“น้ำมันมะพร้าว” ลดความอ้วนได้จริงหรือ?!

Health สุขภาพดีๆ

มะพร้าวเป็นทั้งอาหารและยาคู่วิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน ภูมิปัญญาของไทยเราเรื่องมะพร้าวก็ไม่น้อยหน้าชาติอื่น อย่างอินเดีย ศรีลังกา หรือฟิลิปปินส์ แม้ถิ่นกำเนิดของมะพร้าวจะไม่อยู่ที่เมืองไทย แต่อยู่ที่เกาะโคโคส (Cocos Island) ในมหาสมุทรอินเดีย อันเป็นที่มาของชื่อทางวิทยาศาสตร์ของมะพร้าว ว่า Cocos nucifera L. และมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า โคโค่ปาล์ม (Coco Palm) หรือต้นโคโค่นัท (Coco Tree)

อย่างไรก็ตาม พี่ไทยเราก็สนิทสนมคุ้นเคยกับต้นไม้ชนิดนี้ในภาษาไทยของเราเอง ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างไปตามท้องถิ่นว่า มะพร้าว (ภาคกลาง) หมากอุ๋น หรือหมากอุน (ภาคเหนือ) พร้าว (ภาคใต้) ย่อ (ในภาษาไทยมาลายู) หรือ โดง (ในภาษาของชาวสุรินทร์) เป็นต้น

บรรพชนไทย ถือว่ามะพร้าวเป็นต้นไม้จากสรวงสวรรค์ เป็นพรที่เทพเจ้าประทานให้มนุษย์ ไม่ว่ามนุษย์ปรารถนาอะไรในการยังชีพ ก็สามารถขอได้จากมะพร้าว ดังนั้น ในประเพณีชีวิตของคนไทยจึงใช้มะพร้าวในการประกอบพิธีมงคล เช่น แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่

ในทางปริศนาธรรม ต้นมะพร้าว เป็นสัญลักษณ์ของ “พระนิพพาน” ดังเพลงกล่อมเด็กของชาวปักษ์ใต้ว่า “มะพร้าวนาฬิเก ยืนโดดเด่นโนเนอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้องฟ้าร้องไม่ถึง” ซึ่งทั้งหมดนี้ก็อุบายของคนโบราณที่ต้องการให้ลูกหลานปลูกมะพร้าวไว้ใช้สอยทุกครัวเรือน คนไทยจึงผูกพันกับมะพร้าวตั้งแต่อยู่ในท้องแม่จนตาย

กล่าวคือ น้ำมะพร้าวอ่อนเป็นยาบำรุงครรภ์ (สำหรับสตรีมีครรภ์เกิน 5 เดือน) และสำหรับคุณแม่ลูกอ่อน น้ำมะพร้าวนาฬิเก (ชื่อมะพร้าวชนิดหนึ่ง มีผลเล็กสีเหลืองหรือส้ม น้ำหอมหวาน) ก็เป็นกระสายยา ช่วยให้น้ำนมคุณแม่ไหลออกดี และยังเป็นยาช่วยบำบัดโทษแห่งกุมารดีนัก และตอนตายก็ยังใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้า ชำระหน้าตาให้สะอาดบริสุทธิ์ก่อนเดินทางไปสู่ปรโลก

ส่วนต่างๆ ของมะพร้าวตั้งแต่ยอดมะพร้าว น้ำ เนื้อ กะลา เปลือกผล เปลือกต้น ลงไปจนถึงรากมะพร้าว ล้วนมีสรรพคุณในทางยาทั้งนั้น ซึ่งอาจจะกล่าวถึงในคราวต่อไป แต่ตอนนี้ขอเม้าธ์ประเด็นที่กำลังเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ เรื่องการใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นยาลดความอ้วน อย่าหาว่าเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนกันเลยนะ

ทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ใช้น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง กระทั่งน้ำมันทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด ในการปรุงอาหาร ทั้งผัด ทั้งทอด จนลืมไปแล้วว่าน้ำมันพืชที่ใช้ในการปรุงอาหารของคนไทยแต่ดั้งเดิม คือน้ำมันมะพร้าว และน้ำกะทิ เพราะแต่ก่อนคนไทยไม่มีน้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันถั่วเหลือง

อาหารไทยทั้งคาวและหวานย่อมขาดกะทิไม่ได้ แน่นอนกะทิเมื่อถูกความร้อนก็แปรสภาพเป็นน้ำมันมะพร้าวด้วยไม่มากก็น้อย คนไทยเราบริโภคกะทิและน้ำมันมะพร้าวกันมาหลายชั่วอายุคน โดยไม่ค่อยได้บริโภคน้ำมันพืชอย่างอื่น แต่ก็ไม่มีปัญหาเรื่องโรคอ้วนจนน่าวิตก

จนเมื่อเริ่มมีข้อมูลทางโภชนาการยุคแรกประกาศออกมาว่า น้ำมันมะพร้าว และน้ำกะทิ มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงกว่าน้ำมันพืชทุกตัว ไม่ควรบริโภคเป็นอาจินต์ เพราะจะทำให้เกิดไขมันในเลือดสูง ก่อผลร้ายต่อสุขภาพตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมอง หรือในหัวใจตีบตัน ผู้บริโภคสมัยใหม่จึงรังเกียจกะทิ และน้ำมันมะพร้าว หันไปบริโภคน้ำมันพืชชนิดมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวแทน

จริงอยู่น้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันอิ่มตัว (Saturated Futty acid) สูงถึง 73% รองลงมาคือ น้ำมันปาล์มมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง 50% แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า น้ำมันพืชชนิดอื่น เช่น น้ำมันถั่วเหลือง จะไม่มีกรดไขมันอิ่มตัวเลย เพียงแต่มีน้อยกว่าคือราว 15%

แต่การที่มีน้อยกว่ามิได้หมายความว่า น้ำมันถั่วเหลืองจะไม่มีอันตรายต่อสุขภาพเลย เพราะแม้น้ำมันถั่วเหลืองจะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated Futty acid) ถึง 85% แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหลายตำแหน่ง (Poly unsaturated Fatty acid) สูงถึง 61% ซึ่งมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันได้ง่าย ทำให้เซลล์มีความเสียหาย จนอาจจะกลายเป็นเนื้อร้าย (มะเร็ง) ได้

ดังที่พบว่ากินอาหารไขมันสูงสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็ง

มิหนำซ้ำกรดไขมันอิ่มตัวทั้งหมดของน้ำมันถั่วเหลืองก็เป็นชนิดสายโซ่ยาว (Long chain Triglyceride) ซึ่งย่อยสลายเป็นพลังได้ยาก และง่ายต่อการสะสมเป็นเนื้อเยื่อไขมันในร่างกาย ถ้าบริโภคมากๆ ก็ทำให้เกิดภาวะโรคอ้วนได้

ตรงกันข้าม กรดไขมันอิ่มตัวในน้ำมันมะพร้าว แม้จะมีสูงมากแต่ส่วนใหญ่ถึง 71% จะเป็นสายโซ่กลาง (MEDIUM CHAIN TRIGLYCERIDE หรือ MCT) ซึ่งเป็นไขมันที่ร่างกายสามารถย่อยและดูดซึมไปใช้ได้ง่ายกว่าไขมันที่มีสายโซ่ยาว ซึ่งพบเป็นส่วนใหญ่ในน้ำมันพืชชนิดอื่น การที่น้ำมันมะพร้าว เอ็มซีที (MCT) ถูกย่อยและดูดซับได้ง่ายกว่า เพราะไม่จำเป็นต้องอาศัยน้ำดีจากตับอ่อนมาช่วยย่อย ในขณะที่ไขมันสายโซ่ยาวจำเป็นต้องใช้น้ำดีช่วยย่อย

คุณสมบัติของน้ำมันมะพร้าวที่ย่อยและดูดซับได้ง่าย และไม่สะสมในตับนี่เอง ดังนั้น ทางการแพทย์จึงนำ เอ็มซีที (MCT) ที่มีอยู่มากในน้ำมันมะพร้าวมาใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหารหรือนมให้แก่ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือทารกที่มีปัญหาเรื่องการย่อยและดูดซึม หรือผู้ป่วยวัยอื่นที่มีปัญหาตับอ่อนไม่สามารถสร้างน้ำดีย่อยไขมันได้

น่าอัศจรรย์ไหม ที่พฤติกรรมการบริโภคน้ำมันมะพร้าวของคนไทยสมัยก่อน มา สอดคล้องกับความรู้โภชนาการสมัยใหม่เรื่อง เอ็มซีที จนทำให้เราต้องกลับมาทึ่งภูมิปัญญาไทย เรื่องน้ำมันมะพร้าวกันอีกครั้ง

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าน้ำมันมะพร้าว จะมี เอ็มซีที อยู่สูง จนดูเหมือนว่าจะมีแต่ประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ความจริงแล้วไขมันทุกชนิดมีพลังงานเท่ากันหมด คือ 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี ดังนั้น การกินอาหารแล้วได้พลังงานมากเกินความต้องการ โดยไม่ออกกำลังกายถ่ายเทออกไป พลังงานส่วนที่เหลือก็จะกลับเป็นไขมันสะสมให้ร่างกายย้วยกันต่อไป

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มิใช่จะให้เลิกบริโภคน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันสายโซ่ยาวและกรดไขมันอิ่มตัวชนิดหลายตำแหน่ง เพราะน้ำมันเหล่านี้มีกรดไขมันที่ร่างกายต้องการ ในสมัยก่อนแม้จะไม่มีน้ำมัน ถั่วเหลือง แต่ก็รู้จักหีบน้ำมันงา ซึ่งอุดมด้วยกรดไขมันใกล้เคียงกับน้ำมันถั่วเหลือง

คนไทยแต่ก่อนรู้จักบริโภคน้ำมันมะพร้าว กับน้ำมันงา ผสมผสานสมดุลกัน เป็นทั้งอาหารและยาช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรงและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ภูมิปัญญาทางโภชนาการอันหาค่ามิได้นี้ ลูกหลานไทยต้องรีบฟื้นกลับมาโดยพลัน โดยมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นเครื่องกำกับ

มิใช่เอาแต่ปลุกกระแสฉวยโอกาสทางการตลาดเท่านั้น

ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง