จังหวัดตราด อยู่แนวชายแดนกัมพูชา ติดต่อกับ 3 จังหวัด คือ พระตะบอง โพธิสัตว์ และ เกาะกง โดยจังหวัดโพธิสัตว์มีชายแดนติดต่อกันระหว่างบ้านทมอดา อำเภอเวียลเวง จังหวัดโพธิสัตว์ กับบ้านท่าเส้น อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ระยะทางห่างจากจังหวัดตราดเพียง 37 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด 45 กิโลเมตร ปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตราดมีโอกาสต้อนรับคณะกลุ่มสตรีและผู้แทนประชาชนจากจังหวัดโพธิสัตว์ จำนวน 26 คน เรียนรู้การท่องเที่ยวชุมชนแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นแนวทางเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง ตราด-โพธิสัตว์ รองรับการยกระดับเป็นจุดผ่อนปรนทางการค้าเร็วๆ นี้
รูทท่องเที่ยวเรียนรู้ จากจุดที่เริ่มพัฒนา สู่แหล่งท่องเที่ยวที่พัฒนา
คุณวิยะดา ซวง นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตราด เล่าถึงคณะผู้มาเยือน นำโดย คุณหญิงฮุน จันที (Hun Chanthy) ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมสตรีกัมพูชาเพื่อสันติภาพและพัฒนาจังหวัดโพธิสัตว์ คุณเอ็ม พันนา (EM Ponna) ผู้แทนประชาชนจังหวัดโพธิสัตว์ กัมพูชา และคณะ จำนวน 26 คน เข้าศึกษาดูงานการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยจัดให้เรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง
เริ่มจากทีมวิทยากร รศ.ดร. พรรณี สวนเพลง จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน การแปรรูปวัตถุดิบในท้องถิ่นสู่ตลาดของที่ระลึก ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การสาธิตการทำสบู่ก้อนสกัดจากไม้กฤษณาหรือไม้หอม และการให้บริการนวดฝ่าเท้า คณะดูงานได้ลงมือปฏิบัติ การทำสบู่ แชมพู และรับบริการนวดฝ่าเท้าจากผู้ผ่านการฝึกอบรม ซึ่งเป็นผลผลิตของโครงการวิจัย จากนั้นเดินทางไปศึกษาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เริ่มจากวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ ที่กำลังก่อตัวตั้งไข่ที่บ้านตาหนึก อำเภอคลองใหญ่ เรียนรู้การทำปลาเค็ม กะปิ น้ำเคย ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น ในเส้นทางเดียวกันเยี่ยมชมท่องเที่ยวชุมชนตำบลไม้รูด ที่มีการบริหารจัดการรองรับนักท่องเที่ยวได้แล้ว การทำผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ขนมพื้นบ้าน และดูงานยกระดับการผลิตโรงงานอุตสาหกรรรมเครื่องสำอาง ขนาดเล็ก น้ำมันเหลืองใช้สมุนไพร ของ บริษัท โกลเด้น คอสเมติก จำกัด ที่ส่งจำหน่ายกัมพูชา และสัมผัสการร่อนพลอย งานจักสานคลุ้ม แหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่อำเภอบ่อไร่ ปิดท้ายด้วยการช็อปปิ้งสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าไทยยอดนิยมที่ห้างแมคโคร สาขาตราด
“คอนเซ็ปต์ของสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด คือ ต้องการให้คณะของจังหวัดโพธิสัตว์ได้เรียนรู้การท่องเที่ยวชุมชนเพื่อนำกลับไปใช้ได้จริง เพราะโพธิสัตว์มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ที่น่าสนใจ เพียงแต่ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ผลิตภัณฑ์ การบริการ ให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว จังหวัดตราด มีโอกาสดีที่มีประวัติศาสตร์เชื่อมโยง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบมราชินีนาถ ทรงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชาวกัมพูชาอพยพ ระหว่างปี 2522-2529 จัดทำพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ ศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน เล่าเรื่องราวไว้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของทริปของคณะท่องเที่ยวกัมพูชาทุกคณะ เพื่อมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ร่วมกัน ทำให้มีความสัมพันธ์ ความใกล้ชิดกับกัมพูชาแนบแน่นเสมือนญาติสนิท บรรยากาศของการศึกษาดูงานจึงเป็นไปด้วยมิตรภาพและความสนุกสนาน” คุณวิยะดา กล่าว
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ต่อยอดผลิตภัณฑ์ ค้นหาเอกลักษณ์จากโพธิสัตว์
