อย. เน้นใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิววัสดุต่างๆ ที่ต้องสัมผัสอยู่เป็นประจำ ช่วยลดโอกาสการสัมผัสเชื้อและแพร่กระจายของเชื้อได้ โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเลขทะเบียนวัตถุอันตรายในกรอบเครื่องหมาย อย. วอส. และปฏิบัติตามวิธีใช้บนฉลากอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญควรฆ่าเชื้อบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อยเป็นประจำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อ
เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-2019 การป้องกันตนเองและคนรอบข้างสามารถทำได้ด้วยการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปแหล่งชุมชน
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิววัสดุต่างๆ ที่ต้องสัมผัสอยู่เป็นประจำ หรือบริเวณที่มีผู้สัมผัสเป็นจำนวนมาก เช่นโต๊ะ เก้าอี้ ราวบันได ลูกบิดประตู แผงกดลิฟต์คีย์บอร์ด คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เป็นต้น จะช่วยลดโอกาสการได้รับสัมผัสเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อได้
ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพโดยสังเกต 3 จุดที่สำคัญ ได้แก่ 1.มีข้อความระบุว่าสามารถ “ฆ่าเชื้อโรค” “ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย” หรือ “ฆ่าเชื้อไวรัส” 2. มีสารสำคัญเป็นสารฆ่าเชื้อ เช่น เอทิลแอลกอฮอล์ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์โซเดียมไฮโปคลอไรต์คลอโรไซลีนอล อัลคิลไดเมทิลเบนซิล แอมโมเนียมคลอไรด์ (หรือเบนซัลโคเนียมคลอไรด์) 3. มีเลขทะเบียนวัตถุอันตรายในกรอบเครื่องหมาย อย. วอส. เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย จาก อย.
ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรปฏิบัติตามวิธีใช้บนฉลากอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอัตราส่วนการผสมและระยะเวลาที่ให้ผลิตภัณฑ์สัมผัสพื้นผิว เพื่อประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อกรณีพื้นผิวสกปรกมาก ควรขจัดสิ่งสกปรกออกก่อนแล้วจึงใช้ผลิตภัณฑ์เนื่องจากความสกปรกจะลดประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ ที่สำคัญควรฆ่าเชื้อบริเวณพื้นผิวและวัสดุต่างๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อย ทั้งนี้ห้ามนำมาใช้เช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้อบนผิวหนัง และห้ามนำผลิตภัณฑ์หลายชนิดมาผสมรวมกัน เพราะอาจเกิดอันตรายหรืออาจลดประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้
รองเลขาธิการฯ อย.กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า เพื่อความปลอดภัย ประชาชนสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. ได้ที่ เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หัวข้อ “ตรวจสอบผลิตภัณฑ์” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน อย. 1556
ที่มา : อย.