ข่าวการปิดตัวลงของโรงภาพยนตร์เก่าแก่ในตำนานอย่าง “ลิโด” (Lido) เมื่อกลางปี 2561 ที่ผ่านมา เชื่อว่าคงทำให้แฟนๆ หลายคนใจหายไม่น้อย ด้วยความที่เป็นโรงภาพยนตร์อยู่คู่แฟนหนังมายาวนานถึง 50 ปี หลายคนผูกพันและมีความทรงจำมากมายอยู่ที่นี่
แต่ข่าวล่าสุดคงทำให้แฟนๆ หลายคนดีใจ เมื่อสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ผู้ดูแลสัมปทานพื้นที่สยาม มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้สยามสแควร์ยังคงเป็นแหล่งรวบรวมศิลปะ วัฒนธรรม นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งรวมไปถึงโรงภาพยนตร์ลิโด ที่จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ในการดูแลของ LOVEiS Entertainment (เลิฟอีส เอนเตอร์เทนเมนต์)
รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม กล่าวว่า ด้วยนโยบายของ PMCU ที่ไม่ได้มองเพียงการการทำให้เกิดรายได้สูงสุด แต่ยังมองไปถึงเรื่องการสร้างคุณค่าเพิ่มให้สังคมจากพื้นที่ที่มีอยู่ ซึ่งคำว่าคุณค่าในมุมมองของ PMCU คือการให้โอกาสคนไทยที่มีความสามารถได้มีพื้นที่ในการทำสิ่งต่างๆ ทั้งการแสดงออก การทำธุรกิจ การเรียนรู้ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของ PMCU ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ มีธุรกิจที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ และธุรกิจที่สร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ผ่านการให้โอกาสผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพ
“สำหรับการพัฒนาพื้นที่โรงภาพยนตร์ลิโดนั้น เนื่องจากเราไม่อยากให้ออกมาเป็นห้างสรรพสินค้า ที่ผ่านมาเราจึงมองหาพันธมิตรที่มีศักยภาพมาร่วมกับเรา เราจึงมองที่เลิฟอีสไว้ด้วย เพราะมีแหล่งกำเนิดเดียวกันคือสยามสแควร์ มีเจตนารมณ์ที่คล้ายกันคือไม่ใช่การหาผลกำไร แต่สามารถขยายไปยังกลุ่มคนต่างๆ ในเรื่องศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ ด้วย ซึ่งเราเชื่อว่าการเข้ามาของเลิฟอีส และพันธมิตรจะสามารถขายกลุ่มผู้คน สร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ทำให้ลิโดกลายเป็นจุดหมายใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ ทั้งนี้ เลิฟอีสมีสัญญาเช่าเป็นระยะเวลา 5 ปี” รศ.ดร.วิษณุกล่าว
ด้าน นายเทพอาจ กวินอนันต์ ประธานบริหารกลุ่ม LOVEiS Entertainment กล่าวว่า เลิฟอีสไม่ใช่แค่ค่ายเพลง แต่เป็นสังคมของคนที่เชื่อในสิ่งเดียวกัน มีความรัก และแรงบันดาลใจ โดยต้องขอขอบคุณทั้งทาง APEX ผู้ดูแลลิโดก่อนหน้านี้ และสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ที่ให้ความไว้วางใจให้เลิฟอีสเข้ามาดูแล ซึ่งลิโดใหม่นี้จะใช้ชื่นว่า ลิโด้ Connect ที่ยังคงพื้นที่โรงภาพยนตร์ไว้ แต่จะดัดแปลงภายในบางส่วนให้เข้ากับการใช้งานที่หลากหลาย ตกแต่งภายนอกให้สวยงามด้วยความเคารพกับโรงภาพยนตร์เดิมในคอนเซ็ปต์ Back to Original โดยใช้งบประมาณในการปรับเปลี่ยน 30-40 ล้านบาท
