หลายคนอาจทราบอยู่แล้วว่า “ไทย” เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลให้ประเพณีและวิถีดำรงชีวิตของแต่ละภูมิภาคแตกต่างกันออกไป แต่ในแต่ละภูมิภาคนั้นเอง ก็ยังมีความหลากหลายของชนเผ่าอยู่ด้วย
อย่างที่ “ดอยตุง” ที่ในพื้นที่มีชนเผ่าอาศัยอยู่ 6 เผ่าด้วยกัน คือ อาข่า ลาหู่ ไทยใหญ่ ไทลื้อ ลัวะ และจีนยูนนาน ซึ่ง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ดำเนินงานสืบสานพระราชปณิธาน “ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเอง” ของสมเด็จพระศรีนครินทรารมราชชนนี ผ่านการส่งเสริม พัฒนาต่อยอดผลผลิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังปลูกฝังให้ชุมชนอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น และประเพณีชนเผ่าด้วย
ล่าสุดกับการจัดงาน “สีสันแห่งดอยตุง 2018” In Doi Festival ที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นงานที่ทุกคนจะได้สัมผัสวัฒนธรรมของทั้ง 6 ชนเผ่า ไม่ว่าจะเป็นด้านความเป็นอยู่ อาหาร การแต่งกาย เป็นต้น
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จัดงานสีสันแห่งดอยตุงขึ้นเป็นปีที่ 5 แล้ว ซึ่งป็นเวทีที่ชุมชนบนดอยตุงจะมีโอกาสพัฒนาต่อยอดศักยภาพ สร้างกระบวนการเรียนรู้และความสามารถในการเป็นเจ้าของธุรกิจชุมชน ให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและมีศักดิ์ศรี
“การจัดงานสีสันแห่งดอยตุงยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นของชนเผ่า 6 เผ่าบนดอยตุง ผ่านรสชาติอาหารจากเชฟดอยตุง กิจกรรมแอดแวนเจอร์มูล่าดอย ฯลฯ รวมถึงการแสดงของชนเผ่าที่เต็มไปด้วยความงดงามแห่งศิลปวัฒนธรรม พร้อมสัมผัสเรื่องราวของชนเผ่าในมุมมองใหม่ สะท้อนถึงความอยู่ และเอกลักษณ์ของชนเผ่า ที่สำคัญงานดอยตุงเป็นเทศกาลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือการลดขยะที่จะลงสู่บ่อฝังกลบได้ทั้งหมด 100% (Zero-waste-to-landfill)”
ภายในงานสีสันแห่งดอยตุง 2018 แบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ด้วยกัน ซึ่งโซนแรกเป็นโซนวัฒนธรรมชุมชนดอยตุงทั้ง 6 เผ่า โดยบ้านของเผ่าแรกคือ “อาข่า” ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย มากสุดใน จ.เชียงราย ชาวอาข่าขึ้นชื่อว่าเป็นชนเผ่าที่ขยัน ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานมากกว่าอยู่บ้าน เป็นชนเผ่าที่สร้างนวัตกรรมต่างๆ หากยังคงซึ่งขนบธรรมเนียม ประเพณี สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน
ชาวอาข่าแต่งกายด้วยการสวมเสื้อสีดำ ด้านหลังเสื้อของผู้ชายจะปักลวดลายทรงสี่เหลี่ยมสีสันสดใจบนตัวเสื้อ แต่บางทีผู้หญิงจะปักด้านหน้า สวมหมวกประดับเงินเยอะๆ ซึ่งหมวกนี้จะแตกต่างกันไปเพื่อบ่งบอกถึงเผ่าย่อยของตัวเอง
ไม่ไกลกันนักคือบ้านของชาว “ลาหู่” ซึ่งมีวิถีชีวิตดั้งเดิมป็นนักล่าที่ขึ้นชื่อว่าว่องไว เป็นนักสู้ที่กล้าหาญ ใช้ชีวิตสอดประสานกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน บ้านเรือนสร้างจากวัสดุธรรมชาติเท่าที่จำเป็น หากยังสะท้อนผ่านตำนานที่ผู้เฒ่าเล่าขานว่าชาวลาหู่นั้นถือกำเนิดมาจากน้ำเต้า
การแต่งกายจะเน้นชุดสีดำ ลายปักษ์ตามเอกลักษณ์ของเผ่าสีแดง แต่ชนเผ่าลาหู่แดง ผู้หญิงจะสวมเสื้อคอกลม ทับด้วยเสื้อนอกสีฟ้า ปักลวดลายสีแดง ผ้าถุงสีดำ
ถัดมาคือวัฒนธรรมของชาว “ไทใหญ่” หรือเรียกอีกอย่างว่า ไตใหญ่ ตามที่มาของที่ตั้งเดิมที่อาศัยอยู่รัฐฉาน ติดกับภาคเหนือของประเทศไทย ประเพณีของขาวไทยใหญ่ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมากจากพุทธศาสนา นอกจากนั้นความเชื่อทางศาสนาพุทธยังสะท้อนผ่านความเรียบง่ายของอาคารบ้านเรือน ที่มักมีใต้ถุนเรือนเตี้ยตามความพอเพียงในการใช้งาน
