จากหนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” ของนักเขียนน้องใหม่ “ธนินท์ เจียรวนนท์” เจ้าสัวติดอันดับรวยระดับประเทศ บกเล่าเส้นทางธุรกิจ วิธีคิด ที่ทำให้ค่ายซี.พี. เติบใหญ่ไปทั่วโลก ได้เล่าเกี่ยวกับธุรกิจอาหารอย่างน่าสนใจ…ความว่า…
“…อาหารเป็นสิ่งจำเป็นกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ตราบใดที่ยังมีมนุษย์อยู่ อาหารก็จะเป็นธุรกิจที่สำคัญอันดับ 1 เพราะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ต้องบริโภคทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 มื้อ คนสมัยนี้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป เร่งรีบ ไม่มีเวลาทำอาหาร อย่างตลาดยุโรปและสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มความต้องการที่เปลี่ยนแปลงจากเนื้อสัตว์มาเป็นอาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-eat) มากขึ้น ตลาดเอเชียก็จะไปทางนี้เหมือนกัน ลองไปดูตามเมืองใหญ่ๆ ไม่ว่าประเทศไหนก็จะเป็นอาหารพร้อมรับประทานวางขายอยู่ที่ร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ตมากมาย
ร้านอาหารจานด่วนก็เกิดขึ้นเยอะแยะ อย่าง McDonald’s และ KFC ก็มีอยู่ทั่วโลก หรืออย่างในฟิลิปปินส์ก็มีร้าน
Jollibee เป็นร้านอาหารจานด่วน (Food Chain Restaurant) ของเขาเองที่ประสบความสำเร็จ มีสาขาอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ “ธุรกิจอาหารยังมีโอกาสอีกเยอะ” ยิ่งทุกวันนี้ธุรกิจไม่มีพรมแดน โอกาสก็ยิ่งมาก เราต้องเอาวัตถุดิบมาแปรสภาพเป็นอาหารพร้อมรับประทาน และเน้นสร้างแบรนด์ขายไปทั่วโลก…”
“…ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จตลอดไป วันนี้ผู้บริโภคชอบรสชาติอาหารของเรา แต่กินนานๆ เข้า วันหน้าเขาก็เบื่อ ดังนั้นเราต้องพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา ต้องศึกษาหาข้อมูล “ทำไมคนไทยถึงกินไข่ไก่น้อยกว่าคนญี่ปุ่น กินหมูน้อยกว่าคนจีน ขนมไทยเอาไปขายทั่วโลกได้ไหม เอาน้ำผลไม้ไปขายดีไหม” เมื่อเรามีข้อมูลก็จะทำให้เราวิเคราะห์หาโอกาสทางธุรกิจได้มาก…”
“…ผมเชื่อว่าธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่มีโอกาส ซึ่งไม่ได้เป็นโอกาสเฉพาะสำหรับ ซี.พี. เท่านั้น แต่เป็นของนักธุรกิจทุกคนที่รู้จักหาข้อมูล เราต้องไม่ลืมหาทางรับมือกับอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น ทุกวันนี้สินค้า นอกจากต้องมีคุณภาพแล้ว ยังต้องคิดถึงสิ่งแวดล้อม แรงงาน และเรื่องเชิงสังคมอื่นๆ ด้วย ประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะประเทศตะวันตก ใส่ใจกับเรื่องนี้มาก ผู้บริโภคที่นั่นไม่ได้มองแค่ว่าสินค้าของเรามีคุณภาพ รสชาติถูกปาก แต่จะต้องมองไปตั้งแต่ต้นทางของสินค้า ว่าทำลายสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า ใช้แรงงานไม่ถูกต้องหรือเปล่า เราต้องติดตามให้ดี เพราะหลายเรื่องส่งผลสะเทือนอย่างมหาศาล รัฐบาลบางประเทศจะหยิบยกเอาประเด็นเหล่านี้มาใช้กีดกันทางการค้า ทำให้ส่งออกไปประเทศเขาไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่กระทบแค่บริษัทแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น แต่เหมารวมทั้งอุตสาหกรรมเลย
“… นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ซี.พี.ต้องทำธุรกิจแบบครบวงจร เพื่อควบคุมคุณภาพ สร้างมาตรฐานตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่ที่มาของวัตถุดิบ จนกระทั่งแปรรูปและขนส่งไปถึงมือผู้บริโภค ไม่จำกัดตัวเอง ไม่หยุดพัฒนา เส้นทางสู่การเป็น “ครัวของโลก” ยังเปิดรอธุรกิจไทยอยู่แน่นอน…”
เป็นเพียงบางตอนจากหนังสือ ยังมีเกร็ดอื่นๆ อีกมากมายให้อ่านเป็นแนวทางการทำธุรกิจ ยังมีเบื้องหลัง ความเป็นมาขององค์กรซี.พี. อยากรู้ความจริง ก็ต้องค้นหาอ่านต่อไป