Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ภาพมังกรที่ “วาดด้วยเท้า” ใน “สุสานจักรพรรดิไคดิงห์” กษัตริย์ที่ชาวเวียดนามแสนชัง!

หากพูดถึงเมืองท่องเที่ยวที่น่าสนใจในตอนกลางของแระเทศเวียดนามแล้ว หนึ่งในเมืองที่น่าสนใจคงจะหนีไม่พ้นเมือง “เว้” ด้วยเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของเวียดนามในสมัยราชวงศ์เหงียน คือช่วง พ.ศ.2345-2488 เมืองเว้จึงเต็มไปด้วยโบราณสถาน และร่องรอยทางประวัติศาสตร์หลงเหลืออยู่มากมาย และถูกจัดให้เป็นเมืองมรดกโลกอีกด้วย

ไปเยือนเมืองเว้ทั้งที สถานที่ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ “สุสานจักรพรรดิไคดิงห์” (Tomb of Khải Định) สุสานของ “จักรพรรดิไคดิงห์” จักรพรรดิองค์ที่ 12 แห่งราชวงศ์เหงียน

ถามว่าหากมาเว้ทำไมถึงต้องมาดูสุสานของจักรพรรดิไคดิงห์ ทั้งที่ในเมืองเว้มีสุสานของจักรพรรดิราชวงศ์เหงียนถึง 7 สุสาน ก็อาจบอกได้ว่า นอกจากสถาปัตยกรรมที่แปลกและแตกต่างจากสุสานของจักรพรรดิองค์อื่นแล้ว เรื่องราวของจักรพรรดิไคดิงห์นี้ก็น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะพระองค์ได้ชื่อว่าเป็น จักรพรรดิที่ชาวเวียดนามแสนเกลียดชัง!

สมเด็จพระจักรพรรดิไคดิงห์ ทรงเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 12 ของราชวงศ์เหงียนในเวียดนาม ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1916 ถึง ค.ศ. 1925 ทรงมีพระนามเดิมว่า เจ้าชายเหงียน ฟุก บิ๋ว ด๋าว (Nguyễn Phúc Bửu Đảo, 阮福寶嶹) ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระจักรพรรดิด่ง คั้ญ แต่พระองค์ไม่ได้สืบทอดราชสมบัติโดยทันที

โดยหลังจากพระราชบิดาของพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว ก็มีจักรพรรดิครองราชย์ต่อมาอีก 2 พระองค์ คือจักรพรรดิถั่ญ ท้าย (Thành Thái) และจักรพรรดิซวี เติน (Duy Tân,) แต่ทั้งสองพระองค์นี้ก็ถูกปลดออกจากราชบัลลังก์และถูกเนรเทศโดยฝรั่งเศส ข้อหาทำตัวเป็นปรปักษ์กับฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมในขณะนั้น ซึ่งหลังจากผ่านพ้นปัญหาเหล่านั้น ฝรั่งเศสตัดสินใจให้เจ้าชายบิ๋ว ด๋าว ขึ้นครองราชย์ในฐานะที่เป็นพระราชโอรสของจักรพรรดิด่ง คั้ญ ซึ่งพระองค์นั้นทรงอ่อนน้อม มีส่วนต่อการปกครองและเลือกข้างอยู่ฝ่ายเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส และต่อต้านการเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพใดๆ ทั้งสิ้น

