กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักการสังคีต จัดการแสดงมรดกวัฒนธรรมไทย โขนรามเกียรติ์ ตอน “หนุมานชาญเดช” ณ โรงละครแห่งชาติ เนื่องในโอกาสที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศขึ้นทะเบียนการแสดง “โขน” ให้เป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
ดังนั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานงานมรดก “โขน” ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงอย่างหนึ่งของไทย กรมศิลปากรจึงจัดการแสดงชุดดังกล่าวให้กับประชาชนผู้สนใจได้ชื่นชม ณ โรงละครแห่งชาติ โดยมีรอบการแสดง ดังนี้ วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม 2562 เวลา 14.00 น. เปิดจำหน่ายบัตรตั้งแต่วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2561 และรอบการแสดงในวันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 14.00 น. เปิดจำหน่ายบัตรตั้งแต่วันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2562 บัตรราคา 200, 150, และ 100 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และสำรองที่นั่ง โทร 02-224-1342 (ในวันเวลาราชการ)
การเเสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “หนุมานชาญเดช” นำแสดงโดยศิลปินสำนักการสังคีต กำกับการเเสดงโดย สุรัตน์ เอี่ยมสะอาด อำนวยการแสดงโดย เอนก อาจมังกร ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต เนื้อเรื่องเป็นเรื่องราวของ “หนุมาน” ยอดทหารเอกคู่บารมีพระรามสุริยวงศ์ กษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม กำเนิดมาเพื่อเป็นข้ารองพระบาทพระอวตาร รับหน้าที่ถวายงานปราบพวกมารกลียุค นำความผาสุกให้โลกมนุษย์สิ้นทุกข์ทน เรืองเดชด้วยเวทย์มนต์ที่พระอิศวรประทานให้ จึงสามารถแปลงกายหายตัวไม่กลัวภัยพาล มุ่งอาสาทำราชการด้วยความจงรักภักดี เสริมพระเกียรติบารมีจักรีวงศ์ให้ภพไตรได้ประจักษ์ ยอดขุนวานรนักรบ นักรัก ยังแหลมหลักเลิศปัญญา สมควรแล้วที่เกิดมาเป็นทหารหน้า พระนารายณ์อวตาร
สำหรับ “โขน” ถือเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงอย่างหนึ่งของไทย มีกำเนิดมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 ในชั้นเดิมปรับปรุงจากการเล่น 3 ประเภท คือ หนังใหญ่ ชักนาคดึกดำบรรพ์ และกระบี่ กระบอง ได้แก้ไขปรับปรุงให้ประณีตตามลำดับ แต่เดิมนั้นผู้แสดงโขนจะต้องสวมหัวโขน เปิดหน้าทั้งหมด จึงต้องมีผู้พูดแทนเรียกว่า “ผู้พากย์ – เจรจา” ต่อมาได้ปรับปรุง ให้ผู้แสดงซึ่งเป็นตัวเทพบุตร เทพธิดา และมนุษย์ชาย หญิง สวมแต่เครื่องประดับศีรษะ ไม่ต้องเปิดหน้าทั้งหมด เครื่องประดับศีรษะ ได้แก่ ชฎา มงกุฎ รัดเกล้า กระบังหน้า มีศัพท์เรียกว่า “ศิราภรณ์” แต่ผู้แสดงโขนที่สวมศิราภรณ์เหล่านี้ ก็ยังคงรักษาประเพณีเดิมไว้ คือ ไม่พูดเอง ต้องมีผู้พากย์ผู้เจรจาแทน เว้นแต่ผู้แสดงเป็นตัวตลกและฤๅษีบางองค์ จึงจะเจรจาเอง ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของผู้แสดงโขนที่เป็นตัวตลก
ส่วนเรื่องที่ใช้แสดงโขน ปัจจุบันนี้นิยมเพียงเรื่องเดียว คือ “รามเกียรติ์” ซึ่งไทยได้เค้าเรื่องเดิมมาจาก “รามายณะ” ของอินเดีย มีอยู่หลายตอนที่รามเกียรติ์ดำเนินความแตกต่างจากเรื่องรามายณะมาก โดยเหตุที่เรื่องรามเกียรติ์เป็นเรื่องยาว ไม่สามารถแสดงให้จบในวันเดียวได้ บูรพาจารย์ทางด้านการแสดงโขนจึงแบ่งเรื่องที่จะแสดงออกเป็นตอนๆ มีศัพท์เรียกโดยเฉพาะว่า “ชุด” การที่เรียกการแสดงโขนแต่ละตอนว่าชุดนั้นเป็นเรียกตามแบบหนังใหญ่ คือ เขาจัดตัวหนังไว้เป็นชุดๆ จะแสดงชุดไหนก็หยิบตัวหนังชุดนั้นมาแสดง
ที่กล่าวว่าโขนปรับปรุงมาจากการเล่นหนังใหญ่ ชักนาคดึกดำบรรพ์ และการเล่นกระบี่กระบองนั้น อธิบายได้ว่า แต่เดิมการเล่นหนังใหญ่เป็นมหรสพขึ้นชื่อลือชา มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังที่กล่าวไว้ในหนังสือ บุณโณวาทคำฉันท์ ของพระมหานาค วัดท่าทราย ซึ่งแต่งขึ้นในราว พ.ศ. 2294-2301 เป็นระยะเวลา 7 ปี ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในหนังสือกล่าวถึงมหรสพที่แสดงฉลอง “พระพุทธบาท” ในตอนกลางคืนว่ามีการละเล่นหนังใหญ่อยู่ด้วย การละเล่นหนังใหญ่นั้น เขานำแผ่นหนังวัวมาฉลุสลัก เป็นรูปตัวยักษ์ ลิง พระ นาง ตามเรื่องรามเกียรติ์ นอกจากจะมีตังหนังแล้วยังต้องมี “คนเชิดหนัง” คือคนที่นำตัวหนังออกมาเชิด และยกขาเต้นเป็นจังหวะ และยังต้องมีผู้พากย์ – เจรจา ทำหน้าที่พูดแทนตัวหนังด้วย รวมทั้งมีวงปี่พาทย์ประกอบการแสดง
สำหรับสถานที่แสดงหนังใหญ่ นิยมแสดงบนสนามหญ้าหรือบนพื้นดิน มีจอผ้าขาวราว 16 เมตรขึงโดยมีไม้ไผ่ หรือไม้กลม ๆ ปักเป็นเสา 4 เสา รอบๆ จอผ้า ขลิบริมด้วยผ้าแดง ด้านหลังจอจุดไต้ให้มีแสงสว่าง เพื่อเวลาที่ผู้เชิดหนังเอาตัวหนังทาบจอทางด้านใน ผู้ชมจะได้แลเห็นลวดลาย ของตัวหนังได้ชัดเจนสวยงาม เมื่อแสดงหนังใหญ่นานๆ เข้า ทั้งผู้ชมและผู้เชิดหนังคงจะเกิดความเบื่อหน่าย และตัวหนังมีน้ำหนักมาก บางตัวสูงถึง 2 เมตร เวลาเล่นยกแขนชักก็เมื่อยแล้ว
บังเอิญว่าเวลานั้นมีการเล่นในพระราชพิธีอินทราภิเษกอยู่อย่างหนึ่ง คือ การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ การเล่นแบบนี้ผู้เล่นแต่งกายเป็นยักษ์ ลิง เทวดา มีพาลีและสุครีพเป็นตัวเอก การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ในพระราชพิธีอินทราภิเษกนี้ สันนิษฐานว่าบางทีพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยโบราณ อาจได้แบบอย่างมาจากขอม แม้จะไม่มีตำนานกล่าวไว้โดยชัดเจน แต่ก็ปรากฏว่ามีพนักสะพานทั้งสองข้างที่ทอดข้ามคูเข้าสู่นครธม ทำเป็นรูปพญานาคตัวใหญ่มี 7 เศียร ข้างละตัว มีเทวดาอยู่ฟากหนึ่ง อสูรอยู่ฟากหนึ่ง กำลังทำท่าฉุดพญานาค และที่ในนครวัดก็จำหลักรูปชักนาคกวนน้ำอมฤตไว้ที่ผนัง ระเบียง ด้านตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สันนิษฐานว่า การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ในพระราชพิธีอินทราภิเษกของไทยน่าจะได้แบบอย่างมาจากขอม
การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษก จะสร้างภูเขาจำลองขึ้น แล้วทำเป็นตัวพญานาคพันรอบภูเขาจำลอง ให้พวกทหาร ตำรวจมหาดเล็ก เด็กชาย แต่งกายเป็นยักษ์ เทวดา และลิง ทำท่าฉุดพญานาค โดยพวกยักษ์ ฉุดด้านเศียรพญานาค เทวดาอยู่ทางด้านหาง และพวกลิงอยู่ทางปลายหาง ผู้ที่คิดจะออกไปแสดงแทนตัวหนังใหญ่ จึงเอาเครื่องแต่งกายของผู้ที่เล่นชักนาคดึกดำบรรพ์มาแต่ง เครื่องแต่งกายนี้ได้วิวัฒนาการมาตามลำดับ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
เชื่อกันว่าเครื่องประดับศีรษะ หรือที่เรียกกันต่อมาว่า “หัวโขน” ที่ทำเป็นหน้ายักษ์ ลิง เทวดา และมนุษย์ผู้ชายนั้น ในสมัยที่ได้แบบอย่างเครื่องแต่งตัวมาจากการเล่นชักนาคดึกบรรพ์นั้น คงจะไม่ใช่เป็นแบบหัวโขนที่สวมปิดหน้าทั้งหมดเช่นในปัจจุบันนี้ ในสมัยนั้นคงจะเป็นแบบหน้ากากสวมปิดเพียงใบหน้าให้เห็นเป็นรูปยักษ์ ลิง หรือเทวดามากกว่า ส่วนศีรษะก็คงจะสวม “เครื่องสวมหัว” แบบเดียวกันทุกคน ขณะเดียวกันมีอีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง ว่าอาจจะสวมลอมพอกแบบผู้ที่แต่งกายเป็นเทวดาเข้ากระบวนแห่ก็เป็นได้ ครั้นต่อมาจึงปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทำเป็นหัวโขนครอบทั้งศีรษะเช่นในปัจจุบัน และเข้าใจว่าหัวโขนที่สวมครอบทั้งศีรษะนั้น คงมีมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีหรือไม่ก็ต้นกรุงรัตนโกสินทร์