วันเวลาที่เดินหน้าไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันหวนกลับ ทำให้กรุงเทพมหานครหรือเรียกแบบรวมๆ “ประเทศไทย” มีอายุมาได้ 237 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 238 เป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในรอบปีนักษัตรไทย คือ “ปีชวด” ซึ่งวันที่ 1 มกราคม 2563 ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามหลักสากลนั้น จะตรงกับวันพุธ ขึ้น 7 ค่ำ เดือนยี่ (มกราคม) แต่ยังคงเป็นปีนักษัตร “กุน” หากจะนับเอาปีชวดอย่างแท้จริงตามตำราโหราศาสตร์ ต้องเป็นวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2563 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 (มีนาคม) เอาเป็นว่าถ้ายึดถือตามหลักสากล คือ วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นวันขึ้นปีใหม่ จะเท่ากับคริสตศักราช (ค.ศ.) 2020 จุลศักราช 1381 มหาศักราช 1941 และ รัตนโกสินทร์ศก 238
ตามคติที่เชื่อกันมาแต่โบราณ การนำเอา “สัตว์” มานับเป็นปี มี 12 นักษัตรนั้น ยังหาต้นตอหลักฐานยังไม่พบ แต่พอปะติดปะต่อเค้าโครงบางอย่างในการนำเอาสัตว์มาใช้เป็นชื่อปีได้บ้าง ก่อนอื่นมาดูความหมายของคำว่า “นักษัตร” ราชบัณฑิตยสภาอธิบายนิยาม ว่าหมายถึงชื่อรอบเวลากำหนด 12 ปี เป็น 1 รอบ เรียกว่า 12 นักษัตร โดยกำหนดให้สัตว์ 12 ชนิด เป็นเครื่องหมายแต่ละปี เริ่มจาก “ปีชวด” มีหนูเป็นเครื่องหมาย “ปีฉลู” มีวัวเป็นเครื่องหมาย
“ปีขาล” มีเสือเป็นเครื่องหมาย “ปีเถาะ” มีกระต่ายเป็นเครื่องหมาย “ปีมะโรง” มีงูใหญ่เป็นเครื่องหมาย “ปีมะเส็ง” มีงูเล็กเป็นเครื่องหมาย “ปีมะเมีย” มีม้าเป็นเครื่องหมาย “ปีมะแม” มีแพะเป็นเครื่องหมาย “ปีวอก” มีลิงเป็นเครื่องหมาย “ปีระกา” มีไก่เป็นเครื่องหมาย “ปีจอ” มีหมาเป็นเครื่องหมาย “ปีกุน” มีหมูเป็นเครื่องหมาย
อย่างไรก็ตาม การใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ 12 นักษัตรนั้น มีในกลุ่มประเทศเอเชียเท่านั้น และเป็นประเทศใกล้ชิดหรือมีความสัมพันธ์กับไทย อาทิ จีน ญวน ญี่ปุ่น เกาหลี กัมพูชา ลาว ทิเบต ไทใหญ่ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยการรับแนวคิดเรื่อง 12 นักษัตร ปรากฏหลักฐานในหลายแห่ง เริ่มตั้งแต่ตำนานการตั้งจุลศักราช กล่าวว่าเริ่มต้นใช้จุลศักราช 1 เมื่อเช้าวันอาทิตย์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีกุนเอกศก ตรงกับพุทธศักราช 1182 เมื่อเห็นว่าเริ่มที่ปีกุน บ่งชี้ว่าปีนักษัตรมีมาก่อนปีจุลศักราช แต่จะเริ่มเมื่อใดนั้น ยังไม่สามารถชี้เฉพาะได้อย่างชัดเจน ส่วนศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กล่าวถึง “1214 สกปีมะโรง” ศิลปินแห่งชาติอย่าง “สมบัติ พลายน้อย” ตีความว่า เมื่อ พ.ศ. 1835 ไทยก็ได้ใช้ปีนักษัตรแล้ว หรืออาจมีใช้กันก่อนหน้านี้แล้วก็ได้เช่นกัน
