วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่ออุทิศถวายแก่พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ ทั้งยังเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ โดยมีพระราชประสงค์เพื่อที่พระองค์รวมถึงบรรดาเจ้านายตลอดจนข้าราชการ จะได้ไปทำบุญที่วัดฝ่ายธรรมยุตได้สะดวก เนื่องจากอยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง
แม้ว่าวัดแห่งนี้จะมีพื้นที่ไม่กว้างขวางมากนัก แต่ภายในกลับมีศาสนสถานและวัตถุที่สำคัญเกินกว่าจะจินตนาการ โดยเฉพาะภายในพระวิหารหลวง นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญต่างๆ อาทิ พระพุทธสิหังคปฏิมากร พระประธานที่ตั้งอยู่ภายในบุษบกที่สุดแสนตระการตาแล้ว ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงามที่ถือเป็นก้าวใหม่ของวงการศิลปะในยุคนั้น ด้วยลักษณะแบบผสมผสานระหว่างจิตรกรรมไทยประเพณีและศิลปะตะวันตก ถ่ายทอดเรื่องราวพระราชพิธี 12 เดือน ที่รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้วาดขึ้นมาเพื่อให้เห็นจุดเปลี่ยนของธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนศาสนาและความเชื่อของยุคสมัย ผ่านงานจิตรกรรมบอกเล่าเป็นเรื่องราวต่างๆ แต่จะมีเรื่องราวใดบ้างนั้น เราไปชมและเรียนรู้พร้อมๆ กันเลย
สำหรับพระราชพิธีแรกตามลำดับนั้นคือ พระราชพิธีลอยประทีปทางน้ำ ซึ่งจัดขึ้นในเดือน ๑๒ ของทุกปี ถือเป็นงานนักขัตฤกษ์ทั่วไปไม่ใช่แต่เฉพาะของหลวงเท่านั้น โดยในภาพมีการจำลองการลอยประทีปในเวลากลางคืน ด้านหลังเป็นฉากบริเวณท่าราชวรดิฐ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกของบรมมหาราชวัง มีพระที่นั่งหมู่ 4 องค์ ด้วยกัน ได้แก่ พระที่นั่งทิพยสถานเทพสถิต พระที่นั่งชลังคพิมาน พระที่นั่งอนงค์ในสราญรมย์ และพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ขนาบด้วยป้อมอินอำนวยศรทางด้านขวา และป้อมพรหมศิลป์ทางด้านซ้าย แต่ในปัจจุบันถูกรื้อทิ้งเหลือเพียงพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยเพียงที่เดียวเท่านั้น
จากภาพจะเห็นข้าราชบริพารแต่งกายกันอย่างสวยงาม รวมตัวกันด้านหน้าพระที่นั่งทิพยเทพสถิตริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีกระบวนเรือหนาแน่นทั้งเรือพระที่นั่งและเรือราษฎร เมื่อมองทางด้านขวามีเรือทอดกัญญา 2 ลำจอดขนานกันเป็นที่ประทับ มีทั้งเจ้านายและเจ้าพนักงานฝ่ายในอยู่ในลำเรือ ถัดมาเป็น “กระทงหลวง” เป็นเรือรูปสัตว์ขนาดเล็กปิดทองสำหรับลอยพระประทีป ใกล้กันนั้นเป็นเรือ “กระทงใหญ่” ที่บรรดาเจ้านายและข้าราชการทำทูลเกล้าฯ ถวาย อีกทั้งด้านล่างเป็นเรือบรรทุกดอกไม้ไฟ ทุ่นวางคบไฟ และเรือของราษฎรอยู่มากมาย