รศ.ดร. พรรณี สวนเพลง หัวหน้าโครงการวิจัย “การพัฒนานวัตกรรมเชิงสุขภาพ ในกลุ่ม Active Beach (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด) เพื่อสร้างบริการมูลค่าสูง (High Value) และยกระดับให้เป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของเอเชีย (Wellness hub of Asia)” พร้อมด้วยคณะจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพการสอนนวดฝ่าเท้า โดยให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมมาให้บริการและสอนให้ทำ Home work เรียนรู้ไปโดยอัตโนมัติ โดยเฉพาะการทำสบู่ก้อนสกัดจากไม้กฤษณาหรือไม้หอมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น การแปรรูปวัตถุดิบในท้องถิ่นเป็นของที่ระลึกสู่ตลาด โพธิสัตว์มีวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์หลายอย่างที่นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนได้ เช่น พริกไทย ส้มเช้ง ไม้เทพทาโร ซึ่งต้องทำการศึกษาวิจัยต่อไป เพื่อสร้างความเชื่อมโยงท่องเที่ยวชุมชนกับจังหวัดตราด การลงพื้นที่ครั้งนี้ ทำให้คณะจากโพธิสัตว์ได้รับความรู้ด้านการบริการจัดการด้านการท่องเที่ยว การมีส่วนร่วมของชุมชน เห็นแนวทางที่ดึงเอาจุดเด่นหรือเอกลักษณ์ในชุมชนจังหวัดโพธิสัตว์มาใช้
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเล บ้านตาหนึก อำเภอคลองใหญ่
คุณฐิติรัตน์ ไชยวิศาลธนนาถ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเล บ้านตาหนึก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด กล่าวถึงคณะแม่บ้านโพธิสัตว์ว่า สนใจเรียนรู้วิธีการทำปลาเค็ม น้ำเคย และกะปิมาก เพราะโพธิสัตว์มีวัตถุดิบ ปลาน้ำจืด แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าซื้อ ทั้งด้านความสะอาด แพกเกจจิ้ง เห็นว่าการท่องเที่ยวชุมชนเป็นการกระจายรายได้อย่างแท้จริง คณะโพธิสัตว์สนใจจัดทำผลิตภัณฑ์ชุมชน เพราะชุมชนเขามีวัตถุดิบที่น่าจะนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายเช่นเดียวกับไทย เช่น ปลาน้ำจืด
“โอกาสของการท่องเที่ยวเชื่อมโยงจังหวัดชายแดน ตราด-โพธิสัตว์ ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน คณะมาดูงานผลิตภัณฑ์ ทั้งปลาเค็ม กะปิ น้ำเคย ที่ทำมาจากปลาทะเล ขายได้หมด มียอดเงินซื้อรวมประมาณ 20,000 บาท เพราะเห็นกระบวนการตากปลาในโดมสะอาด น้ำเคยที่ปรุงรสธรรมชาติ 100% น่ารับประทาน ต่อไปสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราดมีโครงการให้กลุ่มไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของจังหวัดโพธิสัตว์อีกด้วย อนาคตหากมีการเปิดจุดผ่อนปรนทางการค้า หรือจุดผ่านแดนถาวรกับกัมพูชาเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวเชื่อมโยงจะช่วยกระจายรายได้ให้เศรษฐกิจฐานรากด้วยกันทั้งสองประเทศ” คุณฐิติรัตน์ กล่าว
คุณวิยะดา กล่าวทิ้งท้ายว่า จังหวัดตราด มีภูมิศาสตร์ที่เป็นโอกาส สามารถเชื่อมโยงได้ทั้ง 3 จังหวัด ของกัมพูชา คือ โพธิสัตว์ พระตะบอง เกาะกง และเชื่อมโยงถึงเวียดนาม คณะดูงานจากโพธิสัตว์เป็นจุดเริ่มต้นอันดีสำหรับการสร้างเครือข่ายการค้าชายแดน การส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนภาคธุรกิจท่องเที่ยว สอดรับกับนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เชื่อมโยงเส้นทาง R3A ได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังช่วยให้จังหวัดตราดมีรายได้จากการท่องเที่ยวและการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต จากค่าใช้จ่ายจากคณะโพธิสัตว์ครั้งนี้ เฉลี่ยคนละ 5,000 บาท/ทริป (3 วัน 2 คืน) เคล็ดลับคือ การสร้างความประทับใจ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสนใจกลับมาเที่ยวซ้ำ และเชื่อว่าโอกาสมีสำหรับคนที่พร้อม
ณ วันนี้ โพธิสัตว์ เป็นเมืองท่องเที่ยว อันดับ 6 ของกัมพูชา นั่นคือ โอกาสเติบโตของการท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมกับจังหวัดตราด ที่พัฒนาไปก่อนและพร้อมจะให้การสนับสนุนเพื่อนบ้านที่เสมือนญาติสนิท
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
ผู้เขียน : กาญจนา จินตกานนท์