หลักฐานน่าสนใจอีกแห่ง คือหนังสือพงศาวดารไทใหญ่ พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตอนหนึ่งกล่าวถึง 12 นักษัตร ว่า “ในนามสัตว์ 12 นักษัตรข้างไทยสยามนั้น น่าจะเลียนนามสัตว์ประจำองค์สาขาปีมาจากเขมรอีกต่อ จึงไม่ใช้นามปีตามภาษาไทยเหมือนไทยใหญ่ กลับไปใช้ตามภาษาเขมร ฝ่ายไทยใหญ่เล่าเมื่อคำนวณกาลจักรมณฑลก็ไพล่ไปเลียนนามปีและนามองคสังหรณ์อย่างไทยลาว หาใช้นามปีของตนเองไม่ และไทยลาวน่าจะถ่ายมาจากแบบจีน อันเป็นครูเดิมอีกต่อ แต่คำจะเลือนมาอย่างไรจึงหาตรงกันแท้ไม่ เป็นแต่มีเค้ารู้ได้ว่าเลียนจีน”
เมื่อสืบค้นถึงนักษัตรจีน นักวิชาการและนักเขียนจีนล้วนบอกตรงกัน “ตอบลำบาก” โดย “ซงเฉียวจือ” ผู้เขียนหนังสือ “โหราศาสตร์จีน 12 นักษัตรประยุกต์” บรรยายว่าจุดเริ่มต้นการใช้ 12 นักษัตรนั้นเป็นเรื่องที่ยากจะตอบ แต่คัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งกล่าวถึงเรื่อง 12 นักษัตร อย่างละเอียดและชัดเจน ปรากฏใน “คัมภีร์ลุ่นเหิง” ของ “หวางชง” สมัยตงฮั่น ในคัมภีร์นี้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง 12 นักษัตร โดยใช้หลักกำเนิดและข่มกันตามกฎเบญจธาตุ ความคิดนี้สอดคล้องกับข้อเสนอของ “โจวเซี่ยวเทียน” ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเสฉวน และคณะผู้เขียนหนังสือ “เปิดตำนาน 12 นักษัตรจีน” ซึ่งระบุว่าจากหลักฐานและข้อมูลเท่าที่มี พอจะระบุได้ว่า คติ 12 นักษัตรเกิดขึ้นก่อนสมัยฮั่นตะวันออกแล้ว (ค.ศ. 25-220)
“เจ้าอี้” ผู้คงแก่เรียนในสมัยราชวงศ์ชิง เขียนหนังสือชื่อ “ไกหวีฉงซู” มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่าด้วยการตรวจสอบกำเนิดแหล่งที่มาของ 12 นักษัตร แล้วสรุปว่า 12 นักษัตรเผยแพร่มากในสมัยตงฮั่น (ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก) ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีกล่าวถึงมากนัก “ฮูหานเสีย” ประมุขของชนเผ่าซ่งหนูเป็นผู้นำเข้ามาในจงหยวน (ตงง้วน) สมัยซีฮั่น (ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก) เห็นได้ว่าแนวคิดของเจ้าอี้ และลู่เหิงสอดคล้องกัน กล่าวคือ มองว่า 12 นักษัตรมาจากชนเผ่าส่วนน้อยทางตอนเหนือของจีน อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์ลุ่นเหิงไม่ได้บอกว่าทำไมถึงได้เอาสัตว์เหล่านั้นมาใช้เป็นชื่อปี