พระราชพิธีที่ 2 คือ พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้อง จัดขึ้นในเดือนอ้าย หรือเดือน 1 มักจัดขึ้นโดยไม่ได้กำหนดวันเวลาที่แน่นอน แต่จะขึ้นอยู่กับเวลาที่กุ้งมีมันมากพอสำหรับทำไส้ขนมเบื้องเท่านั้น จะมีการเลี้ยงพระสงฆ์ภายในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยจำนวน 80 รูป โดยเกณฑ์เจ้านายและเจ้าพนักงานฝ่ายในมาตั้งเตาละเลงขนมเบื้อง บริเวณปะรำพิธีข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
เรื่องราวในภาพจะเห็นพระราชาคณะถือพัดยศเดินมากับเด็กวัดเป็นกลุ่มตรงเข้ามายังพระทวารหน้าพระทวารเทเวศร์รักษา โดยมีข้าราชบริพารฝ่ายหน้ายืนรอให้การต้อนรับ ส่วนอีกทางด้านมองเห็นบรรดาสตรีฝ่ายในกำลังสาละวนกับการละเลงขนมเบื้องกันอย่างคึกคักและเร่งรีบกันเลยทีเดียว
พระราชพิธีที่ 3 คือพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย ซึ่งจัดขึ้นในเดือนยี่ หรือเดือนที่ 2 เป็นพิธีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยมีความเชื่อกันว่าเป็นการรับเทพเจ้าทั้ง 2 พระองค์ คือพระอิศวรและพระนารายณ์ ที่จะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละ 1 ครั้ง
เป็นภาพบรรยากาศบริเวณเสาชิงช้าหน้าพระวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม คราคร่ำไปด้วยผู้คน ทั้งยังมองเห็นศาลาลอย 4 หลังที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างให้เป็นที่ประทับสำหรับพระองค์และบรรดาเจ้านายทอดพระเนตรการโล้ชิงช้าอยู่ด้านหน้าวัด ด้านหน้ามีการตั้งเสลี่ยงสำหรับทรงเทวรูป แวดล้อมด้วยบรรดาพราหมณ์กำลังถวายสักการะ มีพุ่มดอกไม้เพลิง 5 พุ่ม สำหรับทรงจุดบูชาแห่เทวรูปพระเป็นเจ้ามายังลานพระราชพิธี
พระราชพิธีที่ 4 คือ พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน พระราชพิธีนี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากชาวจีนได้นำสิ่งของมาถวายพระองค์มากมาย จึงได้จัดบำเพ็ญพระราชกุศล โดยโปรดให้มีเลี้ยงพระสงฆ์รวมกัน 3 วัน อีกทั้งให้ภริยาของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จัดเรือขนมจีนมาถวายเปลี่ยนเวรกันไปตลอดทั้ง 3 วัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงรับสั่งขนมจีนไม่ใช่ของกินแบบจีน จึงทรงเปลี่ยนมาเป็นเลี้ยงเกาเหลาแทน ทั้งยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลหลังคาเก๋งขึ้น พร้อมเชิญเทวรูปและเจว็ดมุขในหอแก้ว ลงไปตั้งถวายเครื่องสังเวยตลอดทั้ง 3 วัน ให้อาลักษณ์อ่านกลอนลิลิตเทวพลี นอกจากนี้ได้เพิ่มเครื่องเซ่นอย่างจีนที่หน้าพระพุทธรูป เช่น แตงโม ขนมเข่ง กระเทียมดอง สิงโต น้ำตาลทราย และส้ม เป็นต้น
