เมื่อเอ่ยถึง ฐปณีย์ เอียดศรีไชย หรือ พี่แยม หลายคนคงรู้จักกันดีในบทบาทของผู้สื่อข่าวรายการข่าว 3 มิติ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 แต่อีกบทบาทหนึ่งที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคย นั่นคือ การเปิดเพจเฟซบุ๊ก ภายใต้ชื่อ “บ้านพี่แยม” ทำอาหารนานาชนิดส่งขายออนไลน์
พี่แยม เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า เดิมทีที่บ้านชอบทำกับข้าวกินเองอยู่แล้ว และมีความตั้งใจจะเปิดร้านขายอาหารโดยมีน้องชายที่ชอบทำและคิดสูตรอาหารขึ้นมาเองเป็นพ่อครัวหลัก
“พี่มีความรับผิดชอบต้องเลี้ยงดูครอบครัว จึงอยากหารายได้เพิ่มเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้นอกเหนือจากการทำข่าว เพราะงานข่าวอาจไม่แน่นอน แต่เรามีภาระรับผิดชอบที่มากขึ้น มีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจึงต้องหารายได้ทางอื่นมาจุนเจือครอบครัว คิดว่าจะทำอะไรเพื่อหารายได้เสริมตรงนี้ ประกอบกับมีน้องชายที่มีความสามารถทำอาหารอยู่แล้ว ส่วนตัวพี่เองก็ชอบทำอาหาร แต่ที่ผ่านมายังไม่มีเวลาเปิดเป็นร้านอาหารอย่างจริงจัง เพราะต้องเลี้ยงดูหลานและเราทำงานข่าวเป็นหลัก
เมื่อหลานเริ่มเข้าโรงเรียนจึงมีเวลามากขึ้นและเริ่มสนใจทำธุรกิจด้านนี้ โดยเปิดขายออนไลน์ก่อนก็ได้รับผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี” พี่แยม เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงสดใส
สำหรับเมนูที่ถนัด พี่แยม บอกว่า พี่ถนัดทำหมูหวานที่คิดสูตรขึ้นมาเอง เป็นเมนูที่กินคู่กับแกงส้ม และที่ถนัดทำอีกอย่างคือ เมนูผัดสะตอ อาหารพื้นบ้านทางภาคใต้ ส่วนคนปรุงเมนูอื่นๆ นั้นจะเป็นน้องชายที่ทำทั้งเครื่องแกงต่างๆ โดยปรุงรสตามสูตรเฉพาะของครอบครัว และก็มีเมนูเด็ดเป็นที่ติดอกติดใจของลูกค้าอีกอย่างคือ ขนมจีนน้ำยาปู ซึ่งน้องชายเป็นคนคิดสูตรอีกเช่นเคย
“แต่ก่อนก็จะทำขนมจีนน้ำยาใต้ปกติทั่วไป แต่เมื่อมีเพื่อนๆ ชมว่าอร่อยมากจึงเริ่มทำน้ำยาปู ลองเอาไปขายที่ตลาดนัดช่อง 3 จนหลายคนติดใจ หลังจากนั้นก็จะมีคนสั่งเข้ามาตลอด บางครั้งเราติดงานไปทำข่าวไม่มีเวลาก็ต้องพยายามบริหารจัดการ อาศัยว่าต้องมีออร์เดอร์เข้ามาเราจึงจะทำตามสั่ง หลังจากนั้นก็มีคนสั่งไปจัดเลี้ยงอยู่บ่อยๆ”
สำหรับเพจบ้านพี่แยมจะมีอาหารแปลกใหม่เป็นเอกลักษณ์และไม่เหมือนใครอีกหนึ่งเมนู ได้แก่ เมนู “ขนมจีนหม้อไฟ” โดยลองนำซีฟู้ดอาหารทะเลนานาชนิดมาใส่หม้อไฟและมีน้ำปรุงเป็นน้ำยาขนมจีนรสเด็ด “เมื่อพี่ลองลงรูปเมนูขนมจีนหม้อไฟในเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดีมาก จะมีลูกค้าสั่งออนไลน์เข้ามาตลอด ซึ่งตอนนี้เราเปิดให้สั่งออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กชื่อบ้านพี่แยม และรออีกประมาณ 2 เดือนถึงจะมีหน้าร้านเป็นของตนเอง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างรอตกแต่งร้านให้เสร็จ ขณะนี้จึงขายออนไลน์ไปก่อน โดยจะมีเมนูอาหารต่างๆ หมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน ซึ่งสามารถเข้าไปชมได้ทางเฟซบุ๊กบ้านพี่แยม”