“สำหรับรูปแบบของลิโดที่จะมีการปรับปรุงนั้น จะยังคงเก็บโรงภาพยนตร์โรงที่ 1 และ 2 ไว้เหมือนเดิม มีการฉายหนังเช่นเดิม แต่จะมีการตกแต่งและปรับปรุงใหม่ ส่วนโรงที่ 3 จะปรับเปลี่ยนให้มีความหลากหลายมากขึ้น ใช้ได้หลายแบบ เน้นไปทางการละคร ซึ่งเราได้เตรียมงานระบบส่วนกลาง ทั้งการจองบัตร การประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการบริหารและพัฒนาลิโดให้มีกิจกรรมสม่ำเสมอ ให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้ติดตาม”
ขณะที่ “บอย โกสิยพงษ์” เผยว่า เมื่อเลิฟอีสได้โอกาสที่ดีมากๆ มา จึงอยากจะแบ่งเอาพื้นที่ที่ดีที่สุดนี้ให้บริษัทและกลุ่มที่มีความคิดแบบเดียวกัน เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้กับสังคม โดยที่นี่จะกลายเป็นผู้เชื่อมโยง เป็น Connection Hub ทุกรูปแบบ ทุกอาชีพและผลิตภัณฑ์
“คอนเซ็ปต์ของลิโด้ในครั้งนี้มาจากคำเขียนโลโก้ของลิโดเดิม พวกเราอ่านออกเสียงว่าลิโด้ แต่จริงๆ แล้วจะเขียนว่า ‘ลิโด’ มาตลอด ตั้งแต่ที่ลิโดก่อตั้งเมื่อยุค 70 เราเลยจับเอาเรื่องโน้ตของไทยที่มีอยู่ 5 โน้ต มาเสริมให้คอนเซ็ปต์ที่จะเปลี่ยนแปลงไป เราจึงเติมไม้โทลงไปให้เป็น ลิโด้ เพื่อความหมายว่าเราจะทำสิ่งที่มากกว่านั้น เพิ่มทุกอย่างเป็นสองเท่า พร้อมกับการเพิ่มคำว่า connect ต่อท้าย เพื่อย้ำเป้าหมายที่ต้องการเชื่อมทุกกลุ่มเข้าด้วยกันอย่างไม่ปิดกั้น” บอยกล่าว
ด้าน “นภ พรชำนิ” เผยว่า เราตั้งใจที่จะเก็บรักษาโรงภาพยนตร์ที่ทรงคุณค่าและประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำนี้ไว้ และเปิดโอกาสให้เป็นแหล่งการแสดงความสามารถ ส่งต่อแรงบันดาลใจกับทุกๆ คน ศิลปินเลิฟอีสทุกคนภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของลิโด และอยากจะเชิญทั้งศิลปิน นักดนตรี นักออกแบบ คนทำหนังสือ นักสร้างสรรค์ทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมกันสร้างลิโด
“พื้นที่ของลิโดเปิดโอกาสให้แสดงความสามารถ และเปิดกว้างทำงานกับทุกสาขาทุกอาชีพ รวมทั้งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมที่หลากหลาย ด้านทางการนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ โดยจะเปิดให้ใช้บริการได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2562″ นภกล่าว
ด้านการออกแบบ นายภฤศธร สกุลไทย PIA Interior เปิดเผยถึงการออกแบบปรับปรุงพื้นที่ครั้งนี้ว่า พื้นที่ในตึกเก่าจะปรับปรุงให้ใช้ประโยชน์ได้หลายหลาย เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่เพิ่มขึ้นได้ โดยจะดัดแปลงน้อยที่สุด แต่เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยส่วนด้านหน้าอาคาร จะพยายามเปิดให้เห็นจากภายนอกสู่ภายใน และสามารถเดินทะลุโครงการอีกด้านของอาคาร ซึ่งเป็นเส้นหลักภายในสยามสแควร์ นำมาสู่คอนเซ็ปต์ “Back to Original” เพื่อเคารพโรงภาพยนตร์เดิม ส่วนภายในโรงภาพยนตร์จะดูดดัดแปลงใหม่ให้เป็นมัลิฟังก์ชั่น รองรับคอนเสิร์ตฮอล, ละครเวที, นิทรรศการ, การถ่ายภาพยนตร์
นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการชุบชีวิตพื้นที่ในความทรงจำให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง รวมไปถึงยังเป็นการส่งเสริมพื้นที่ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์อีกด้วย!