เป็นภาพแม่น้ำเจ้าพระยา มีชาวบ้านทั้งชาวสยามและชาวจีนกำลังแจวเรือขึ้นไปทางทิศเหนือ อีกมุมหนึ่งมองเห็นพระสงฆ์นั่งฉันสำรับหันหน้ายังแม่น้ำเจ้าพระยา ทางด้านหน้ามีเรือเกาเหลาหรืออาจจะเป็นเรือขนมจีนของบรรดาเหล่าภริยาข้าราชการและฝ่ายในมาเทียบที่ท่า ซึ่งเตรียมของมาเปลี่ยนถวายนั่นเอง
พระราชพิธีที่5 คือ พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ จัดขึ้นในช่วงเวลาต่อเนื่องระหว่างเดือน 4 และเดือน 5 เป็นพระราชพิธีประจำปี ทำเพื่อให้เป็นสิ่งมงคลแก่พระนคร ในพิธีจะมีการแจกจ่าย“กระบองเพชร” ที่มีลักษณะเป็นไม้เหลากลม ให้ช่วยคุ้มครองจากสิ่งเลวร้ายไม่ให้มากล้ำกราย อีกทั้งในพระราชพิธีจะมีการยิงปืนอาฏานา หรือการยิงปืนใหญ่ เพื่อให้เสียงช่วยขับไล่บรรดาภูตผีปิศาจกันตามความเชื่อกันอีกด้วย
ในภาพแสดงรูปด้านหน้าพระที่นั่งสวนดุสิตมหาปราสาท มีพระสงฆ์กำลังขึ้นบนพระที่นั่งเตรียมสวดอาฏานาฏิยปริตร มุมทางตะวันตกมีภาพอาคารทรงไทย สันนิษฐานว่าคือ หอธรรมสังเวช ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างสำหรับไว้พระศพเจ้านายฝ่ายใน บริเวณด้านนอกกำแพงพระบรมมหาราชวังมีเจ้าพนักงานกำลังยิงปืนอาฏานาและเกิดไฟแลบจากปากกระบอกปืน ส่วนภายในกำแพงเห็นนางในกำลังทำบุญตักบาตร ไกลออกไปเห็นเด็กชาวบ้านกำลังเล่นว่าวจุฬากับว่าวปักเป้าแข่งกันอย่างสนุกสนาน
พระราชพิธีที่ 6 คือ พระราชพิธีสงกรานต์และพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน หรือ“พิธีทอดเชือก ดามเชือก” สำหรับพิธีหลังนี้เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 4 โดยจัดขึ้นเพื่อสร้างความเป็นมงคลแก่บรรดาช้างศึกและม้าศึก สัตว์พาหนะสำคัญในการทำสงคราม มีการจัดมณฑลพิธีใหญ่ ณ บริเวณท้องสนามหลวง โดยนำบรรดาช้างต้น ม้าต้น รวมไปถึงเหล่าช้างม้าสำคัญอื่นๆ ออกมาเดินแถวเพื่อให้เหล่าพระราชครูและราชบัณฑิต ตลอดจนบรรดาพราหมณ์ทั้งหลายประพรมน้ำมนต์ไปตลอดทั้งขบวน เพื่อความเป็นสิริมงคลของสัตว์พาหนะที่สำคัญเหล่านี้
ภาพนี้เขียนเป็นฉากตรงหน้าพระที่นั่งไชยชุมพลเป็นพลับพลาน้อยบนกำแพงทิศตะวันออกหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้นขนาบด้วยป้อมเล็กๆ ทั้งด้านซ้ายขวา มีบรรดาเหล่าบุรุษและสตรีนั่งชมกระบวนอยู่ภายนอกกำแพง นำโดยกระบวนหน้าสุดเป็นช้างผูกสัปคับ รองถัดมาเป็นกระบวนพระยาวานรเผือกบนคานหามกั้นสัปทน ตามมาด้วยกระบวนม้าพระที่นั่ง กระบวนโค แล้วจึงเป็นกระบวนช้างผูกเครื่อง
พระราชพิธีที่ 7 คือ พระราชพิธีวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายข้าราชการตั้งโต๊ะลายครามกัน ต่อมาทรงเปลี่ยนให้ทำโคมตราตำแหน่งแทน โดยแขวนไว้ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งมีโคมตราหลวงแขวนที่บานประตูพระอุโบสถ