จักรพรรดิไคดิงห์

เจ้าชายเหงียน ฟุก บื๋ว ด๋าว ได้กลายเป็นพระจักรพรรดิแห่งอันนัมในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1916 หลังจากการสั่งเนรเทศจักรพรรดิซวี เติน และทรงใช้พระนาม ไคดิงห์ ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ทำนายสันติภาพและความมั่นคง” พระองค์ตรัสว่ามีพระประสงค์ที่จะเรียกคืนศักดิ์ศรีของจักรวรรดิ แต่ก็เป็นไปไม่ได้จากการบริหารบ้านเมืองร่วมกันอย่างใกล้ชิดของพระองค์กับฝรั่งเศส แม้ว่าพระองค์จะไม่ทรงพอพระทัยกับตำแหน่งของพระองค์ แต่ก็ต้องทรงตรานโยบายในการบริหารบ้านเมืองร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลฝรั่งเศส และก็เป็นหุ่นเชิดทางการเมืองสำหรับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสได้อย่างดี ทุกคำแนะนำต่อการบริหารบ้านเมืองจะต้องมีความชอบธรรมต่อการปกครองของฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงไม่ทรงเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนชาวเวียดนามเท่าไหร่นัก

ความเกลียดชังของประชาชนชาวเวียดนามทวีเพิ่มมากขึ้น ในปี ค.ศ.1923 เมื่อพระองค์ได้ทรงประกาศขึ้นภาษีจากประชาชน เพื่อนำเงินมาสร้างสุสานส่วนพระองค์อันใหญ่โตมโหฬาร เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้ประท้วงกันมากมาย ทรงสั่งจับผู้นำการประท้วงและผู้สมรู้ร่วมคิดเหล่านั้นเนรเทศและลงโทษตัดหัวไปเสียเป็นอันมาก

ทางขึ้นสุสานจักรพรรดิไคดิงห์

จิตรกรรม “มังกรในม่านเมฆ”

สุสานของพระองค์แห่งนี้ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 11 ปี คือตั้งแต่ปี 1920-1931 ในรัชสมัยของจักรพรรดิบ่าวด๋าย โดยสุสานนั้นตั้งอยู่นเนินเขา รูปแบบเป็นการผสมผสานศิลปะแนวตะวันออกและตะวันตก ซึ่งจะเห็นทั้งตัวอาคารและบันไดที่ใช้ปูนซีเมนต์ ตกแต่งผนังบางส่วนด้วยหินอ่อน แต่ผนังบางส่วนก็ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบที่สั่งมาจากประเทศจีน

อีกหนึ่งสิ่งที่วิจิตรตระการตาในสุสานแห่งนี้ก็คือภาพจิตรกรรมบนเพดานภายในสุสานของพระองค์ ซึ่งเป็นจิตรกรรมฝาผนังแบบเฟรสโกภาพ “มังกรในม่านเมฆ” ที่วาดโดยศิลปินที่เขียนภาพด้วยเท้า เพราะความจงเกลียดจงชังต่อจักรพรรดิที่ทรงขูดรีดภาษีประชาชนอย่างแสนสาหัส

ว่ากันว่าในวันหนึ่งระหว่างการสร้างสุสาน พระองค์ได้เสด็จมาทอดพระเนตรความก้าวหน้าในการวาดภาพ และเห็นพฤติกรรมที่น่าอดสู และหมิ่นพระเกียรติพระองค์อย่างหาที่สุดไม่ได้ จึงทรงรับสั่งให้นำตัวจิตรกรผู้นี้ไปกักขังและประหารชีวิต แต่ก็มีผู้ทูลทัดทานว่า ถ้าไม่มีจิตรกรผู้นี้แล้ว คงยากที่จะหาผู้ที่มีความชำนาญในการวาดภาพให้งดงามขนาดนี้ได้อีก อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่จิตรกรวาดภาพโดยใช้เท้านั้น บ้างก็อธิบายว่าเป็นเพราะความถนัดในการใช้เท้า บ้างก็ว่าเป็นการเลี่ยงที่จะเอาเท้าชี้ลงมาทางด้านล่าง เวลามีผู้เดินทางมาตรวจงาน

ส่วนเรื่องราวชีวิตสมรสของพระองค์นั้น ในปี ค.ศ.1907 พระองค์ทรงมีพระชายาองค์แรกก่อนขึ้นครองราชย์ พระนามว่า พระนางเจือง นู ถิ ทินห์ (Trương Như Thị Tịnh) ต่อมาพระนางทรงทนต่อการติดการพนันขององค์จักรพรรดิไม่ไหว ในปี ค.ศ.1915 พระนางจึงทรงตัดสินพระทัยออกบวชเป็นชี เมื่อจักรพรรดิไคดิงห์ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว จึงทรงแต่งตั้งให้พระนางเป็นมเหสีสีเอก (เพื่อเทิดพระเกียรติของพระนาง)

