ทัวร์ Back to History : คิงมงกุฎ “พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช” กรุงเทพฯ
วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2562
08.00 น. ลงทะเบียน พร้อมรับของที่ระลึก และรับประทานอาหารเช้า (Snack Box) ที่วัดราชาธิวาส
09.00 น. เข้าชม วัดราชาธิวาส เดิมชื่อวัดสมอราย เป็นวัดที่รัชกาลที่ 4 ได้เคยประทับขณะทรงพระผนวชและทรงก่อตั้งคณะธรรมยุติกขึ้นที่นี่ ชมพระอุโบสถผลงานการออกแบบของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ หรือสมเด็จครู นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม พร้อมสักการะ พระพุทธสัมพรรณี จำลองจากองค์จริงซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปแบบธรรมยุตองค์แรก ประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มที่ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ โดยใช้ศิลปะเขมรผสมผสานกับศิลปะโรโคโคแบบตะวันตก ประดับตราพระราชลัญจกรของพระมหากษัตริย์ 5 รัชกาลที่ปลายกรอบซุ้ม พร้อมชมภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนสีเฟรสโกเรื่องมหาเวสสันดรชาดก จากนั้นชมความงดงามของศาลาการเปรียญที่สมเด็จครูทรงออกแบบโดยปรับปรุงจากศาลาการเปรียญของวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ชมบุษบกธรรมาสน์และสังเค็ดที่สมเด็จครูจำลองแบบจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลกและวัดใหญ่สุวรรณาราม จากนั้นสักการะพระนิพพานทรงญาณ พระพุทธรูปปางปรินิพพานที่สมเด็จครูทรงออกแบบให้มีลักษณะผสานกันระหว่างอุดมคติและความสมจริงเหมือนสามัญมนุษย์อย่างงดงาม
10.20 น. เดินทางไปยัง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
10.40 น. เข้าชม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พระอารามซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นโดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นวัดสำหรับพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ และถือเป็นวัดแรกที่สร้างขึ้นเพื่อคณะสงฆ์ธรรมยุต ด้วยเหตุที่วัดธรรมยุตอื่นๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้นเป็นวัดที่แปลงมาจากฝ่ายมหานิกายทั้งสิ้น เข้าสักการะพระพุทธสิหังคปฏิมากรและพระพุทธสิหังคปฏิมากรน้อย พระประธานที่ประดิษฐานภายในบุษบกภายในพระวิหารหลวง โดยรัชกาลที่ 4 ทรงหล่อจำลองจากพระพุทธสิหิงค์ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล และประดิษฐานพระบรมอัฐิใต้ฐานพระประธาน ชมจิตรกรรมภาพพระราชพิธีสิบสองเดือนสมัยรัชกาลที่ 5 แต่สะท้อนภาพบ้านเมืองในช่วงรัชกาลที่ 4 จากนั้นชมปราสาทพระไตรปิฎก เป็นปราสาทแบบเขมรสร้างใหม่แทนปราสาทหลังเดิมที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างถวาย และปราสาทพระบรมรูป เป็นปราสาทแบบเขมรยอดจตุรพักตร์ สร้างขึ้นใหม่แทนปราสาทหลังเดิมเพื่อประดิษฐานพระบรมรูปหล่อเท่าพระองค์จริงของรัชกาลที่ 4 ฝีพระหัตถ์พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ใกล้เคียงกับพระบรมรูปในปราสาทพระเทพบิดร ชมบุษบกธรรมมาสย์ยอดมงกุฎ ภายในการเปรียญซึ่งโดยปกติไม่เปิดให้เข้าชม