ชาวไทใหญ่มักสวมเสื้อผ้าสีเขียว เหลือง แดง ผู้ชายสวมเสื้อและกางเกงแขนยาวติดกระดุมจีนด้านหน้า ผู้หญิงโพกผ้าที่ศีรษะโดยจะปล่อยชายผ้าออกมาให้เหมือนหูสองข้าง
ใกล้กันคือบ้านของชาว “ไทลื้อ” เป็นชนเผ่าที่มีวิถีชิวิตใกล้เคียงกับชาวไทยล้านนา มีความเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด
การแต่งกาย มักสวมเสื้อผ้าสีแดง ดำ เหลือง เขียว ทั้งหญิงชายโพกผ้าขาวบาง แต่เด็กผุ้หญิงจะเอาดอกไม่ทัดหูเพื่อแสดงถึงความสาว และจะเอาออกเมื่อมีความรัก ผู้หญิงชำนาญการทอผ้ามาก
ถัดมาคือบ้านของชาว “ลัวะ” ซึ่งมีถิ่นฐานดั่งเดิมในล้านนา ชาวลัวะนับถือศาสนาพุทธควบคู่การนับถือผีมาแต่ไหนแต่ไร และมีความเชื่อในผีบรรพบุรุษ รวมถึงผีที่สิงสถิตอยู่ในธรรมชาติ
ลักษณะที่อยู่อาศัยของชาวลัวะยังสะท้อนความเชื่อเรื่องผีสางได้อย่างชัดเจน เช่น การประดับบ้านด้วย “เกอวละ” หรือกาแลที่ไขว้กันเป็นหน้าจั่ว คล้ายกับบ้านของชาวไทยในภาคเหนือ ที่มีความเชื่อว่าเป็นเครื่องรางในการปกป้องบ้านเรือน
ชาวลัวะเน้นสวมชุดโทนสีดำ แดง เหลือง โพกผ้าคาดหัวสีดำมีหูฝั่งเดียว ผู้หญิงวัยเด็กสวมเสื้อสีอะไรก็ได้ แต่เมื่อโตขึ้นมักใส่สีดำ ผู้ชายมักสวมเสื้อกางเกงสีดำ
ปิดท้ายโซนวัฒนธรรมที่บ้านของชาว “จีนยูนนาน” ซึ่งส่วนหนึ่งคือชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยหลังสงคราม และส่วนหนึ่งมาจากมณฑลยูนนาน
ชาวจีนยูนนานมักอาศัยกันเป็นกลุ่ม ไม่ค่อยปะปนกับชาติอื่นๆ ขึ้นชื่อในเรื่องความซื่อสัตย์ ความเฉลียวฉลาด ขยันทำงาน เคร่งครัดประเพณี
การแต่งกายของชาวจีนยูนนานนั้นจะเน้นชุดกี่เพ้าสีแดง หรือชุดจีนเสื้อแขนยาวกางเกงขายาว หรือเสื้อแขนยาวสีแดงจับคู่กับผ้าถุงสีดำ
ถัดจากโซนวัฒนธรรมเป็นโซนกิจกรรมเวิร์คช็อปสร้างสรรค์งานฝีมือจากวัสดุธรรมชาติบนพื้นที่ดอยตุง ที่นักท่องเที่ยวสามารถร่วมทำกิจกรรมได้ เช่น การปั้นและเพนต์เซรามิก และสนุกไปกับกิจกรรมแอดแวนเจอร์มูล่าดอย หรือล้อเลื่อนไม้ ของเล่นสุดมันจากชนเผ่าที่จะทำให้สนุกไม่รู้ลืม
อีกหนึ่งวัฒนธรรมที่น่าสนใจของชนเผ่าที่อยากให้ทุกคนได้สัมผัสคือเรื่องของ “อาหาร” ที่จัดในโซนกาดชนเผ่า หลายเมนูแปลกตา แต่น่าลิ้มลอง อย่างเช่น “ข้าวต้มเล็บมือนาง” เมนูจากชนเผ่าอาข่า ใช้พันธุ์ข้าวจากยอดดอย
นอกจากเมนูท้องถิ่น ยังมีเมนูที่ใช้ผลิตผลทางเกษตรกรรมของชุมชนด้วย เช่น สตรอเบอร์รี่ของชาวลาหู่ และอโวคาโดของชาวไทลื้อ ที่นำมาปั่นกับนมสด เป็นเครื่องดื่มหวานละมุน
อีกหนึ่งโซนอาหารจากชุมชนบนดอยตุงก็คือโซน “คุ้มขันโตก” ที่จะมีร้านอาหารจากชุมชนเผ่าต่างๆ มาออกร้าน ชวนให้ชิมเมนูน่าสนใจ เช่น ร้านครัวนาเงิน กับเมนู “น้ำพริกรถด่วน” น้ำพริกสูตรชาวอาข่าที่หากินได้เพียงปีละครั้ง
หรือร้าน “ห่อจ่าจ่า มาทานกัน” กับเมนู “ผักรากชูใส่หมู” ใช้ผักรากชูซึ่งเป็นพืชสมุนไพรยอดดอย กินกับน้ำพริกมะเขือเทศ เมนูประจำสำรับของชาวอาข่า ที่ต้องเสิร์ฟทุกครั้งในงานสำคัญ
นอกจากนี้ ยังมีโซนจำหน่ายของที่ระลึก และร้านขายของฝากซึ่งเป็นงานหัตถกรรมจากชาวบ้าน มีให้เลือกหลากหลายชนิดด้วยกัน เช่น กระเป๋า เครื่องประดับของชนเผ่าบนดอยตุง และเสื้อผ้าของคนในชนเผ่า
สำหรับหน้าหนาวปีนี้ ใครอยากหนาวแบบมีสีสันก็ไม่ควรพลาดงาน “สีสันแห่งดอยตุง 2018” In Doi Festival ที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เพราะจะได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์สร้างสรรค์กับเทศกาลแห่งความสุข ที่สนุกสนาน โดยไม่ทำร้ายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดให้เข้าเที่ยวชมแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 – 27 มกราคม 2562 (เวลา 08.00-18.00 น.)