Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ข้ามผ่านกาลเวลา “จาม-เวียด” ที่ดานัง-เว้-ฮอยอัน

“เวียดนาม” หนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียน กำลังเนื้อหอมในปัจจุบัน ไม่ว่าเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีการปรับตัวและปรับทิศทางการส่งออกของตนไปสู่ตลาดอาเซียน ทั้งเรื่องของการลงทุนจากนอกประเทศและการท่องเที่ยว บอกได้ว่าจากสภาพที่ประจักษ์ด้วยสายตา เวียดนามไม่ได้ทำเล่นๆ แต่ได้ตระเตรียมแผนงานอย่างจริงจังและตั้งความหวังไว้เต็มที่ ซึ่งหากมองย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของเวียดนามที่ผ่านมา บทเรียนในอดีตหล่อหลอมให้คนเวียดนามเป็นนักสู้ และเอาจริงเอาจังกับการทำงานต่างๆ

ก่อนการกำเนิดเป็นประเทศเช่นในปัจจุบัน เวียดนามมีชนเผ่าต่างๆ ถึง 15 ชนเผ่า แต่ละชนเผ่ามีที่ทำกินเฉพาะของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่ทำนาในพื้นที่มีน้ำเจิ่ง ไม่ได้สะดวกสบาย และยังมีสงครามระหว่างชนเผ่าเป็นระยะๆ กระทั่ง 258 ปีก่อนคริสต์ศักราช จึงสามารถตั้งเป็นอาณาจักรได้ โดยกษัตริย์ถุกฟ้าน (Thuc Phan) ของเต็ยเอิว ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธ์ไต่ (Tay) หนุ่ง (Nung) และจ้วง (Choang) ที่อาศัยอยู่บริเวณเวียดนามเหนือและจีนตอนใต้ในเวลานี้

ในระยะต่อมาเวียดนามยังต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศจีน โดยจีนส่งขุนนางเข้ามาปกครอง และนำแนวคิดเข้ามาเผยแพร่ แต่เมื่อปลดแอกจากจีนได้สำเร็จ และสถาปนาราชวงศ์ขึ้นปกครอง มีกษัตริย์ของตนเองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ราชวงศ์แรกของเวียดนาม คือ ราชวงศ์ลี้ (Ly) มีเมืองหลวงอยู่ที่ “ทังลอง” หรือเมืองฮานอยในปัจจุบัน

ช่วงที่อิทธิพลของตะวันตกเริ่มออกล่าอาณานิคม กองทัพฝรั่งเศสได้เข้าโจมตีเวียดนามที่เมืองดานังเป็นที่แรก จากนั้นรุกคืบไปเรื่อยจนยึดเมืองเว้ได้อีก เท่านั้นยังไม่พอ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945) ญี่ปุ่นก็ได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปในเวียดนามอีก กดขี่ชาวเวียดนามเพิ่มมากขึ้น หลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสพยายามจะกลับมาปกครองเวียดนามอีกครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ชาวเวียดนามร่วมกันต่อสู้แบบกองโจร ก่อตั้งกองทัพปลดปล่อย ตั้งคณะกรรมการเพื่อปลดปล่อยแห่งชาติ โดยมี “โฮจิมินห์” เป็นผู้นำ สามารถยึดเมืองต่างๆ ในเวียดนามได้ จากนั้นยื่นข้อเสนอให้จักรพรรดิเบ๋า ด่าย (Bao Dai) ซึ่งเป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดของญี่ปุ่น สละราชสมบัติในวันที่ 23 สิงหาคม 1945  ล้มเลิกระบบกษัตริย์ในเวียดนาม

 

จักรพรรดิบ๋าว ได่

โฮจิมินห์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และประกาศเอกราชของเวียดนามอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 กันยายน 1945 ณ จัตตุรัสบ่าดิ่ญ กระนั้น การสู้รบของคนเวียดนามก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อเกิดสงครามตัวแทนเวียดนามเหนือกับสหรัฐฯ หลังเวียดนามใต้ล้มประชามติการรวมชาติเวียดนามเป็นหนึ่งเดียว กลายเป็นสงครามที่เจ็บปวดและทุกข์ทรมานที่สุดของคนทั้งสองชาติ