หากถามถึงรายได้เมื่อมาขายอาหารออนไลน์ พี่แยม แย้มให้ฟังว่า “สำหรับออร์เดอร์ขนมจีนที่ลูกค้าสั่งออนไลน์มาวันหนึ่งได้มากสุดประมาณ 300 ชุด เท่ากับกำลังที่ครอบครัวเราจะทำไหว หากคิดเฉพาะกำไรวันหนึ่งได้กำไรถึงวันละ 10,000 บาทก็มีนะ ซึ่งทำให้เรามีกำลังใจเห็นช่องทางการหารายได้ให้ครอบครัวเพิ่มขึ้น”
แม้ว่าจะได้รับการตอบรับค่อนข้างดี แต่การทำงานหลายอย่างก็ย่อมมีอุปสรรค พี่แยม เล่าให้ฟังว่า “การที่เรามีคนรู้จักมากแล้วมาทำอาหารถือเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก เพราะมีหลายคนสนใจจะกินอาหารของเรา ถ้าของไม่อร่อยจริงก็วัดที่คุณภาพชื่อเสียงที่สั่งสมมา
การทำงานตรงนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ทำแบบเล่นๆ ต้องใส่ใจให้ความสำคัญมาก บางครั้งเราอาจไม่มีเวลาไม่ใช่คนปรุงอาหารทั้งหมดเป็นหลัก แต่เราก็ต้องคิวซีอาหารทุกอย่างให้มีคุณภาพ
สำหรับอุปสรรคในการทำงานช่วงแรกๆ เช่น เรื่องบรรจุภัณฑ์ เพราะต้องส่งอาหารไปไกลๆ มีฝาปิดไม่สนิทมีฝารั่วบ้าง ทำให้เราต้องหาแพ็กเกจใหม่ให้เหมาะสม โดยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้มีความสำคัญมากในการขายอาหารออนไลน์ ดังนั้น จึงต้องใส่ใจทุกขั้นตอน สิ่งไหนที่ไม่เคยทำก็ต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ เริ่มบริหารจัดการให้ดี คัดเลือกวัตถุดิบให้มีคุณภาพ หรือแม้กระทั่งการตรงต่อเวลา ซึ่งพี่ก็ต้องมาวางระบบต่างๆ เหล่านี้เพื่อต่อยอดเป็นร้านอาหารที่มีคุณภาพอย่างร้านบ้านพี่แยมต่อ”
เมื่อถามว่าทำไมจึงใช้ชื่อว่า “บ้านพี่แยม” พี่แยม ก็เล่าด้วยเสียงหัวเราะว่า “เกิดจากที่พี่ชอบชวนเพื่อนๆ มากินข้าวที่บ้าน และมักจะบอกว่า มากินข้าวบ้านพี่แยมกัน ประกอบกับที่บ้านเลี้ยงหลาน หลานก็จะเรียกพี่ว่า แม่แยมๆ เพื่อนๆ ก็จะแซวว่าทำไมไม่ใช้ชื่อครัวแม่แยม แต่พี่ไม่ใช่คนทำครัวเป็นหลัก คนทำจริงๆ คือน้องชาย พี่แค่ช่วยในบางครั้ง
บ้านพี่แยม จึงเหมือนคนที่บ้านพี่แยมทำกับข้าวให้กิน อยากกินอะไรบ้านพี่แยมจะทำให้กิน หรือเหมือนมากินข้าวที่บ้านพี่แยม”
สำหรับการต่อยอดต่อไปในอนาคต พี่แยม บอกว่า “ตัวพี่เป็นคนสงขลา อาหารพื้นบ้านของคนสงขลาที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ เต้าคั่ว ข้าวมันแกงไก่ หรือผลไม้อย่าง เงาะ ทุเรียน มังคุด สินค้าเกษตรต่างๆ ที่บ้านพี่เองก็ทำสวนและบ้านญาติๆ ก็ทำสวน จึงอยากต่อยอดโดยการนำของขึ้นชื่อหรือสินค้าเกษตรเหล่านี้มาขายควบคู่ไปกับการทำร้านอาหาร หรืออย่างพี่ไปทำข่าวที่ไหน เจอของกินอะไรอร่อยก็นำมาให้ชิมกัน และอยากให้บ้านพี่แยมเหมือนเป็นศูนย์รวมอาหารอร่อยต่อไปในอนาคต”
เมื่อคนทำข่าวหันมาทำกับข้าว สิ่งที่เขาทำจึงใช้ทั้งหัวใจใส่ลงไปในเนื้องานทุกอย่าง ผลออกมาจึงเป็นอีกมิติแห่งความสำเร็จที่น่าชื่นชม
ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|