กลุ่มภัทลี เป็นการรวมกลุ่มของแม่บ้านและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทั้งไทยพุทธและมุสลิม ที่ใส่ใจกับการพัฒนาอาชีพในท้องถิ่นของตัวเอง ได้จับมือกันทำงานร่วมกัน ผลิตงานฝีมือทางศิลปะ อย่างกลมเกลียวมานานกว่า 10 ปี ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของพวกเขาพัฒนาไปมาตรฐานระดับพรีเมี่ยม จนได้ออเดอร์ส่งออกไปแล้วหลายประเทศ ทั้งมาเลเซียและอิตาลี
งานศิลปะประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ด้วยกาบกล้วยในรูปแบบต่างๆ คือสุดยอดผลงานของกลุ่มภัทลีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
ที่มาของงานศิลปะประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ด้วยกาบกล้วยนี้เป็นความคิดและแนวคิดของ ดรุณี แวยามา ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่จะพยายามหางานเพื่อเลี้ยงดูตัวเอง ที่สามารถอยู่กับตัวเอง อยู่กับบ้านอยู่กับครอบครัวได้
เดิมดรุณี เข้ามาทำงานที่กรุงเทพมหานครเป็นเวลาหลายปี และวันหนึ่งเธอได้ตัดสินใจออกจากงาน กลับมาสู่บ้านเกิดที่จังหวัดปัตตานี และนำไปสู่การตั้งกลุ่ม “ภัทลี” และได้ใช้บ้านของเธอ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 10/1 หมู่ที่ 8 บ้านบาราโหม ตำบลบาราโหม อำเภอเมืองปัตตานี
“ตอนนั้นคิดมาว่า หางานที่เหมาะสมกับตัวเอง แล้วอยู่กับบ้านไม่ต้องไปไหน ได้ดูแลทำงานบ้านไปด้วย ซึ่งในเวลานั้น ทางวิทยาลัยอาชีวะปัตตานี ได้เปิดอบรมหลักสูตรระยะสั้น คือการประดิษฐ์ของที่ระลึกจากกาบกล้วย ซึ่งเรามีความสนใจและได้เข้ารับการอบรม”
ในช่วงการอบรม ดรุณี เล็งเห็นว่า การประดิษฐ์ของที่ระลึกจากกาบกล้วยนี้ ยังไม่มีผู้ใดจำหน่ายในท้องตลาด จึงได้ขออนุญาตกับ อาจารย์วันเพ็ญ พุทธรัตน์ อาจารย์ผู้สอนและเป็นผู้คิดค้น เพื่อนำไปผลิตและจำหน่าย
ดรุณีได้ชักชวนเพื่อนๆ ที่เข้ารับการอบรมพร้อมกัน ให้รวมตัวกันและจัดตั้งเป็นกลุ่ม “ภัทลี” ขึ้นมา เพื่อผลิตผลงานประดิษฐ์จากกาบกล้วย และด้วยความเมตตาของอาจารย์วันเพ็ญ ได้มอบเงินให้กลุ่มเป็นทุนจำนวน 10,000 บาท
ดรุณี กล่าวว่า งานของกลุ่มเราเน้นที่คุณภาพมาก่อน โดยตั้งแต่เริ่มต้นได้มีการลองผิดลองถูกกันต่อเนื่อง เรียกว่า ผลิตงานเป็นร้อยเป็นพันชิ้น กว่าจะได้งานอย่างทุกวันนี้
“ร้องไห้กันมาหลายครั้งเลยค่ะ และต้องขอขอบคุณทางวิทยาลัยเทคนิคปัตตานีมากๆ ที่เข้ามาช่วยกลุ่มเราด้านเครื่องไม้เครื่องมือ และขอบคุณ อาจารย์วันเพ็ญ พุทธรัตน์ ผู้สอนเรามาและสนับสนุนตลอดมา งานของกลุ่มภัทลีนี้ เราทำทุกชิ้นด้วยความประณีต งานเราส่งออกไปนอกแล้ว ไม่กังวลเรื่องการตลาด เพราะเรามีตลาดที่แน่นอนแล้ว เพียงแต่ต้องผลิตให้ทันตามความต้องการของลูกค้าเท่านั้น ตอนนี้ งานเราทำส่งไปไกลถึงอิตาลี ในต่างประเทศชอบงานแฮนด์เมด งานที่ดูท้องถิ่น ดิบๆ แบบง่ายๆ สบายๆ แต่ดูดี สะอาดตา สวยงาม ทุกวันนี้ เราทำงานร่วมกับคนในหมู่บ้าน และพี่ๆ หมู่บ้านพุทธ ทำกันด้วยความสามัคคี และตั้งใจผลิตงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ”
ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทอย่างเต็มที่ของกลุ่มภัทลี จึงได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากโครงการหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และได้รับการคัดสรรให้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 3 ดาว ของจังหวัดปัตตานีด้วย
ใช้กล้วยตานี เป็นวัตถุดิบ
สำหรับวัตถุดิบที่สำคัญในการนำมาซึ่งงานฝีมือขึ้นชื่อคือ ต้นกล้วยตานี
ดรุณี กล่าวว่า ต้นกล้วยตานีเป็นวัตถุดิบที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น ทั้งในตัวอำเภอเมืองปัตตานีและอำเภอใกล้เคียง จึงทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบอย่างแน่นอน
“เมื่อเกษตรกรที่มีกล้วยตานีปลูกอยู่ รู้ว่าทางกลุ่มเราต้องการนำมาใช้งาน จะติดต่อเข้ามา ชาวสวนจะเป็นคนตัดต้น ให้ทางกลุ่มเป็นฝ่ายจัดการขนส่ง ราคาที่ซื้อนั้นจะตามขนาดของต้น ต้นใหญ่ๆ มาตรฐาน ราคาอยู่ที่ 10-15 บาท ต่อต้น”
ส่วนกระบวนการการผลิตเป็นชิ้นงานศิลปะ ดรุณี กล่าวว่า เริ่มจากรับต้นกล้วยจากชาวสวนมาแล้ว จะนำส่งให้ฝ่ายผลิตวัตถุดิบ เพื่อนำมาสู่ขั้นตอนการทำกาบกล้วย โดยเริ่มจากตัดต้นกล้วยเป็นท่อน ท่อนละประมาณ 50-70 เซนติเมตร แล้วลอกกาบออกมาจากลำต้นเป็นชั้นๆ ทีละแผ่น จากนั้นจึงใช้มีดปลายแหลมปาดกาบกล้วย เอาส่วนที่แข็งออก เริ่มจากตรงกลางซ้ายขวาและเหลือขอบข้างไว้ประมาณข้างละ 1 เซนติเมตร จากนั้นนำกาบกล้วยที่ได้ นำไปตากแดดประมาณ 1-3 วัน ขึ้นอยู่กับความแรงของแสงแดด บางครั้งอาจจะแห้งภายในแดดเดียว ขั้นตอนนี้จะต้องใช้ความชำนาญอย่างมาก ถึงจะได้กาบกล้วยที่สวยและได้สัดส่วน
“เราได้กาบกล้วยที่ขาวมากๆ ใช้เวลาตากน้อย แดดแรงมากๆ ยิ่งดี ประหยัดเวลา วันเดียวแห้ง เมื่อกาบกล้วยแห้งดีแล้วจะมีสีขาวนวลธรรมชาติ ดูสวยงาม หากใช้เวลาในการตากแดดนานเพิ่มขึ้นความเข้มของสีกาบกล้วยจะเพิ่มเข้มมากขึ้น จะดูไม่สวยเท่าที่ควร เพราะฉะนั้น ความแห้งของกาบกล้วยต้องดูให้พอดี เมื่อแห้งสนิทแล้วจึงนำไปเก็บเพื่อเตรียมเป็นวัตถุดิบ ระวังขอบข้างของกาบกล้วย พับเก็บใส่ถุงให้เรียบร้อย จากนั้นนำไปเตรียมในการผลิตชิ้นงาน”
เมื่อได้กาบกล้วยตากแห้งที่เป็นวัตถุดิบสำคัญแล้ว จะนำไปผลิตเป็นชิ้นงานต่างๆ ที่มีอย่างหลากหลาย ไม่ว่า กล่องทิชชู สมุดโน้ต กล่องใส่เครื่องใช้อเนกประสงค์ กล่องเก็บของ ตลอดจนของชำร่วย และทำเป็นโคมไฟ เป็นต้น