หลังจากนั้นพระองค์ทรงอภิเษกสมรสใหม่ครั้งที่ 2 กับพระนางโฮ ถิ ฉี (Hồ Thị Chỉ) พระนางเป็นบุตรีของนายโฮ ดั๊ก ตรัง (Ho Dac Trung) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศีกษาธิการในขณะนั้น แต่พระนางก็มิได้ให้กำเนิดพระโอรส พระธิดาเลย จักรพรรดิไคดิงห์ทรงมีพระโอรสองค์เดียวที่กำเนิดจากพระสนมชื่อพระนางตือ กุง (Hoàng Thị Cúc) พระนามว่า เจ้าชายบ่าวด๋าย (Bảo Đại)

การประดับตกแต่งที่ใช้กระเบื้องเคลือบนำเข้าจากประเทศจีน

บางกระแสก็กล่าวว่า พระราชโอรสที่มีแค่องค์เดียวนั้นอาจจะไม่ใช่พระราชโอรสของพระองค์ก็อาจจะเป็นได้ ด้วยสาเหตุที่ว่า พระองค์รักสวยรักงาม ชอบแต่งหน้าทาปาก ชอบส่องกระจกได้ทั้งวันทั้งคืน และพระราชโอรสมีพระวรกายสูงใหญ่ (สูงประมาณ 175-180 ซม.) ในขณะที่องค์จักรพรรดิมีความสูงแค่ 155 ซม. เท่านั้น

บั้นปลายพระชนม์ชีพนั้น พระองค์ทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ สุขภาพไม่ดี เพราะทรงติดยาเสพติด และทรงเป็นโรควัณโรค พระองค์สิ้นพระชนม์ในพระราชวังเมืองเว้ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ.1925 จากคำบอกเล่าของพระสนมบาฟี (Ba Phi) ได้กล่าวไว้ว่า ซึ่งกล่าวว่าพระองค์นั้น “ไม่สนใจเรื่องทางเพศ” และ “มีพระวรกายที่อ่อนแอ”

หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ สุสานแห่งนี้จึงได้ถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานาน และไม่มีรัฐบาลชุดใดให้ความสนใจ ต่อมาจึงได้มีการบูรณะเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และกลายเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของเมืองเว้ที่ใครก็พลาดไม่ได้!


“มติชนอคาเดมี” จัดทริปตามรอยประวัติศาสตร์เวียดนามกลางในทัวร์ ข้ามผ่านกาลเวลา “จาม-เวียด” ท่อง “ฮอยอัน-เว้-ดานัง” พาสัมผัสเรื่องราวของชาวเวียดและจาม สองอาณาจักรเก่าแก่และสำคัญของประเทศเวียดนาม ซึ่งหนึ่ในสถานที่ที่จะพาไปชมก็มี “สุสานจักรพรรดิไคดิงห์” แห่งนี้ด้วย

ทริปนี้นำชมและบรรยายโดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ เดินทางวันที่ 7-10 มีนาคม 2562 (4 วัน 3 คืน) อ่านรายละเอียดโปรแกรมได้ที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_23358 สนใจสำรองที่นั่งได้ที่ inbox เฟซบุ๊กเพจมติชนอคาเดมี คลิก m.me/Matichon.Academy.Thailand
หรือโทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124
Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105
line : @matichon-tour คลิก http://line.me/ti/p/%40matichon-tour

รูปหล่อจักรพรรดิไคดิงห์ในสุสาน ทำด้วยสำริดปิดทอง

มีการสร้างรูปปั้นข้าราชบริพาร รวมถึงช้าง ม้า ด้วย