สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป จัดการประชุมคณะวัตถุดิบข้าวโพดหวาน ครั้งที่ 1/2563 เพื่อหารือสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน และหารือแนวทางกำจัดวัชพืชด้วยเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตร
สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป โดย นายองอาจ กิตติคุณชัย อุปนายกและประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน จัดการประชุมคณะวัตถุดิบข้าวโพดหวาน ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ศุกร์ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมโนโวเทล เชียงใหม่ นิมมาน เจอร์นี่ย์ ฮับ จังหวัดเชียงใหม่
โดยได้ร่วมกันพิจารณา รายงานสถานการณ์วัตถุดิบข้าวโพดหวาน ด้านปริมาณการผลิตและพื้นที่เพาะปลูก สถานการณ์เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวาน ราคาวัตถุดิบและการส่งออกสินค้าข้าวโพดหวานปี 2562 รวมถึงหารือเกี่ยวกับโครงการกลยุทธ์กำจัดวัชพืชด้วยเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยมีคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัย
นายองอาจ กิตติคุณชัย เปิดเผยว่า สถานการณ์วัตถุดิบข้าวโพดหวานมีปริมาณลดลง ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ ภัยแล้ง การระบาดของหนอนกระทู้ลายจุด ซึ่งทำให้ผลผลิตลดลงได้ถึง 80% รวมถึงข่าวสารการระบาดของตั๊กแตนทะเลทรายในต่างประเทศ การกำจัดวัชพืชถูกจำกัดด้วยปัญหาการขาดแคลนแรงงานและต้นทุนทางการเกษตร เกษตรกรส่วนใหญ่จึงยังมีความมีความจำเป็นในการใช้สารเคมีในการควบคุมวัชพืช และด้วยความตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสารตกค้างจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร สมาคมฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกร โดยจัดโครงการกลยุทธ์กำจัดวัชพืชด้วยเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตร ซึ่งมีระยะเวลาโครงการ 1ปี
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีกาญจนา คล้ายเรือง อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การทดลองตามโครงการดังกล่าว จะเป็นการนำจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ร่วมกับสารสกัดจากพืช ในการกำจัดวัชพืชแทนสารเคมี เพื่อให้เป็นไปตามทิศทางด้านการเกษตรในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นการทำเกษตรปลอดภัยต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การวิจัยต่อยอดสู่การสังเคราะห์อนุภาคนาโนที่สามารถทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของวัชพืชในแปลงเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ในส่วนของงาน 2nd International Sweet Corn Conference 2020 ซึ่งสมาคมฯ มีกำหนดจัดงานในวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เพื่อเป็นเวทีสื่อกลางให้ผู้ผลิต นักวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจข้าวโพดหวานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน รวมถึงร่วมกันวางแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานนั้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทางสมาคมฯ มีความห่วงใยในสุขภาพของผู้ที่เข้าร่วมงาน และเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส จึงได้เลื่อนการจัดงานดังกล่าวไปก่อน โดยสมาคมฯจะแจ้งกำหนดการจัดงานให้ทราบในโอกาสต่อไป
ทั้งนี้การพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวโพดหวาน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ระบบน้ำเพื่อการเกษตร ต้นทุนการผลิตของเกษตกร รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเกษตร เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน นายองอาจ กล่าวทิ้งท้าย