นางนิภา สังคณาคินทร์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พระนารายณ์ราชนิเวศน์ เปิดเผยกับมติชนอคาเดมี ว่า ในช่วงเวลานี้พิพิธภัณฑ์พระนารายณ์ราชนิเวศน์จัดนิทรรศการ2เรื่อง ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมศิลปากรและจ.ลพบุรี คือ 1.นิทรรศการความรู้ใหม่จากการศึกษาวิจัยแหล่งโบราณคดีในลุ่มน้ำลพบุรี เปิดไปเมื่อเดือนม.ค.62เนื่องในโอกาสความสัมพันธ์ไทยอิตาลี โครงการนี้ส่วนหนึ่งทำงานร่วมกันระหว่างนักโบราณคดีไทยและชาวอิตาลี คือโบราณคดีพื้นที่ลพบุรี เลยถือโอกาสนำนิทรรศการนี้มาเป็นส่วนหนึ่ง
วัตถุประสงค์ของโครงการ เห็นว่าที่ผ่านมา มีการทำงานในพื้นที่ของลุ่มแม่น้ำลพบุรี ไม่น้อยกว่า 70 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 เรื่อยมา เป็นทั้งความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร นักโบราณคดีกรมศิลปากร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร บางโครงการเป็นความร่วมมือกับต่างชาติ ระหว่างกรมศิลปากรกับมหาวิทยาลัยต่างชาติ อาทิ ความร่วมมือระหว่างไทยอิตาลี รวมทั้งโครงการโบราณโลหะวิทยาก็ถือเป็นความร่วมมือ
เพราะฉะนั้น 70 ปีที่ผ่านมาประชาชนไม่เคยรู้เลยว่านักโบราณคดีได้อะไร สิ่งที่ได้คืออะไร เราไม่เคยมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง มันอาจจะมีระหว่างทาง เช่น การนำเสนอผลงานศึกษาค้นคว้าวิจัยทางวิชาการ แต่เป็นเรื่องของเฉพาะกลุ่ม เรื่องของนักวิชาการ เรื่องเฉพาะกลุ่มของนักโบราณคดี แต่ในมุมกว้าง ระดับประชาชน ไม่เคยเข้ามาล่วงรู้เลย
โบราณวัตถุ70กว่าปีถูกมอบไว้ให้ในพิพิธภัณฑ์มีมากพอที่จะนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการพิเศษ มีความต่างกับการจัดแสดงทั่วๆที่กรมศิลปากรหรือทางพิพิธภัณฑ์ดำเนินการ บางทีเราทำนิทรรศการเรื่องหนึ่ง เราคิดจากตัวเรา เอานักวิชาการไม่ว่าจะเป็นภัณฑารักษ์หรือนักโบราณคดีเป็นจุดตั้งต้นในการที่จะถ่ายทอดความรู้ ในการเขียนงานออกมา จะถ่ายทอดจากสิ่งที่อยากเล่า อยากอธิบาย เต็มไปด้วยข้อมูลวิชาการมากมาย แต่ประชาชนไม่รู้เรื่อง เพราะอาจจะลึกเกินไป โดยเฉพาะนักเรียนเป็นกลุ่มใหญ่ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นนิทรรศการเรื่องนี้ เลยสมมุติว่าตัวเองเป็นคนดู ถ้าคนดูมาเห็นเศษภาชนะสักชิ้นหนึ่ง ที่ได้มาจากแหล่งโบราณคดี ที่แสนจะธรรมดามากเลย สามารถตอบโจทย์ว่ามันคืออะไร ใครเป็นคนทำ ทำยังไง ถ้าสมบูรณ์จะเป็นแบบไหน มีอายุเท่าไหร่ มันมีคำถามมากมายที่ทำให้นักท่องเที่ยวอยากรู้ แล้วคนที่อยากไขปริศนาคือใคร คือนักโบราณคดีใช่ไหม เขาจะสวมวิญญาณเป็นนักโบราณคดีที่จะไขปริศนาเรื่องราวที่เขาอยากรู้ มาให้เขารู้ว่าท้ายที่สุดคืออะไร
เราเดินเรื่องด้วยนักโบราณคดี จากการทำงานของนักโบราณคดี การสำรวจ การทำผัง การขุดค้น ขุดแต่ง วิเคราะห์ ออกมาเป็นรูปเล่มรายงาน และจัดแสดง จากนั้นเมื่อนักโบราณคดีเสร็จแล้ว สำรวจ เราต้องไปดูในพื้นที่ และพบว่าลุ่มแม่น้ำลพบุรี ที่ได้รับการขุดค้นจากนักโบราณคดีและที่ยังไม่ผ่านกระบวนการขุดค้นทางวิชาการมี100กว่าแหล่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆในลุ่มแม่น้ำลพบุรี และปรากฏว่าใน100กว่าแหล่ง มีแหล่งที่เป็นตัวแทนของการทำงานของนักโบราณคดีประมาณ 3-4 แหล่ง ที่ตอบโจทย์ในความเป็นแหล่งโบราณคดีของลุ่มแม่น้ำลพบุรี หรือเมืองลพบุรีได้ชัดเจนที่สุด
แหล่งโบราณคดีท่าแค เขาทรายอ่อน พุน้อย โนนป่าหวาย ถือเป็นไซต์ใหญ่สำคัญมาก ที่จะเป็นตัวแทนของ100กว่าแหล่ง โดย4แหล่งที่ว่านี้ทำไมถึงมีความสำคัญ ถ้าดูจากเชิงพื้นที่จะรู้เลยว่าเมืองลพบุรีมีข้อดี ทั้งความเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่าน และไปเชื่อมโยงกับลุ่มแม่น้ำสำคัญในภาคกลาง ตะวันตก และลุ่มแม่น้ำป่าสัก อันนี้คือความได้เปรียบ ในขณะเดียวกัน ทางธรณีวิทยาหรือพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์ยังเป็นพื้นที่ที่เป็นเชิงเขา เป็นภูเขา ว่าด้วยเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ
