มือใหม่ควรรู้! 3 สิ่งพึงระวัง ถ้าไม่อยาก “ขายดี” จน “เจ๊ง”
3 สิ่งพึงระวัง – หลายปีมานี้ แม้จะมีคนบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ค้าขายเงียบเหงา ในการค้าขายออนไลน์เอง อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็ยังเป็นช่องทางทำมาหากินที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่า มีนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีไอเดียเจ๋งๆ เกิดขึ้นมามากมาย มีการเข้ามาทำธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์กันเยอะ หลายคนประสบความสำเร็จมาก จนแบรนด์ติดตลาด สินค้าบริการต่างๆ ขายดิบขายดี
แต่ไม่ใช่ว่าทุกธุรกิจที่เติบโตเร็วจะไม่มีโอกาสเจ๊ง เพราะการเติบโตทางธุรกิจที่รวดเร็วนี้นี่แหละ ที่อาจทำให้ผู้ประกอบการมือใหม่ มองข้ามสิ่งสำคัญๆ ไป เว็บไซต์ SCB ได้แชร์บทความในการทำธุรกิจ เกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ประกอบการมือใหม่ต้องรู้ ถ้าไม่อยากขายดีจนเจ๊งเอาไว้ 3 ข้อคือ
1. ขายดี…แต่ไม่เคยมีกำไร
หลายคนทำธุรกิจแล้วอาจจะเกิดข้อสงสัยว่าทำไมยิ่งขายก็ยิ่งจน แม้ว่าจะขายสินค้าแพงกว่าราคาที่ซื้อมา แต่กลับไม่มีกำไรเลย เรื่องนี้นักธุรกิจมือใหม่อาจจะพบปัญหานี้เยอะ สาเหตุอาจมาจากการที่ผู้ประกอบการมักจะคิดแค่ ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้า จนลืมคิด ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการ นั่นเอง
เช่น เราอาจจะขายของที่ลูกค้าสั่งทำทั้งหมด ได้กำไร 2,000 บาท แต่อาจลืมไปว่ามันยังมีต้นทุนส่วนอื่นๆ อีกเช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าทางด่วน ค่าแรงตัวเอง และค่าใช้จ่ายระหว่างเดินทาง ไปๆ มาๆ ต้นทุนอื่นๆ คำนวณออกมาที่ 3,000 บาท ต่อให้ขายดิบขายดี มีออร์เดอร์เข้ามาเยอะแยะ แต่ลืมคิดต้นทุนการบริหารกิจการ ก็ไม่มีกำไรแน่ๆ ฉะนั้นแล้ว ผู้ประกอบการมือใหม่ควรสนใจรายละเอียดของต้นทุนทุกอย่าง และนำมาพิจารณาว่าควรตั้งราคาขายสินค้าอย่างไรให้ได้กำไรหรือไม่ขาดทุน
2. รวยดี…แต่ไม่มีเงินหมุนเวียน
ผู้ประกอบการบางคนอาจขายของเก่ง มีลูกค้าสั่งหรือใช้บริการทุกวัน แต่พอสำรวจเงินสดในกิจการแล้ว กลับไม่พบเงินในกระเป๋าอย่างที่คิด อาจจะเป็นเพราะว่ามีการทำธุรกิจโดยให้มีเครดิตเทอมที่ยาวนาน และลืมไปว่าตัวเองก็มีหน้าที่จะต้องนำเงินไปจ่ายค่าแรงคนงาน ค่าผู้ผลิตที่สั่งสินค้ามาขาย หรือค่าเช่าสถานที่
การบริหารกระแสเงินสด จึงเป็นเรื่องสำคัญ เงินสดควรเก็บจากลูกค้าให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด รวมถึงนำไปชำระให้กับเจ้าหนี้และจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างตรงเวลา เพื่อป้องกันดอกเบี้ยจากการผิดนัดชำระ หากเราขายของแล้วเก็บเงินไม่ได้สักที แถมยังมีรายจ่ายจ่อคอหอยอยู่เรื่อยๆ ก็เท่ากับว่า เราไม่สามารถหมุนเงินให้เกิดประโยชน์ได้ และเมื่อใดก็ตาม เงินสดที่มีอยู่ในมือนั้นหมดไป กลายเป็นว่าอาจต้องพึ่งพาเงินกู้จากที่ต่างๆ จนทำให้ยิ่งทำธุรกิจยิ่งจนลง เพราะดอกเบี้ยจากการยืมเงินมาหมุนในกิจการ แถมเป็นการสร้างผลกำไรให้กับเจ้าหนี้แทน
3. ไม่แยกเงินส่วนตัวและเงินธุรกิจ
นักธุรกิจมือใหม่เมื่อตั้งบริษัทขึ้นมา อาจมีความเข้าใจผิดหรือแยกไม่ออกในเรื่องเงินบริษัทและเงินส่วนตัว เมื่อขายของได้ก็นำเงินไปจับจ่ายใช้สอย เพราะคิดว่าได้เงินได้กำไรมาแล้ว ก็เอาไปสร้างความสุขให้กับตัวเอง แต่กลายเป็นว่านำเงินบริษัทไปซื้อของ เที่ยวต่างประเทศ จ่ายค่าเทอมลูก และพอถึงจุดๆ หนึ่ง ก็จะพบว่าเงินทุนในกิจการนั้นหายไป และอาจจะโชคร้ายกว่านั้นเมื่อถูกสรรพากรตรวจสอบรายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นของบริษัท และไม่สามารถแจ้งที่มาที่ไปของเงินบริษัทที่หายไปได้
การทำธุรกิจ จึงควรจะแยกกระเป๋าเงินของกิจการ ออกจากเงินส่วนตัว ธุรกิจมีรายรับรายจ่ายอะไรก็ควรบันทึกเอาไว้ว่าปัจจุบันมีเงินเหลือเท่าไหร่ และควรนำเงินไปทำอะไรเพื่อให้บรรลุความสำเร็จของธุรกิจ ในส่วนของเงินส่วนตัวจะได้มาในฐานะลูกจ้างของกิจการ เช่น ค่าจ้างหรือเงินเดือน ควรแยกทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อวางแผนสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง ให้ใช้จ่ายตามที่มี เหลือจากเก็บออมก็นำไปลงทุนต่อเพื่อให้บรรลุความสำเร็จทางการเงินส่วนตัว ต่อให้ขายดีแค่ไหน ถ้าแยกเงินส่วนตัวออกจากเงินของกิจการไม่ออกก็ทำให้เจ๊งได้ฉะนั้นแล้วการสร้างระบบเพื่อตรวจสอบเงินทองทั้ง 2 กระเป๋าจึงเป็นเรื่องสำคัญที่นักธุรกิจไม่ควรพลาด
ที่มา : SCB
ผู้เขียน : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์