หากใครได้แวะเวียนไป จ.นครพนม คงจะสะดุดตาไม่น้อยกับอาคารไม้ไสตล์โคโลเนียลสีเหลือง ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ริมถนนเลียบแม่น้ำโขงในตัวอำเภอเมืองนครพนม
อาคารแห่งนี้คือที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกสั้นๆ ว่า จวนผู้ว่าฯหลังเก่า สถานที่อันร้อยเรียงเรื่องราวของเมืองนครพนมไว้อย่างน่าสนใจ
จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2457 โดยพระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรพ) ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัว โดยว่าจ้างให้นายกูบาเจริญ ซึ่งเป็นชาวญวน เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ชั้นบนและล่างไม่มีเสา และไม่มีการตอกตะปูแม้แต่ดอกเดียว ใช้การเข้าเดือยไม้
ต่อมาปี พ.ศ. 2468 พระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรพ) ได้ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล จึงขายจวนหลังนี้ให้กระทรวงมหาดไทยใช้เป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม
โดยวันที่ 12-13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรจังหวัดนครพนม และประทับแรมที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น สร้างความปลื้มปีติแก่ชาวนครพนมเป็นอย่างมาก เนื่องจากพระองค์ทรงเป้นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จฯเยือนนครพนมนั่นเอง
บันทึกของ นายสง่า จันทรสาขา อดีตผู้ว่าราชการนครพนม ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัด ระบุถึงการเตรียมตัวรอรับเสด็จในครั้งนั้นไว้ว่า
“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่เราจะต้องกระทำการทุกอย่างเพื่อให้สมพระเกียรติยศ โดยไม่ให้มีการผิดพลาดและบกพร่อวได้เป็นอันขาด ทั้งถือว่าเป็นงานประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครพนมทีเดียว เพราะข้าพเจ้าศึกษาประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอุธยา มาจนถึงรัตนโกสินทร์ ยังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์องค์ใดเสด็จมาถึงจังหวัดนครพนม หรือที่เรียกว่าเมืองนครพนมในสมัยโบราณ นับว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระมหากษัตรย์พระองค์แรกที่เสด็จมาถึงเมืองนครพนม จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต่างตื่นเต้นปีติยินดี ปราโมทย์กัน ทั้งข้าราชการและประชาชนที่จะได้มีโอกาสถวายความจงรักภักดีและเฝ้าใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท แต่ก็เป็นงานที่หนักของผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าพเจ้าในฐานะปลัดจังหวัด ที่จะเตรียมการให้พร้อมให้เรียบร้อย และดีที่สุดให้สมพระเกียรติ ตามหมายกำหนดการที่สำนักพระราชวังตกลงกับทางจังหวัด มีดังนี้ (เสียดายจำวันเดือนไม่ได้แต่ประมาณปลายเดือนธัวาคม 2498 เพราะตอนนั้นอากาศหนาวเย็นมาก)
กำหนดการคือ วันแรก เสด็จพระราชดำเนินโดยรถพระที่นั่งจากจังหวัดสกลนครถึงจังหวัดนครพนมตอนเย็น แล้วประทับพักผ่อนพระราชอริยบถตามพระราชอัธยาศัย
วันที่สอง เสวยพระกระยาหารเช้าแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระธาตุพนมโดยรถยนต์พระที่นั่ง กลับมาตอนบ่ายประทับพลับพลาที่ท่าน้ำหน้าที่ประทับแรม (จวนฯหลังเก่า) เพื่อทอดพระเนตรขบวนแห่ปราสาทผึ้ง ทอดพระเนตรการแข่งขันเรือยาวและการไหลเรือไฟ เป็นหมดกำหนดการสำหรับวันนั้น
วันที่สาม ตอนเช้าพักผ่อนตามพระราชอัธยาศัย ตอนบ่าย 16.00 น. เสด็จรับการถวายพระบายศรีสู่ขวัญตามประเพณีภาคอีสาน แล้วเสด็จเยี่ยมเยือนราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จ ณ ที่นั่นโดยทั่วถึง
วันที่สี่ เสวยพระกระยาหารแล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถยนต์พระที่นั่งไปยังจังหวัดกาฬสินธุ์