โดยเฉพาะไซต์ของโนนป่าหวาย หรือท่าแค สามารถตอบโจทย์ในความเป็นอุตสาหกรรม เป็นศูนย์กลางความเป็นอุตสาหกรรมการถลุงแร่ทองแดงที่สำคัญที่สุดของเมืองลพบุรี และเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญที่ส่งไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งในประเทศและประเทศรายรอบ
ภาชนะดินเผาที่ได้จากการทำงานในลุ่มแม่น้ำลพบุรี มีความหลากหลายของรูปแบบ แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยี แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของคนในยุคนั้น กิจกรรมของผู้คนในยุคนั้น พบว่ามีเรื่องของความเชื่อ ประเพณีเรื่องการฝังศพ ว่ามีจิตวิญญาณของความเชื่อหลังความตายและไปเกิดใหม่ในภพหน้า เจอโครงกระดูกนอนหงายเหยียดยาว งอตัว ฝังอยู่ในภาชนะ เจอความเชื่อที่มีเศษภาชนะทุบและวางอยู่รอบตัวศพ ตอบอะไรได้หลายอย่าง เจอโครงกระดูกสุนัข เครื่องมือเหล็กในยุคเหล็ก มีแม่พิมพ์หล่อโลหะ หล่อสำริด ตอบโจทย์มากมายในหลุมฝังศพ
นอกจากนั้นยังมีเรื่องของเครื่องประดับทั้งที่ทำกันเองในท้องถิ่น และนำเข้าจากซีกโลกตะวันตกและซีกโลกตะวันออก มีเครื่องประดับที่ทำจากหอยทะเล คือเปลือกหอยมือเสือ แสดงให้เห็นว่าในเมืองลพบุรี เราไม่ได้ติดชายฝั่งทะเล แต่มีแม่น้ำลพบุรี แม่น้ำสายใหญ่ ที่ไปเชื่อมกับแนวชายฝั่งทะเลด้านแนวตะวันตก หรือบริเวณภาคกลาง ทำให้เราได้รับอิทธิพลของสัตว์ทะเล หรือศาสนาที่เข้ามา เราได้รับอิทธิพลในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากทางซีกโลกตะวันตก ซีกโลกตะวันออก เวียดนาม โรมัน เปอร์เซีย จีน เข้ามาในพื้นที่มากมาย
นอกจากนั้นยังมีหลากหลายเรื่องราว มีการจัดแสดงให้เห็นถึงชั้นดิน ชั้นวัฒนธรรมการอยู่อาศัย ว่าถ้าชั้นวัฒนธรรมเหล่านี้ ไม่ได้ถูกรบกวน จะเป็นชั้นดินที่มีความสมบูรณ์ที่สุด เห็นถึงชั้นพัฒนาการการอยู่อาศัยของผู้คน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างน้อยประมาณ 3,800-4,000 ปี เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นิทรรศการเรื่องนี้จะครบและจะเล่าเรื่องอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ว่าสาระสำคัญคือ 1.หยิบงานโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำลพบุรีที่ผ่านการทำงานของนักโบราณคดีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่เป็นโครงการร่วมนำมาเสนอ เผยแพร่ให้ประชาชนล่วงรู้
2.เน้นการจัดแสดงแบบเรียบง่าย แต่ให้คนเข้าใจง่ายขึ้น ให้ผู้ชมสวมบทบาทของการเป็นนักโบราณคดี เริ่มไขปริศนาสืบค้นร่องรอยจากการทำงานในพื้นที่ จนกระทั่งมาได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุด นำมาตอบโจทย์ และจะมีมุมกาละเล่น มีมุมเล่นของเด็กๆให้สนุกสนานและเพลิดเพลินไปด้วย นี่คือจุดเด่นของนิทรรศการเรื่องนี้
และ 2.นิทรรศการอวดภาพถ่ายเก่า เป็นการนำเสนอภาพถ่ายเก่าที่ได้มาจากหลายแหล่ง เราจะมีแหล่งข้อมูลจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร จากหอดำรงราชานุภาพ ภาคเอกชน คนที่สะสมภาพถ่ายเก่า ทั้งประชาชนทั่วไปและคนในพื้นที่จ.ลพบุรี ช่วยกันส่งภาพมาเป็นภาพเล่าเรื่อง ทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม วิถีชีวิต เหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงของ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 มาถึงปัจจุบัน ถ่ายทอดจากภาพถ่ายเก่า รวมทั้งสถาบันของพระมหากษัตริย์เสด็จที่เมืองลพบุรี ตั้งแต่ รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาจนถึง รัชกาลที่10 แสดงให้เห็นว่าในจ.ลพบุรีเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญตั้งแต่ระดับสถาบันพระมหากษัตริย์จนกระทั่งถึงพวกเราประชาชน
นิทรรศการ2เรื่องนี้จะจัดนานประมาณ6เดือน ตอนนี้เหลือเวลาแสดงในส่วนนิทรรศการอวดภาพถ่ายเก่า ประมาณ2เดือน ส่วนเรื่ององค์ความรู้ใหม่ จะจัดแสดงอีกไม่เกิน5เดือน หลังจากนั้นจะจัดต่อในเรื่อง นิทรรศการพิเศษ100ชิ้นเยี่ยมโบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุที่พบจากเมืองลพบุรี