11.50 น. เดินเท้าไปชม พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 4 บริเวณหน้าพระวังสราญรมย์ สร้างขึ้นตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 4 ที่สร้างเพื่อเป็นที่ประทับหลังจากสละราชสมบัติให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ที่ทรงบรรลุนิติภาวะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทน พร้อมฟังพระราชประวัติของพระองค์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงพระผนวช จนกระทั่งการขึ้นครองราชสมบัติจากวิทยากร
12.30 น. รัประทานอาหารกลางวัน ที่ร้านพูลสิน ภัตตาคาร
13.30 น. ออกเดินทางสู่ วัดบรมนิวาส
14.00 น. ถึง วัดบรมนิวาส รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่เพื่อเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสีหรือวัดป่าคู่กันกับวัดบวรนิเวศวิหาร ชมพระอุโบสถซึ่งประดิษฐานพระทศพลญาณ พระประธานปางมารวิชัยชมจิตรกรรมฝาผนังที่รัชกาลที่ 4 ทรงพระปรีชาสามารถในทางดาราศาสตร์สมัยใหม่ถ่ายทอดให้กับขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 4 เขียนภาพเป็นเทคนิคสีฝุ่นแบบตะวันตก เป็นภาพเขียนจักรวาลวิทยาตามหลักดาราศาสตร์ที่มีดาวเคราะห์ครบทั้ง 8 ดวง อีกทั้งด้านหลังของพระประธานยังมีรูปดวงอาทิตย์ที่เข้ามาแทนที่ศูนย์กลางจักรวาลแบบเดิมคือเขาพระสุเมรุที่หาชมได้ยากยิ่ง จากนั้นเข้าชมเจดีย์ทรงลังกาจากศรีลังกาภายในคูหาของพระเจดีย์ประธาน ที่แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างคณะธรรมยุตกับนิกายเถรวาทจากลังกา
15.00 น. เดินทางไปยัง วัดปทุมวนาราม
15.30 น. ถึง วัดปทุมวนาราม รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี มีเจดีย์ประธานทรงลังกาล้อมรอบด้วยพระเต้าปทุมนิมิตปูนปั้นเป็นสื่อสัญลักษณ์ถึงนามของวัด สักการะพระไส หรือพระสายน์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยจากเวียงจันทน์ภายในพระอุโบสถ พร้อมชมภาพจิตรกรรมฝาผนังภาพสระบัวบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่จงใจวาดขึ้นให้สอดคล้องกับนามของวัด จากนั้นสักการะ พระเสริมและพระแสน พระพุทธรูปเก่าแก่แบบศิลปะล้านช้างภายในพระวิหาร พระเสริมเป็นพระพุทธรูปพี่น้องกับ “พระสุก” และ “พระใส” ตามตำนาน ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 กองทัพสยามเดินทางไปตีเมืองเวียงจันทน์เพื่อปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ ส่วนพระแสนเดิมประดิษฐานอยู่ในถ้ำที่เมืองมหาไชย แขวงล้านช้าง แต่ได้เชิญมายังกรุงเทพฯ เมื่อรัชกาลที่ 4 มีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณจากล้านช้างมาประดิษฐานไว้ในพระอารามที่ทรงสร้างขึ้นใหม่หลายแห่ง ผลงานของช่างฝีมือในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีความโดดเด่นในด้านการจัดองค์ประกอบภาพด้วยระบบทัศนียวิทยา อันเป็นอิทธิพลของการเขียนภาพแบบตะวันตก เขียนอิงเรื่องราวจากนิทานพื้นบ้านเรื่องศรีธนญชัย สอดแทรกวิถีชีวิตและการแต่งกายของผู้คนในสมัยนั้น ภาพกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเสด็จพระราชดำเนินทรงถวายผ้าพระกฐินของรัชกาลที่ 4 ยังวัดปทุมวนาราม และภาพพระพุทธเจ้าและตรีกายของพระพุทธเจ้าตามคติมหายาน–ตันตรยาน ที่มีความซับซ้อนในเชิงสัญลักษณ์มากที่สุดภาพหนึ่งจากสมัยรัชกาลที่ 4
17.00 น. เสร็จสิ้นกิจกรรมการเดินทางพร้อมความประทับใจ
***กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องแจ้งให้ท่านทราบล่วงหน้า***
พิกัดจุดนัดพบ : วัดราชาธิวาส https://bit.ly/35agawM