การเรียกชื่อปีเป็น 12 นักษัตรยังมีอยู่ในจารึกภาษาโบราณของตุรกีด้วย ทำให้สันนิษฐานได้อีกว่าบางทีอาจมีกำเนิดมาจากตุรกี ซึ่งเป็น “ตาด” สาขาหนึ่ง จีนอาจได้มาจากตาด แต่ก็มีคำถามว่าในโลกมีสัตว์มากมาย ทำไมต้องเลือกสัตว์ 12 ชนิดนี้มาเป็นสัตว์ประจำแต่ละนักษัตร ในบรรดา 12 ชื่อ มีทั้งสัตว์ที่มีอยู่จริง และสัตว์ในจินตนาการอย่างมังกร คำถามนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยไว้ด้วยว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่า การที่เอารูปสัตว์ใช้เป็นเครื่องหมายแทนสิ่งอื่น มีประโยชน์ให้จำสิ่งนั้นง่าย ถ้าหากชื่อปีใช้เขียนตัวอักษรและอ่านเรียกตามภาษาที่เขียน เมื่อพ้นเขตประเทศที่ใช้ตัวอักษรและภาษานั้นออกไปถึงนานาประเทศ ซึ่งต่างประเทศใช้ตัวอักษรและภาษาอื่น ชื่อปีที่บัญญัติก็ไม่มีใครเข้าใจ ไม่เป็นประโยชน์อันใด ถ้าเอารูปสัตว์ขึ้นตั้งเป็นเครื่องหมายแทนปี เช่น เอารูปหนูเป็นเครื่องหมายปีที่ 1 เอารูปวัวเป็นเครื่องหมายปีที่ 2 ประเทศอื่นๆ จะเรียกหนูเรียกวัวตามภาษาของตนว่ากระไรก็ตาม คงได้วิธีประดิทินสิบสองนักษัตรไปใช้ได้ตรงกันกับประเทศเดิมไม่ขัดข้อง…”
ขณะที่นักวิชาการอย่างโจวเซี่ยวเทียน ก็ยอมรับว่าคำอธิบายเพื่อตอบคำถามข้างต้นมีมาจากหลากหลายสำนัก แต่สำหรับเขาคิดว่า คำอธิบายที่สมเหตุสมผลคือ “เลือกตามช่วงเวลาการเคลื่อนไหว” โดยเลือกสัตว์ 12 ชนิด มาเป็นปีนักษัตร และจัดลำดับก่อนหลังโดยมีส่วนเกี่ยวกับ “ความเคลื่อนไหว” จากพฤติกรรมของสัตว์นั้นเป็นประการสำคัญ ในการอธิบายอาจต้องเอ่ยถึงการนับเวลาในสมัยโบราณ คนโบราณแบ่งเวลาในหนึ่งวันหนึ่งคืนเป็น 12 ชั่วยาม (เท่ากับ 24 ชั่วโมงของปฏิทินสุริยคติ) 1 ชั่วยามเท่ากับ 2 ชั่วโมง
12 ชั่วยามนี้จะถูกจับคู่กับ “ตี้จือ” (แผนภูมิสวรรค์ภาคปฐพี ใช้สำหรับนับวันและปีแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นคติสำคัญในด้านโหราศาสตร์จีน)
ช่วงแรกเรียกว่า ยามจื่อ หมายถึง 23 ถึง 1 นาฬิกา ถูกจับคู่กับหนู เนื่องจากเป็นเวลาที่หนูออกหากิน
ช่วง 2 เรียกว่า ยามโฉ่ว หมายถึง 1 ถึง 3 นาฬิกา ถูกจับคู่กับวัว เนื่องจากเป็นตอนที่วัวเคี้ยวเอื้อง
ช่วง 3 เรียกว่า ยามฉิน หมายถึง 3 ถึง 5 นาฬิกา ถูกจับคู่กับเสือ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เสือเพ่นพ่าน
ช่วง 4 เรียกว่า ยามเหม่า หมายถึง 5 ถึง 7 นาฬากา ถูกจับคู่กับกระต่าย เนื่องจากเป็นช่วงที่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น บนท้องฟ้าเห็นพระจันทร์ ตามตำนานเชื่อกันว่ามีกระต่ายอยู่บนดวงจันทร์ จึงให้คู่กับกระต่าย
