัตรแทน ซึ่งเก็บง่ายกว่า ซื้อง่ายขายคล่อง แม้ผ่านไปนาน แต่มูลค่าอย่างน้อยที่สุดที่จะได้ก็คือมูลค่าเงินจริงๆ บนนั้น ไม่ลดลงแบบของสะสมประเภทอื่น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีเทรนด์สะสมอื่นเข้ามา แต่ชูเกียรติยังย้ำว่า “ไปรษณียากร” หรือ “แสตมป์” ก็ยังเป็นสิ่งที่ควรค่าและน่าเก็บสะสมอยู่เสมอ ด้วยเพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่บันทึกเรื่องราว ร้อยเรียงประวัติศาสตร์ที่บางครั้งหลายคนอาจลืมเลือนไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

และหากอยากสัมผัสความงดงาม เรื่องราวที่ถักทออยู่บนไปรษณียากรที่หาชมได้ยาก อย่าพลาดที่จะไปชมงานแสดงตราไปรษณียากรโลก พ.ศ.2561 หรือ Thailand 2018 World Stamp Exhibition ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2561 ณ ชั้น 5 สยามพารากอน

แล้วคุณจะหลงรัก!