อีกพระราชพิธีหนึ่งคือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เนื่องจากในระยะเวลานี้เป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝน จึงเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักในอดีต ดังนั้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญกำลังใจของบรรดาเกษตรกรทั้งหลาย จึงได้จัดพระราชพิธีนี้ขึ้นมา แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่นๆ
ในภาพแสดงเห็นพระยาแรกนากำลังจับยามไถใต้สัปทน ชาวพนักงานถือเครื่องสูงและเครื่องประโคมล้อมเป็นวง มีพระโค 2 ตัวเทียมเอก โดยพระยาแรกนาจะไถดะไปเป็นวงรี 3 รอบ แล้วไถไปแปรโดยกว้าง 3 รอบ เมื่อเทพีหาบกระเช้าเงินกระเช้าทองอย่างละ 2 คนออกไปให้พระยาแรกนาโปรยหว่านข้าวแล้วไถลกลบอีก 3 รอบ แล้วจึงปลดพระโคออกมากินเลี้ยงของเสี่ยงทาย
พระราชพิธีที่ 8 คือ พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสลากภัต เป็นพระราชพิธีที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มขึ้นในเดือน7 ด้วยเป็นช่วงเวลาที่เว้นว่างจากพระราชพิธีทั้งปวง การถวายสลากภัตเป็นพิธีซึ่งพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตให้พระสงค์สามารถจับฉลากของที่ฆราวาสนำมาถวายได้ โดยมีการจัดขบวนแห่อย่างเอิกเกริก มีละครฝ่ายในหรือการให้เด็กสาวแต่งกายงดงาม หรือบางครั้งก็มีทั้งรถบรรทุกสิ่งของเป็นสำรับอาหารคาวหวานหรือผลไม้ตามฤดูกาลประกอบอยู่ด้วยในขบวน
ในภาพแสดงกระบวนแห่สลากภัตจากท้ายพระบรมมหาราชวังมายังวัดราชประดิษฐฯ นำขบวนโดยวงพิณและปี่พาทย์ ภายในขบวนมีบรรดาหญิงสาวแต่งกายอย่างงดงาม บริเวณหัวขบวนมีเด็กๆ เกล้าผมจุกสวมเกี้ยวพร้อมทั้งเครื่องประดับด้วยทองอร่ามตา อีกทั้งยังมีหญิงสาววัยแรกรุ่นทัดกรรเจียกหาบสลากภัตเป็นคู่ๆ เปิดโอกาสให้บรรดาชายหนุ่มแห่กันมองได้อย่างใกล้ชิดตลอดทั้งขนวน
พระราชพิธีที่ 9 คือ พระราชพิธีเข้าพรรษา เป็นช่วงที่พระสงฆ์อยู่ในพระอารามในช่วงฤดูฝน อันเป็นช่วงที่พืชผลกำลังเริ่มเจริญเติบโต เป็นเวลา 3 เดือน ถือเป็นโอกาสที่พุทธศาสนิกชนจะได้เข้าวัดทำบุญถวายสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ส่วนทางราชสำนักเองก็มีธรรมเนียมที่บรรดาเจ้านายพระองค์ต่างๆ จะได้ทรงผนวชในช่วงเข้าพรรษาที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกด้วย
จากภาพจะเห็นบรรยากาศขณะเจ้านายผู้ทรงเป็นนาคหลวงทรงสวมพระชฎาและทรงฉลองพระองค์ครุยกรองทองอย่างหรูหราเสด็จขึ้นบนเกยเพื่อทรงโปรยทาน มีเจ้าพนักงานถือพระกลดรอยู่ด้านหลัง บรรดามหาดเล็กบ่าวไพร่ต่างชุลมุนเบียดเสียดกันอยู่ด้านหลังเพื่อแย่งทานกันอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางความสนใจของหญิงสาวที่แอบย่องมาเก็บทานแข่งกับบรรดาบุรุษ