ในการผลิตนั้นจะมีการเสริมลูกเล่นให้มีความสวยงามในลักษณะของศิลปะผสม โดยนำมาตกแต่งเพิ่มด้วยผ้าลูกไม้ ผ้าปาเต๊ะ หนังหรือกะลา เป็นต้น แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้เกิดความสวยงามมากขึ้น
“ผลงานแต่ละชิ้นงานที่ผลิตออกไปนั้นเราพยายามทำให้มีความสวยงาม ประณีต เน้นคุณภาพ และได้มาตรฐานมากที่สุด จึงจะส่งงานให้กับลูกค้า” ดรุณี กล่าว
วิถีการตลาด
ส่วนคำถามที่ว่า มีการพัฒนางานสู่การตลาดนั้นเป็นอย่างไรบ้าง…
ดรุณี ให้คำตอบว่า…
“การเติบโตของกลุ่มนี้ แรกเริ่มนั้นทางกลุ่มเริ่มผลิตเป็นของชำร่วย เปิดตลาดขายในจังหวัดก่อน จากนั้นได้ออกงานตามงานสำคัญๆ ของจังหวัด ไปเจอนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียมาติดต่อ และส่งไปยังประเทศมาเลเซีย ทางเราก็จัดทำให้เป็นงานแบบง่ายๆ ประเภทของฝากราคาย่อมเยา ซึ่งการทำออเดอร์ส่งประเทศมาเลเซียนั้น เขาเน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพ เราก็ทำไปซักพัก พอนานๆ เข้า เขาก็สั่งน้อยลง เรื่อยๆ ปัญหาอีกเรื่องคือ เรายังไม่สามารถกำหนดราคาตามที่เราต้องการ ต่อมาเราได้เข้าไปอบรมงาน ดูงาน ปรับปรุงงาน และในปัจจุบันทางกลุ่มได้รับการดูแลจากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ มหาวิทยาลัยทักษิณ จึงทำให้กลุ่มมีการปรับวิสัยทัศน์และมีการผลิตชิ้นงานเน้นคุณภาพดีขึ้น และเพิ่มความประณีตมากขึ้นด้วย เพื่อส่งจำหน่ายสู่ตลาดพรีเมี่ยม และได้รับการต้อนรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าต่างประเทศ”
ส่วนรายได้ของสมาชิกกลุ่มนี้ เนื่องจากได้มีการแบ่งหน้าที่ในการรับผิดชอบงานแตกต่างกันแต่ละชิ้นงานออกไปในแต่ละคน ซึ่งเป็นรายได้ของสมาชิกเฉลี่ยที่ประมาณ 3,000-9,000 บาท ต่อเดือน ต่อชิ้น ขึ้นอยู่กับจำนวนของที่รับไปทำ
โดยช่วงที่มีการสั่งซื้อเข้ามากที่สุด อยู่ประมาณเดือนกันยายน-เดือนกุมภาพันธ์
สำหรับเป้าหมายและอนาคต ดรุณี กล่าวว่า จะมีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและรูปแบบให้มีรูปแบบที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น รวมถึงการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศได้วางเป้าหมายที่ส่งไปวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ
“แต่ที่สำคัญเราอยากสร้างให้กลุ่มของเราเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ ได้เข้ามาเรียนรู้และนำไปถ่ายทอด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนอื่นต่อไป” ดรุณี กล่าวทิ้งท้าย
หากสนใจงานของกลุ่มนี้ ติดต่อได้ที่ ดรุณี แวยามา ประธานกลุ่มภัทลี โทร. (083) 017-1590
ที่่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์