นี่เป็นกำหนดการโดยย่อแต่เราต้องเตรียมการล่วงหน้านับจำนวน 3 เดือน โดยจังหวัดตั้งกองอำนวยการขึ้น มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ข้าพเจ้าเป็นเลขานุการ แล้วข้าพเจ้าก็ร่างคำสั่งแบ่งหน้าที่ออกเป็นกองเป็นแผนก มีมากเกือบกล่าวได้ว่าข้าราชการทั้งจังหวัดมีหน้าที่ในการรับเสด้จพระราชดำเนินในครั้งนั้นทั้งสิ้น”
เรื่องราวเมื่อครั้งเสด็จฯเยือนนครพนมที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือเรื่องของ แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ หรือภาพที่หญิงชรานำดอกบัวขึ้นจบเหนือหัว เพื่อบูชาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในขณะที่พระองค์โน้มพระวรกาย ก้มพระเศียรเกือบติดศีรษะหญิงชรา
แม่เฒ่าตุ้ม เป็นชาวบ้านธาตุน้อย อ.ธาตุพนม เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่มารอรับเสด็จตั้งแต่เช้า โดยได้เตรียมดอกบัวสายสีชมพูมาด้วย เมื่อรถยนต์พระที่นั่งมาถึงตรงจุดรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระรมราชินีนาถ ได้เสด็จลงจากรถยนต์พระที่นั่ง ทรงทักทายเหล่าพสกนิกรจนถึงแม่เฒ่าตุ้ม แม่เฒ่าได้นำดอกบัวทั้ง 3 ดอกขึ้นจบบูชาพระบาทสมเด้จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ดังปรากฏในภาพนั่นเอง
ส่วนอาคารจวนผู้ว่าฯนครพนมนั้นถูกปิดตายลงในปี พ.ศ. 2527 เนื่องจากความเก่าแก่และทรุดโทรม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2548 อาคารถูกยกเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร และบูรณะในปี พ.ศ. 2549 จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ในที่สุด ซึ่งปัจจุบันปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาวนครพนม และมีนิทรรศการ “เล่าขาน อดีตกาล เมืองนคร” โดยแบ่งเป็น 2 ชั้น คือ
ชั้นแรก เมื่อเดินเข้ามาภายใน จะเห็นการจำลองโต๊ะทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมกับการจัดแสดงเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งแต่อดีต มีการรวบรวมภาพของผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมทั้งหมดตั้งแต่คนแรกจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลประวัติศาสตร์ ความเป็นมา สถานที่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาก่อนพื้นที่ตรงนี้จะกลายเป็นจังหวัดนครพนม
ในชั้นนี้ยังมีห้องจัดแสดงวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่างๆ ที่เข้ามาอาศัยในจังหวัดนครพนมเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดวัฒนธรรมที่เชื่อมไปสู่ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
ส่วนชั้นบนจะพบโต๊ะหมู่บูชา และพระพุทธรูป ถัดมาจะพบกับห้องที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เคยประทับแรมเมื่อครั้งทรงเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรจังหวัดนครพนม ปัจจุบันห้องนี้เป็นพื้นที่ห้ามเข้า และทางพิพิธภัณฑ์ได้ย้ายเครื่องบรรทมออกไปแล้ว แต่ได้มีการนำเตียงและเครื่องเรือนเก่าที่เข้ากับอาคารมาตั้งไว้แทน ในส่วนของโถงชั้นบนยังมีการแสดงภาพประวัติศาสตร์ของเมืองนครพนมไว้อีกด้วย
นอกจากนี้ทางด้านหลังของจวนผู้ว่าฯ ยังมีอาคารอีก 1 หลัง เป็นส่วนแสดงนิทรรศการไหลเรือไฟ (เฮือนเฮือไฟ) ซึ่งประเพณีไหลเรือไฟถือเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวนครพนม และสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล
มติชนอคาเดมี ชวนสัมผัสสถานที่แห่งประศาสตร์แห่งนี้ ในเส้นทางทัวร์ “ไหว้พระธาตุแดนอีสาน ตำนาน ‘อุรังคธาตุ-นาคนคร’ ริมโขง” วันที่ 19-20 มกราคม 2562 ที่นอกจากจะพาสักการะพระธาตุใน จ.สกลนคร-นครพนม ฟังเรื่องราวอิทธิพลศิลปะจาม-ขอม ยังพาตามรอยเสด็จในหลวง ร.9 ที่พิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) ด้วย คลิกอ่านโปรแกรมเดินทางได้ที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_21931