พระราชพิธีที่ 10 คือ พระราชพิธีพรุณศาสตร์ เป็นพิธีบวงสรวงที่จัดขึ้นในเดือนที่ 9 เมื่อฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล หากปีใดฝนตกตามปกติก็จะไม่ทำเพราะเชื่อว่าจะเป็นการกระหน่ำซ้ำไปกว่าเดิม สำหรับพระราชพิธีนี้จะใช้สนามหลวงเป็นที่จัดพระราชพิธี เช่นเดียวกับพระราชพิธีพืชมงคล
จากภาพบริเวณพลับพลาประกอบด้วย “พลับพลาโถง” 2 หลังติดกัน หลังหนึ่งใช้เป็นหอพระประดิษฐานพระพุทธรูปในการประกอบพระราชพิธี อีกหลังเป็นที่ประกอบพระราชพิธี มี“หอดักลม” เพื่อใช้ดักลมให้ลงที่พลับพลา ในทางด้านเหนือมีพลับพลาน้อยสำหรับทอดพระเนตรการทำนา มองเห็นโรงละครสำหรับเล่นบวงสรวง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วงดงาม ด้านนอกกำแพงมียุ้งฉางเป็นตึกสูง 2 ชั้น ไว้เก็บข้าวนาหลวงเรียงกันรอบพลับพลา
พระราชพิธีที่ 11 คือ พระราชพิธีสารท กวนข้าวทิพย์ พระราชพิธีนี้ตามความเชื่อที่ว่าเป็นการระลึกถึงพุทธประวัติ ตอนนางวิสาขาถวายข้าวทิพย์แด่พระพุทธเจ้า หรือพระอัญญาโกณทัญญะถวายยาคูแก่พระอดีตพุทธเจ้าก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ก่อนคนทั้งปวง ก่อให้เกิดความมงคลระงับโรคภัยแก่เจ้านายและขุนนาง โดยข้าวที่กวนในพระราชพิธีประกอบด้วยส่วนผสมจำพวกข้าว ธัญพืช น้ำนม น้ำอ้อย เนย ผลไม้สดและแช่อิ่ม จำนวนมาก ซึ่งผู้ที่จะสามารถกวนข้าวทิพย์ได้ต้องเป็นหญิงสาวในระดับพระเจ้าลูกเธอฯฝ่ายในจนถึงหม่อมเจ้าที่ยังพรหมจรรย์ และยังไม่มีประจำเดือน รวมถึงต้องนุ่งขาวห่มขาวในการประกอบพระราชพิธีนี้ด้วย
จากภาพบริเวณด้านทิศตะวันออกด้านหน้า มีศาลาโถง 2 หลัง ศาลาโถงด้านซ้ายเป็นบริเวณประกอบพิธีกวนข้าวทิพย์มีฝ่ายในนั่งกันอยู่เต็มศาลา บริเวณด้านหน้าศาลามีเตาไฟ 4 เตา ล้อมรอบด้วยรั้วราชวัติ ฉัตรธง มีเจ้านายฝ่ายในทรงพระภูษาประทับยองๆ ใช้ไม้กวนข้าวทิพย์ บริเวณทางด้านขวามีกลุ่มพระสงฆ์ราชาคณะต่างๆ เดินถือตาลปัตรพัดยศและย่ามเข้าสู่ซุ้มประตูกำแพงแก้วเพื่อสวดมนต์ในพระราชพิธี
พระราชพิธีที่ 12 คือ พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินทางสถลมารค การบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินหลวงเริ่มในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 ตามโบราณราชประเพณี เป็นประราชพิธีใหญ่ซึ่งพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินทั้งทางชลมาค(ทางน้ำ)และสถลมาค(ทางบก)
จากภาพแสดงให้เห็นภาพกระบวนแห่ผ้าพระกฐินหลวงบนหลังช้างและม้าคล้ายกับการแห่คเชนทรัศวสนาน มีราษฎรรอชมกระบวนอยู่ทั้ง 2 ข้างอย่างหนาแน่น อีกทั้งมีการจัดเลี้ยงโต๊ะพระราชทานแขกเมืองชาวต่างประเทศ ใกล้กันนั้นมีข้าราชบริพารฝ่ายหน้าอยู่กับข้าวของต่างๆ และได้มีการปักธงกระดาษเพื่อให้เข้าใจว่าเป็นเครื่องพระกฐินของหลวง
ข้อมูลและภาพ จากหนังสือพระราชประดิษฐพิพิธทรรศนา