ในที่สุดโครงการจัดสร้างรูปปั้นขนาดครึ่งตัว “Kosa Pan : Le buste” หรือชื่อแบบไทยๆ ว่า “โกษาปาน อนุสรณ์สถานแห่งมิตรไมตรีที่ถนนสยาม” ได้สำเร็จสิ้นสิ้นไปอย่างงดงาม พร้อมนำไปประดิษฐานและเปิดตัวเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส ท่ามกลางความปลื้มเปรมทั้งฝ่ายไทยและฝรั่งเศส ว่ากันว่าคนฝรั่งเศสเองดูจะตื่นเต้นและอิ่มเอมมากกว่าคนไทยเสียอีก เพราะเป็นสิ่งที่อยากจะให้มีมานานแล้ว
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เรียกกันติดปากว่าโกษาปานเป็นราชทูตแห่งราชอาณาจักรสยาม ที่ได้อัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อนำไปถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส ในครั้งนั้นคณะราชทูตสยามได้เดินทางโดยทางเรือไปเทียบท่าที่เมืองแบรสต์ (Brest) ทางภาคตะวันตกของฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก เมื่อปีพุทธศักราช 2229 โดยได้รับการต้อนรับอย่างเอิกเกริก และด้วยไหวพริบปฏิภาณอันเฉลียวฉลาดหลักแหลมของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้สร้างความประทับใจและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศสยามอย่างมากมาย ถือเป็นปฐมบทแห่งความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศตราบจนทุกวันนี้ จึงกล่าวได้ว่า เจ้าพระยาโกษา ธิบดี (ปาน) เป็นทูตที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดทั้งในไทยและต่างประเทศ
กว่าสามศตวรรษที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศสมีความแน่นเฟ้นและเชื่อมโยงกันในหลายมิติ ทั้งทางด้านการทูต การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงด้านการศึกษาภาษาฝรั่งเศส โดยในปี 2532 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จฯ เพื่อทรงดูงานด้านการศึกษา ณ เมืองแบรสต์ ทรงตระหนักว่านอกจากเมืองแบรสต์มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว แบรสต์ยังเป็นศูนย์การศึกษาที่มีความเป็นเลิศด้านการสอนภาษาฝรั่งเศสให้กับชาวต่างชาติ จึงทรงมีพระดำริและรับสั่งให้สมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ที่ทรงก่อตั้งขึ้น จัดทัศนศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาและครูผู้สอนภาษาฝรั่งเศส ให้มีโอกาสไปศึกษาภาษาและวัฒนธรรม ณ เมืองแบรสต์ ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา มีนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมโครงการทัศนศึกษาดังกล่าวกว่า 1,000 คน เป็นการยกระดับการศึกษาระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ร่องรอยประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ฉันท์มิตรยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปในเมืองแบรสต์ เช่น ถนนสยาม (Rue de Siam) ถือเป็นอีกหนึ่งประจักษ์พยานแห่งมิตรภาพที่ทางการเมืองแบรสต์ได้มอบเกียรติสูงสุดแก่สยามประเทศ โดยเมื่อปีพุทธศักราช 2285 ทางการเมืองแบรสต์ได้เปลี่ยนชื่อ ถนนแซงต์ปิแอร์ (Rue de St.Pierre) ซึ่งเป็นถนนสายหลักของเมืองให้เป็นชื่อ “ถนนสยาม” (Rue de Siam) เพื่อเป็นเกียรติแก่คณะราชทูตสยาม รวมถึงป้ายรถรางไฟฟ้าชื่อ “สถานีสยาม” ตลอดจนหุ่นจำลองขบวนของคณะราชทูตสยาม ที่จัดแสดงใน ตูร์ ตองกี (Tour Tanguy) พิพิธภัณฑ์ประจำเมือง ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น
ดังนั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ และการสิ้นพระชนม์ของของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รวมถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันน่าจดจำนี้ สมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยฯ และพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมกันจัดสร้างรูปปั้นเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตไทยคนสำคัญของเหตุการณ์ในครั้งนั้น และได้นำไปประดิษฐาน ณ ถนนสยาม เมืองแบรสต์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความสัมพันธ์อันดีที่มีมาแต่อดีต สำหรับผู้ปั้นรูปของโกษาปาน คือ วัชระ ประยูรคำ
นอกจากกาปรระดิษฐานรูปปั้นโกษาปานที่เมืองแบรสต์แล้ว ยังมีแผนที่จะจัดทำรูปปั้นของโกษาปานขึ้นอีก 1 รูป เพื่อประดิษฐานที่พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี เป็นการแสดงถึงสายสัมพันธ์ระหว่างสองอาณาจักรที่มีโกษาปานเป็นจุดเชื่อมโยงอีกด้วย
ขณะที่ “ฌัก ลาปูฌ” เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวถึงอนุสาวรีย์รูปปั้นโกษาปาน ว่านับเป็นเครื่องหมายแห่งการเริ่มต้นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและสืบเนื่องยาวนานของฝรั่งเศสและประเทศไทย ราชทูตโกษาปานทำให้ชาวฝรั่งเศสรู้จักสยาม ซึ่งมีวัฒนธรรมที่ร่ำรวย ละเอียดอ่อน และงอกงามอยู่ระหว่างประเทศจีนและอินเดีย การค้นพบบันทึกรายวันการเดินทางของโกษาปานบรรยายเหตุการณ์และพรรณนาสิ่งพบเห็นขณะที่อยู่เมืองแบรสต์ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ก็ทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดราชทูตโกษาปาน จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักการทูตไทยรุ่นใหม่”
เฉพาะถนนสยามเองในฝรั่งเศสมีถึง 3 แห่ง เพราะความที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เฉลิมฉลองการมาถึงของโกษาปานมากกว่าคณะทูตคณะอื่นๆ ทั้งๆ ที่อย่างในยุโรป เจ้าแห่งเวเนเซีย เจ้าแห่งเวนิสก็ไป เจ้ากรุงมอสโควาก็ไป แต่การเฉลิมฉลองทำแต่โกษาปานเท่านั้น เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ แล้วถนนสยามตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกทำลายสิ้น มีการสร้างขึ้นมาใหม่อย่างที่เห็นทุกวันนี้