“แสลงใจ” สมุนไพรส่งออกสมัยโบราณ

Content พาเพลิน

เมื่อราวปลายปี พ.ศ. 2559 ผมเคยรายงานกิจการของ “ตลาดสวนชวนกิน – สวนเรียนรู้เกษตรพอเพียงเชิงนิเวศ” ในสวนเก่าของซอยเรืองสอน แขวงหลักสอง เขตบางแค ธนบุรี ไว้ว่า เป็นความพยายามดิ้นรนของชุมชนคนเช่าที่ทำสวนในย่านนี้ ซึ่งต้องเผชิญกับมลภาวะของแหล่งน้ำ ตลอดจนการรุกคืบของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์เท่าที่มีกำลังจะพอทำกันได้

จำได้ว่า ตอนนั้นผมยังได้ไปเยี่ยม “สวนเกษตรพอเพียงลุงจุก” และได้เอามาเขียนบอกกล่าวไว้ในคอลัมน์นี้ ถึงพื้นที่สวนเปิด ที่เราสามารถนั่งเรือเล็กไปเที่ยวชม พักผ่อน จับจ่ายซื้อหาผลผลิตเล็กๆ น้อยๆ เป็นการช่วยอุดหนุนวิถีของคนสวนเก่าเหล่านี้ด้วย

มาถึงวันนี้ พื้นที่ที่เคยพยายามปลูกฝรั่ง จำปี พุด ดอกรัก เตย กล้วย และโรงเพาะเห็ด ก็หมดสิ้นสภาพไปแล้วครับ กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรขนาดมหึมาซึ่งใกล้แล้วเสร็จ

มันก็เป็นไปตามสภาพความเปลี่ยนแปลงนะครับ เมืองใหญ่ที่ต้องรองรับผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมต้องขยายพื้นที่ใช้สอยออกมายังเขตเกษตรกรรมเดิมอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ อย่าว่าแต่การบริโภคพืชผลเกษตรของคนเมืองก็เปลี่ยนไปจนแทบหมดสิ้นแล้วเช่นกัน

ก็เลยมารายงานไว้เพื่อทราบครับ เผื่อใครเพิ่งได้อ่านบทความเก่านั้น จะได้ไม่ไปเก้อน่ะครับ สำหรับตัวผมเอง ก็นับว่ามีผลต่อการไปหาเก็บผักหญ้าข้างทางนิดหน่อย เพราะว่าพื้นที่ตรงที่ว่านี้ เป็นแหล่งพืชอาหารทั้งยืนต้นและล้มลุก ที่เคยไปหาเก็บผักกระถิน จิงจ้อ กะทกรก ลูกเถาคัน ผักโขม ยอดแค เป็นประจำมาแต่เดิม

ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา อย่าว่าแต่บ้านทาวน์เฮ้าส์ที่ผมอาศัยอยู่ตอนนี้ ก็ย่อมสร้างทับลงบนสวนผลไม้เก่าของใครบางคนเมื่อเกือบสามสิบปีก่อนเช่นกัน

นอกจากพืชอาหารที่บอกมา ผมเพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ ว่ามีไม้ยืนต้นอยู่ต้นหนึ่งริมลำประโดงเล็กๆ ที่แยกมาจากคลองบางอ้าย บริเวณย่านดังกล่าว ซึ่งตอนนี้สถานการณ์ก็สุ่มเสี่ยงจะถูกตัดโค่น ไถปราบพื้นที่เช่นกัน

มันเป็นไม้ใบเดี่ยว มีใบดกทึบ ต้นสูงราว 7 เมตร ผลเขียวๆ เปลือกแข็ง ซึ่งเมื่อสุกจะกลายเป็นสีส้ม เนื้อในเละๆ มีเมล็ดแบนๆ 2-3 เมล็ด ตอนแรก ผมนึกว่าเป็นมะพลับ หรือตะโกเสียอีก แต่ก็ไม่ใช่

ตอนที่ผมยืนเก้ๆ กังๆ ถ่ายรูปผลสีส้มๆ ของมันอยู่ ก็มีคุณน้าท่าทางใจดีเดินมาถามไถ่

“ถ่ายรูปน่ะได้นะคุณ แต่อย่าเผลอกินเข้าไปล่ะ” ครั้นผมถามว่า เขาไม่กินกันหรอกเหรอครับ คุณน้าก็ว่า “มันกินไม่ได้ ลูกมันเนี่ยคนแถวนี้เขาเอาไว้เบื่อปลา เบื่อหมาก็ยังได้น่ะ ไอ้ฉันก็จำไม่ได้แล้วว่าเขาเรียกต้นอะไร” นี่ดีนะที่ผมไม่ลองชิมดูตามนิสัยเดิม