ช่วง 5 เรียกว่า ยามเฉิน หมายถึง 7 ถึง 9 นาฬิกา ถูกจับคู่กับมังกร เนื่องจากตามตำนานแล้ว มังกรจะร่ายรำให้เกิดฝน
การสันนิษฐานเช่นนี้อาจทำให้มองเป็นการจับแพะชนแกะอยู่บ้าง แต่แนวคิดนี้สอดคล้องกับความคิดเห็นของซงเฉียวจือ คำถามหนึ่งที่แพร่หลายมากที่สุดไม่พ้นเรื่อง “แมว” ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด แต่กลับไม่มีใน 12 นักษัตร ซงเฉียวจือ อธิบายเรื่องนี้ ว่าก่อนหน้าจักรพรรดิฮั่นหมิงตี้ ประเทศจีนมีแต่แมวป่า ส่วนแมวบ้านที่ปรากฏในสมัยนี้นำเข้าจากอินเดีย หลังสมัยจักรพรรดิฮั่นหมิงตี้ แต่ 12 นักษัตรมีครบแล้วตั้งแต่ก่อนหน้านั้น จึงไม่มีที่ว่างสำหรับแมว แต่จากตำนานพื้นบ้านกลับมีเรื่องเล่าว่า ที่ไม่มีแมวในปีนักษัตร เพราะแมวถูกหนูทรยศ
ว่ามาเสียยืดยาว ถึงเวลาอำลา “ปีกุน” เข้าสู่ “ปีชวด” ซึ่งมีหนูเป็นเครื่องหมายประจำปีนี้ได้แล้ว เริ่มเรื่องจากคำว่า “ชวด” ก่อนทำไมจึงเป็น “ชวด” ที่มีหนูเป็นเครื่องหมาย เปิดจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน “ชวด” มี 3 ความหมาย ได้แก่ 1.เป็นชื่อปีที่ 1 ของปีนักษัตร มีหนูเป็นเครื่องหมาย 2.หมายถึงผิดหวัง ไม่ได้ดังหวัง 3.หมายถึง พ่อหรือแม่ของปู่ ย่า ตา ยาย ทวด ก็ว่า พจนานุกรมฉบับเดียวกันนี้ยังอธิบายว่าคำว่า “นักษัตร” เป็นภาษาสันสกฤต มี 2 ความหมาย ความหมายแรก หมายถึงดาวฤกษ์ ความหมายที่สองหมายถึงชื่อรอบเวลา กำหนด 12 ปี เป็น 1 รอบ เรียกว่า 12 นักษัตร โดยกำหนดให้สัตว์เป็นเครื่องหมายในปีนั้นๆ คือ ชวด-หนู ฉลู-วัว ขาล-เสือ เถาะ-กระต่าย มะโรง-งูใหญ่ มะเส็ง-งูเล็ก มะเมีย-ม้า มะแม-แพะ วอก-ลิง ระกา-ไก่ จอ-หมา กุน-หมู และยังมีเครื่องหมายในภาษาไทย ใช้กำกับคำ วลี หรือประโยคที่ต้องการเน้นเรียกว่าเครื่องหมาย อัญประกาศ หรือ ฟันหนู
นอกจากนั้น ในพจนานุกรมยังได้อธิบายว่า “หนู” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายสกุลใ นวงศ์ Muridae มีฟันแทะ มีอยู่ทั่วไปตามบ้านเรือนและในถิ่นธรรมชาติ มีหลายชนิด เช่น หนูพุกใหญ่ หนูท้องขาว เมื่อใช้เป็นคำวิเศษณ์ “หนู”หมายถึงเล็ก ใช้เฉพาะพรรณไม้บางอย่างที่มีพันธุ์เล็กหรือของบางอย่างที่มีขนาดเล็ก เช่น กุหลาบหนู แตงหนู หรือใช้ “หนู” เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 ผู้น้อยใช้พูดกับผู้ใหญ่ สรรพนามบุรุษที่ 2 ผู้ใหญ่ใช้เรียกผู้น้อย หรือคำสำหรับเรียกเด็ก มีความหมายไปในทางเอ็นดู เช่น หนูแดง หนูน้อย เป็นต้น
วนไปเวียนมาก็ยังไม่ได้คำตอบ ว่า ทำไม “ชวด” จึงหมายถึง “หนู” หรือทำไมปีหนูจึงได้เรียกเป็น “ปีชวด” ใครมีคำตอบที่ชัดเจนช่วยไขปริศนาด้วยจะเป็นพระคุณ