เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อันเป็นวันแห่งความรักหรือวันวาเลนไทน์ตามที่เราเชื่อกันมา สำหรับนิยามคำว่า “ความรัก” นั้น แต่ละท่านคงมีมุมที่แตกต่างกันออกไป แต่สำหรับผู้เขียนแล้วคงไม่มีความรักใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการรักโดยไม่มีข้อแม้ รักด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยมีความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้งอย่างแน่นอน
นอกจากจะเป็นวันแห่งความรักของใครหลายท่านแล้ว กรมศิลปากรยังได้จัดการเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “วิชชาแห่งบูรพา พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” ในวันดังกล่าว ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
“พระอวโลกิเตศวร” หรือ “พระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ” เป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญของพุทธศาสนามหายานที่มีผู้เคารพศรัทธามากที่สุด พระองค์เป็นตัวแทนของกรุณาบารมีและเป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์และเข้าถึงพระโพธิญาณ ความเสียสละที่ทรงมีต่อสรรพสัตว์ทั้งปวงในจักรวาล นับเป็นการแสดงความรักของพระองค์ที่มีต่อสรรพชีวิตทั้งหลาย จนกล่าวได้ว่าพระองค์คือ “ที่สุดแห่งกรุณาบารมี”
การัณฑหสูตรได้อธิบายถึงเจตนารมย์ของพระโพธิสัตว์องค์นี้ไว้ว่า
“ตราบใดก็ตาม ที่มวลสัตว์โลกยังมิได้พ้นทุกข์ และ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตราบนั้น ปณิธานแห่งองค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรยังไม่ได้ถึงซึ่งความสมบูรณ์”
นอกจากนี้ในความเชื่อของฝ่ายมหายาน ยังเชื่อว่าพระองค์คือผู้ที่จะมาช่วยนำมวลสัตว์โลกทั้งหลายให้พ้นทุกข์ ซึ่งต่างกับความเชื่อของฝ่ายเถรวาทที่เชื่อว่าตัวเฉพาะบุคคลเองเท่านั้นที่จะพาตนข้ามพ้นจากสงสารวัฏ
ดร.นันทนา ชุติวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดี กรมศิลปากร อธิบายถึงคุณลักษณะของพระโพธิสัตว์องค์นี้ไว้ว่า
“ความกรุณาอันล้นเหลือต่อโลกซึ่งทำให้พระองค์ปฏิเสธการเข้านิพพานจนกว่าสิ่งมีชีวิตทั้งจักรวาลจะหลุดพ้นทุกข์แล้ว พระโพธิสัตว์จึงเป็นที่พึ่งโดยแท้แก่โลก คุ้มครองช่วยเหลือโลกด้วยปัญญาและกรุณาบารมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวาระที่โลกอ้างว้างหลังจากพระปรินิพพานของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งและวาระกำเนิดของพระพทุธเจ้าองค์ใหม่ยังไม่มาถึง โลกมนุษย์ในปัจจุบันก็อยู่ในวาระดังกล่าวนี้ พระโพธิสัตว์จึงเป็นศูนย์แห่งศรัทธา และได้รับความนับถืออย่างมากในลัทธิมหายาน”
ด้าน ดร.อมรา ศรีสุชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดี กรมศิลปากร อีกท่านหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่า
“ความรักของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในโลกตะวันออกก็อาจเทียบได้กับความรักของเซนต์วาเลนไทน์ในโลกตะวันตกซึ่งก็นับเป็นความรักและการเสียสละโดยไม่มีข้อแม้เฉกเช่นเดียวกับที่พระโพธิสัตว์ทรงกระทำ และยังเป็นความรักที่ทุ่มเทด้วยความบริสุทธิใจนั่นเอง”
ถ้าอย่างงั้นแสดงว่าพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ก็เปรียบเสมือนตัวแทนของเซนต์วาเลนไทน์ของโลกตะวันออก จะเป็นเช่นนั้นหรือ?
ดร.อัมรา เล่าถึงเซนต์วาเลนไทน์ว่า
“เซนต์วาเลนไทน์มีชีวิตอยู่ในยุคโรมัน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 ท่านเป็นนักบวชในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งร่วมสมัยกับจักรพรรดิคลอดิอุสที่ 2 (Claudius II) ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว ซีซาร์กำลังมีนโยบายไม่ให้หนุ่มสาวโรมันแต่งงานกันเพราะเกรงว่าเมื่อรักกัน
แล้วจะมี “ห่วง” ซึ่งทำชายชาวโรมันไม่อาจจะแสดงศักยภาพในการรบได้เต็มร้อย จึงออกกฎไม่ให้คนหนุ่มสาวแต่งงานกัน”
“เมื่อเซนต์วาเลนไทน์ได้ทราบความดังนั้น ท่านจึงอาศัยความเป็นนักบวชลักลอบทำพิธีวิวาห์ให้คนได้แต่งงานกันตามพิธีกรรมที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ แม้จะผิดกฎหมายก็ตาม เมื่อทางโรมทราบเรื่องดังกล่าว ท่านจึงถูกจับขังและเตรียมโดนประหาร”
“ขณะอยู่ในคุกท่านได้เขียนจดหมายส่งให้บุตรสาวของผู้คุมความว่า “From your Valentine,” ก่อนจะถูกประหารในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.269 ทิ้งไว้เพียงแค่ตำนานการเสียสละในฐานะผู้ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อให้ผู้คนได้รักกัน นี่เป็นตำนาน “วันแห่งความรัก” แบบโลกตะวันตกที่เราคุ้นเคยกันอยู่จนทุกวันนี้”
ถึงแม้มุมมองความรักของทั้งสองเรื่องนี้จะมีความแตกต่างกัน ทั้งในเชิงแนวคิดปรัชญาและจุดประสงค์ปลายทางตามหลักของศาสนาก็ตาม แต่ทั้งสองก็มีความเหมือนกันในแง่ของการมอบความรัก ความปรารถนาดี และความเสียสละให้กับส่วนรวม ซึ่งหมายถึงทุกคนและทุกสรรพชีวิต ไม่ว่าจะรู้จักหรือไม่ จะรักหรือเกลียด จะเล็กหรือใหญ่ ก็ตาม
แม้ว่าความรักแบบแนวคิดของโลกตะวันตกที่ยึดการเสียสละของเซนต์วาเลนไทน์ จะมีความแตกต่างกับความรักแบบแนวคิดของโลกตะวันออกของพุทธศาสนามหายาน ที่ยึดถือการละกิเลส เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ทั้งมวลเป็นหลัก ไม่มีการให้ดอกไม้ ช็อกโกแล็ตหรือเขียนจดหมายรัก ดังเช่นปัจจุบันที่มีการรับวัฒนธรรมแบบตะวันตกก็ตาม แต่ไม่ว่าจะแนวคิดแบบใดก็ตาม “ความรักและความเสียสละ” นั้น งดงามเสมอ