ถ้าเป็นนักเรียนวนศาสตร์หรือโบราณเภสัช ผมคงสืบรู้นานแล้วว่านี่ต้นอะไร อย่างไรก็ดี ผมเก็บความสงสัยไว้หลายเดือน จนในที่สุดก็พบคำตอบโดยบังเอิญ ขณะที่อ่านหนังสือราชอาณาจักรสยาม โดยพระสยามธุรานุรักษ์ (le Royaume de Siam par M.A. de Gre’han) กงสุลสยามประจำกรุงปารีส เขียนไว้เมื่อปี ค.ศ. 1883 ตอนหนึ่งเขา

บรรยายสินค้าส่งออกของสยามว่า มีทั้งข้าว ปลิงทะเล หอยแมลงภู่แห้ง และ “ผลลูกแสลงใจ” ความที่ไม่รู้จักลูกแสลงใจ ผมเลยลองเอาคำภาษาฝรั่งเศสคำนั้นไปค้นหาในอินเตอร์เน็ต ก็พบว่า noix vomique ซึ่งเป็นศัพท์ในตำรายาฝรั่ง หมายถึง ‘เมล็ดแข็งที่ทำให้อาเจียน’ นี้ เมืองไทยมีใช้ในทางแพทย์สมุนไพรมาแต่โบราณ ทั้งยังมีหลายชื่อ เช่น แสลงโทน ดีหมี ตูมกาแดง โกศกะกลิ้ง ฯลฯ ในหนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ของ ดร. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม บอกว่า เมล็ดมีสารอัลกาลอยด์ มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทไขสันหลัง ใช้เบื่อสัตว์ เช่น ปลา หนู สุนัข และอาจใช้ผสมในยาดองเหล้าเพื่อการเจริญอาหาร กระตุ้นความรู้สึกทางเพศด้วย แต่ต้องใช้ในปริมาณน้อย

มันคือต้นเดียวกันกับที่ผมเล่ามานั่นเองแหละครับ แสดงว่า ถึงแม้คนสวนบางแค ปัจจุบันนี้หลายคนจะจำชื่อไม่ได้ แต่คุณสมบัติประการสำคัญ คือใช้ในการ “ล่า” วางยาสัตว์น้ำ สัตว์บก ของลูกแสลงใจ ก็ยังเป็นที่รู้จักและกล่าวขวัญกันอยู่จนทุกวันนี้

เอกสารของพระสยามธุรานุรักษ์นี้ยืนยันว่า ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ยังคงมีการส่งออกลูกแสลงใจไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งแถบเอเชียและยุโรป ซึ่งก็น่าจะเป็นการสั่งซื้อเอาไปเข้ายาสมุนไพรจำพวกกระตุ้นระบบประสาทนั่นเอง

ผมไม่รู้ว่าต้นแสลงใจริมลำประโดงต้นนั้นจะอยู่ไปได้อีกนานแค่ไหน แต่กรณีนี้ทำให้คิดได้ว่า เรา – หมายถึงคนเมือง มีความรู้เรื่องต้นไม้ใบหญ้าค่อนข้างน้อย ทั้งในแง่การหาเก็บกิน รวมทั้งฤทธิ์ในทางโบราณเภสัช ดังนั้น แน่นอนว่า จะยังคงมีต้นไม้ที่มีสรรพคุณสำคัญต่อการยังชีพของมนุษย์อีกนับไม่ถ้วน ที่จะต้องถูกตัดฟันทิ้งไป จากการปรับเปลี่ยนการใช้งานของพื้นที่เมืองสมัยใหม่

ถ้าเอา “ความรู้” เป็นที่ตั้ง เราก็น่าจะมีทางออกดีๆ ที่ไม่ใช่การจะไปยับยั้งขัดขวางวิถีการพัฒนา หากคือการจัดการอย่างเข้าอกเข้าใจ ในกรณีต้นไม้สำคัญ ก็อาจจะคือการตอน ชำกิ่ง ต่อกิ่ง เพื่อต่ออายุ หรือ “ล้อม” ต้นเดิม ย้ายไปปลูกที่อื่น แทนที่จะตัดฟันทิ้งไปเปล่าๆ ด้วยความรู้ไม่เท่าถึงการณ์

แต่ดูจากวิธีการตัดฟันต้นไม้ในเขตเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ของหน่วยงานรัฐเท่าที่ผ่านมาแล้ว เรื่องที่พูดกันนี้คงอยู่อีกไกลโขทีเดียว

ที่มา : วิถีท้องถิ่น                                                                                                                                                                                                                                                                                                                      ผู้เขียน : กฤช เหลือลมัย