ถ้าพูดถึงนกยูงหลายคนอาจจะรู้สึกเฉยๆ เพราะพบเห็นได้ทั่วไปตามสวนสัตว์ แต่เชื่อว่าถ้าใครได้เจอนกยูงตามธรรมชาติแล้วจะใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ด้วยท่วงท่า การเดินที่ไร้กรงขัง มันช่างดูเป็นอิสระและสง่างามอย่างยิ่ง
รายการสิงสา จากมติชนออนไลน์ ครั้งนี้พาไปตามดูนกยูงในอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของฝูงนกยูงจำนวนมาก จนกระทั่งคนเริ่มลักลอบเข้ามาตัดไม้พะยูงในบริเวณที่พวกมันอยู่ ทำให้มันต้องอพยพมาอยู่ใกล้ชุมชนมากขึ้น
นกยูงไทยแท้นั้นตามธรรมชาติหาดูได้ยาก แต่ที่นี่อุทยานแห่งชาติทับลานยังได้ยลโฉมพวกมันอยู่ สังเกตง่ายๆ ถ้าเป็นนกยูงไทยบนหัวจะเป็นช่อ แต่ถ้าเป็นนกยูงอินเดียบนหัวจะแผ่เป็นพัด
“เรวัชร พลจันทึก” อดีตพรานป่า ที่นำคณะเข้าไปชม บอกว่า นกยูงไทยจำนวนหนึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในอุทยานแห่งชาติทับลาน เห็นมาราว 30-40 ปีแล้ว แต่ขยายพันธุ์ไม่ได้เท่าไหร่ เคยเห็นรวมฝูง 30-40 ตัว แต่ก็มีกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอีก ทางผาเม่นก็มีเป็นกลุ่ม 10-20 ตัว นกยูงไทยจะมีสีสันสดใส บางคนบอก
นกยูงเอามาปล่อย แต่ไม่ใช่ เพราะตนอยู่มาตั้งแต่เกิดจนอายุ 50 กว่าก็เห็นมาตลอด ติดแถวเสิงสางก็เคยเห็นมันอยู่ข้างใน แต่ช่วงหลังๆ 10 ปีหลัง มันย้ายออกมาเพราะมีพวกตัดไม้พะยูงเข้าไปกวนมัน มันก็เลยอยู่แถวนี้ไม่กลับเข้าไปอีก
ขณะที่ “เศวตกุญชร บุญประดับ” ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช บอกว่า นกยูงเป็นสัตว์ประเภทเดียวกับไก่ฟ้า เป็นเหมือนตัวกระจายเพิ่มพื้นที่ป่า เวลากินธัญพืช เมื่อเดินทางไปไหนจะขับถ่ายก็เป็นการปลูกป่าธรรมชาติเพิ่ม
“เวลาพูดถึงนกยูงอาจไม่ตื่นเต้น เพราะมีการอนุญาตให้เพาะเลี้ยงในฟาร์ม ส่วนมากจะทำคู่กับนกยูงอินเดีย อาจจะมีนกยูงไทยบ้าง อาจมีพันธุ์ผสมบ้าง นกยูงไทยขนตรงหัวจะเป็นช่อ อินเดียจะเรียงเป็นพัด นกยูงไทยแท้ในธรรมชาติพบได้ยาก และมีปัจจัยทำให้เขาดำรงชีวิตได้มีไม่เยอะ ทำให้อยู่ในธรรมชาติเป็นเรื่องยาก ก็น่าเป็นห่วงเหมือนกัน”
ที่มา : มติชนออนไลน์