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทำให้ประชากรเวียดนามกลายเป็นผู้มีน้ำอดน้ำทน ขยันขันแข็งและเป็นนักสู้ ล่าสุดที่ปรากฏสู่สาธารณะว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เลือกเวียดนามเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด นัดที่ 2 กับผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ในวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2562 ยิ่งทำให้มุมมองของเวียดนามเด่นชัดในสายตาชาวโลก การประชุมนัดนี้ นับเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติให้หลั่งไหลเข้าไปในเวียดนามมากยิ่งขึ้น ภาพเวียดนามในเวลานี้จึงเป็น “บ่อทอง” ที่ใครต่อใครต่างจ้องเข้าไปขุด โดยเฉพาะจีดีพีปีนี้ที่เติบโตถึง 7.4% สูงสุดในรอบ 10 ปี

อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมของเวียดนาม ต้องบอกว่าเป็นประเทศที่มี “ประวัติศาสตร์” น่าศึกษาไม่น้อย หากหมุนย้อนผ่านกาลเวลากลับไปยัง 2 เมืองที่เกี่ยวพันกับความเป็นเวียดนามในปัจจุบัน คือ “เมืองเว้” และ “ฮอยอัน” ในเวียดนามกลาง

“เว้” เมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศ เมื่อหลายร้อยปีก่อน “เว้” เคยอยู่ในความปกครองของขุนนางเหวียนฮวาง (Nguyen Hoang) ราชวงศ์เล แต่ปกครองได้ไม่นานก็เกิดสงครามแบ่งแยกดินแดนขึ้น เหวียนฮวาง หรือ “องเชียงสือ” ได้ปราบกบฏลงและรวบรวมดินแดนทางตอนเหนือและใต้เข้าด้วยกัน พร้อมกับสถาปนาตนเองขึ้นเป็น “จักรพรรดิยาลอง” แห่งราชวงศ์เหวียน มีเมืองหลวงอยู่ที่เว้ แต่หลังจากพระเจ้ายาลองปกครองเว้ได้เพียง 33 ปี ฝรั่งเศสก็บุกเข้าโจมตีเมืองเว้ เกิดสงครามหลายต่อหลายครั้ง กระทั่งจักรพรรดิเบ๋า ด่าย สละราชสมบัติ เมืองเว้จึงเป็นจุดต้นเริ่มต้นของราชวงค์เหวียน และเป็นราชธานีสุดท้ายของราชวงศ์เหวียนเช่นกัน

ปัจจุบัน “เว้” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหอม ไม่ไกลจากทะเลจีนใต้ ห่างจากกรุงฮานอยไปทางใต้ประมาณ 540 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง และเป็นเขตพื้นที่ป่าไม้สำคัญที่สุดของเวียดนาม แม้ว่าเมืองเว้จะได้รับความเสียหายจากภัยสงคราม แต่ก็ยังคงหลงเหลือร่องรอยแห่งความรุ่งเรืองของนครจักรพรรดิอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่พระราชวัง สุสานจักรพรรดิ โบราณสถานอันทรงคุณค่า และวัฒนธรรมที่มีแบบฉบับเป็นของตนเอง ดังนั้น เว้ จึงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็น “เมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม” ในพ.ศ. 2536

สุสานจักรพรรดิมินห์ มาง

พระราชวังเมืองเว้

ที่เว้มีของดีสถานที่สำคัญ ยิ่งใหญ่อลังการ คือ “พระราชวังเมืองเว้” หรือ “พระราชวังด่าย นอย”(Dai Noi ) สร้างโดยปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เหวียน มีพื้นที่ถึง 52 ตารางกิโลเมตร วังแห่งนี้ยึดแบบอย่างและคติความเชื่อจาก “พระราชวังกู้กง” หรือ “พระราชวังต้องห้าม” ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ทุกประการ ดังนั้น พระราชวังด่าย นอย จึงถูกเรียกอีกชื่อว่า “พระราชวังต้องห้าม” แห่งเวียดนาม

พระราชวังเมืองเว้

ตำหนักสำคัญที่สุดในพระราชวังแห่งนี้ คือ “ตำหนักไทฮวา” (Thai Hoa) เพราะเป็นตำหนักสำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ทุกพระองค์ ในราชวงศ์เหวียน และยังเป็นท้องพระโรงขนาดใหญ่ ใช้ออกว่าราชการ ซึ่งในสมัยนั้นการเข้าเฝ้าจะเป็นเวลากลางคืนเท่านั้น คือช่วงตี 2-ตี 4 คำว่า “ไทฮวา” มาจากคำว่า “ไทเหอ” ภาษาจีนกลางแปลว่า “การรวมเป็นหนึ่ง” ชื่อนี้ยังเป็นชื่อตำหนักสำคัญที่สุดในพระราชวังต้องห้ามของกรุงปักกิ่งด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับอิทธิพลจากพระราชวังต้องห้ามของจีน แต่งานสถาปัตยกรรมรวมถึงรูปทรงอาคารบางอย่าง ไม่พบมาก่อนในปักกิ่ง แต่พบในจีนตอนใต้ ที่สังเกตได้ชัด คือ การใช้กระเบื้องตัดมาประดับเป็นรูปต่างๆ บนหลังคา รวมถึงลักษณะหลังคาที่โค้งงอนอย่างมาก เหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับการอพยพของคนจีนที่มาจากมณฑลฝูเจี้ยนและกว่างตงก็เป็นได้

พระราชวังเมืองเว้

สุสานจักรพรรดิไคดิงห์

นอกจากนี้แล้วยังมี “สุสานจักรพรรดิไคดิงห์” เป็นเพียงสุสานเดียวที่มีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันออกและตะวันตก หรืออาจมองได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมสุดแปลก ที่ผสมผสานกันอย่างสุดขั้วระหว่างจีนและยุโรป ตอนแรกจักรพรรดิไคดิงห์ทรงสร้างเพื่อใช้เป็นสุสานของพระองค์เอง แต่สิ้นพระชนม์เสียก่อน จักรพรรดิเบ๋า ด่าย พระราชโอรสจึงสร้างต่อจนเสร็จ ใช้เวลานานถึง 11 ปี ทางเดินขึ้นสุสานเป็นบันไดมังกรอันโอ่อ่าต่อไปยังลานชั้นสอง ที่เรียงรายด้วยรูปปั้นหินของช้าง ม้า ข้าราชการทหารและพลเรือน

กลางลานมีแผ่นจารึกเขียนด้วยอักษรจีน นิพนธ์โดยพระเจ้าเบ๋า ด่าย เพื่อรำลึกถึงพระบิดาของพระองค์ ส่วนด้านบนสุดเป็นพระราชวังเทียนดิงห์ ภายในมีการตกแต่งอย่างสวยงามด้วยกระเบื้องสี และจิตรกรรมฝาผนังภาพมังกรในม่านเมฆขนาดใหญ่ ที่ศิลปินใช้เท้าคีบพู่กันวาด ด้านหน้าชั้นบนสุดของสุสานมีรูปปั้นสำริดขนาดเท่าองค์จริงของพระเจ้าไคดิงห์ สร้างจากฝรั่งเศส แค่สองแห่งนี้ในเมืองเว้เท่าที่ได้ไปเห็นก็ถือว่าเป็นสุดยอดของการเดินทางแล้ว

 

สุสานจักรพรรดิไคดิงห์

จากเว้ในระยะทางไม่ไกลกันนัก เป็นที่ตั้งของเมือง “ฮอยอัน” ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดก๋วงนัม ตอนกลางของประเทศเวียดนามเช่นกัน มีแม่น้ำ “ทูโบน” (Thu Bon) ไหลผ่าน และเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่เชื่อมต่อเมืองอื่นๆทางตอนในเข้าไป “ฮอยอัน” มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์เวียดนาม ในฐานะเป็นเมืองท่าตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 และด้วยความเป็นเมืองท่าจึงทำให้ฮอยอันคลาคล่ำด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ นอกจากชาวเวียดแล้วยังมีชาวจีน ญี่ปุ่น และยุโรป ผู้คนเหล่านี้เข้ามาตั้งหลักปักฐาน ตั้งห้างร้านเพื่อทำการค้าขาย ชนชาติแรกที่เข้ามาค้าขายแถบนี้ คือ จีน แต่เป็นเพียงนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนกับคนพื้นถิ่น เมื่อเสร็จแล้วก็เดินทางกลับ จนเมื่อพุทธศตวรรษที่ 21 ปรากฏหลักฐานว่าชาวจีนและญี่ปุ่นนอกจากเข้ามาค้าขายแล้ว ยังตั้งหลักแหล่งในเมืองฮอยอันด้วย ทั้งสองกลุ่มตั้งชุมชนแบ่งพื้นที่กันอย่างชัดเจนโดยมีคลองคั่น แต่มีสะพานเชื่อม เรียก “สะพานญี่ปุ่น”

                                        ภาพมังกรในม่านเมฆที่สุสานจักรพรรดิไคดิงห์

สะพานญี่ปุ่น

ในตัวเมืองฮอยอัน ได้รับการบูรณะและทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวในบรรยากาศสบายๆ ร้านรวงจัดอย่างมีสไตล์สวยงาม ทั้งร้านอาหาร ร้านดื่ม และร้านขายของที่ระลึก ไปจนถึงผับ ด้วยความที่เป็นแหล่งคนจีนอยู่อาศัยมาแต่เดิม ชุมชนย่านนี้จึงมีวัฒนธรรมของจีนปรากฏให้เห็น

เช่น ศาลเจ้าเฝือกเกี๋ยน สร้างขึ้นโดยชาวจีนฝูเจี้ยน เพื่อประดิษฐาน “เจ้าแม่เทียนโหว” หรือ มาจู่ (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) เทพเจ้าของชาวเดินเรือ ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างโดยชาวฝูเจี้ยน ดังนั้น จึงมีเอกลักษณ์บางอย่างเป็นของท้องถิ่นดั้งเดิมด้วย อาทิ ปลายสันหลังคาอาคารศาลเจ้าแต่ละด้านที่แยกออกเหมือนหางนกนางแอ่น ลักษณะนี้ปรากฏในภาคใต้ของมณฑลฮกเกี้ยน นอกจากนี้ มีการตัดกระเบื้องเป็นชิ้นเล็กๆ และประดับเป็นลวดลายต่างๆ เป็นต้น

สิ่งสำคัญอีกแห่งหนึ่ง “หอบรรพชนมิงเฮือง” สร้างขึ้นโดยลูกหลานชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐานในเมืองฮอยอัน เป็นที่สำหรับกราบไหว้บูชาบรรพบุรุษชาวจีนที่อพยพมาในช่วงแรกๆ และก่อตั้งหมู่บ้านมิงเฮืองในฮอยอัน ในอดีตศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่ทำการของหมู่บ้านด้วย

ที่ฮอยอัน มีกลุ่มศาสนสถาน “ปราสาทหมี่เซิน” หรือ “หุบเขาศักดิ์สิทธิ์หมี่เซิน” เป็นศาสนสถานที่ใหญ่โตมโหฬารมากทีเดียว ใครไปเห็นต้องตะลึงในความงาม ความแปลกตาไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งทั้งหมดนั้นแสดงถึงความรุ่งเรืองในอดีตของเวียดนาม

 

เมืองฮอยอัน

ศาลเจ้าเฝือกเกี๋ยน

ปราสาทหมี่เซิน

“หมี่เซิน-My Son” จัดเป็นโบราณสถานที่มีสถาปัตยกรรมแบบฮินดูที่สมบูรณ์และเก่าแก่ที่สุดในอินโดจีน ที่แห่งนี้ในอดีตเคยเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ของอาณาจักรจาม หรือ จามปา คำว่า “My Son-หมี่เซิน” มีความหมายว่า “ภูเขาอันสวยงาม” ถ้าพูดถึงการสร้างแล้วเป็นหลายยุคหลายสมัย แต่หากจากศิลาจารึกพบว่าสรางขึ้นครั้งแรกในพุทธศตวรรษที่ 10-11 สมัยพระเจ้าภัทรวรมัน ดูๆ ไปแล้วปราสาทแต่ละกลุ่มมีองค์ประกอบคล้ายกัน คืออาคารภายในกำแพงประกอบด้วยโคปุระ ปราสาทประธาน อาคารเก็บจารึก และอาคารประกอบพิธีกรรม แต่ยังมีความอัศจรรย์ในการก่อสร้างแบบโบราณและรูปแบบของศิลปะ

ศาสนสถานแห่งนี้ ใช้ประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้บันดาลพรและคุ้มครองราชวงศ์จาม รวมถึงเป็นสถานที่ฝังพระศพของกษัตริย์ ในยุครุ่งเรืองของอาณาจักรจาม ซึ่งครอบคลุมอาณาเขตตั้งแต่พื้นที่ทางตอนใต้ของฮานอย ไปถึงเวียดนามใต้ และจรดภาคตะวันออกของกัมพูชา ราชวงศ์ที่ครองราชย์มีด้วยกัน 14 ราชวงศ์ 78 พระองค์ ก่อนที่จะล่มสลายในช่วงศตวรรษที่ 15

ปราสาทหมี่เซิน

ปราสาทหมี่เซิน

ที่บรรยายมาทั้งหมด พอจะเห็นภาพของดีของสำคัญอย่างคร่าวๆ ในเมืองเว้และฮอยอันกันบ้าง แต่ถึงอย่างไรก็ไม่สู้เดินทางไปดูของจริงด้วยตัวเอง ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เรียกว่าเป็นความอิ่มเอมที่เกินจะบรรยาย ซึ่งวันที่ 7-10 มีนาคม 2562 นี้ “มติชนอคาเดมี” จัดทริปตามรอยประวัติศาสตร์เวียดนามกันที่เมืองฮอยอัน เว้ และดานัง นำชมและบรรยายโดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ใครสนใจคลิกดูโปรแกรมเดินทางก่อนได้ที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_23358

แล้วพบกัน!