วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล แม้ในปัจจุบันเรื่องของสิทธิสตรีจะมีการเรียกร้อง เปิดโอกาส รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อให้ตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมของผู้หญิงทั่วโลก และในหลายๆ ประเทศก็ได้เปิดโอกาสรวมถึงพื้นที่ให้กับผู้หญิง ตลอดจนเพศทางเลือก ในการใช้ชีวิต ประกอบอาชีพในการดำรงชีวิต ตลอดจนมีบทบาทที่โดดเด่นในด้านต่างๆ แล้ว แต่ยังมีอีกหลากหลายแง่มุมที่ยังมีความน่าสนใจนอกจากด้านกฎหมาย และสิทธิมนุษยชน นั่นคือในมุมมองด้านมานุษยวิทยาและสังคม ศาสนาและความเชื่อ ที่มีต่อ “ผู้หญิง” นั่นเอง
โดยในวันพุธที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้จัดเสวนาในประเด็นดังกล่าว ในหัวข้อ “พลังสตรี ผี เฮี้ยน” เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจพื้นที่ของผู้หญิงในอดีต ผ่านมิติความเชื่อและภาพสะท้อนในสื่อบันเทิง โดยได้รับเกียรติจากคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, อานันท์ นาคคง นักมนุษยวิทยาด้านดนตรี และอินทิรา เจริญปุระ หรือทราย เจริญปุระ นัดแสดงผู้เคยรับบทผีผู้หญิงจากภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ได้กล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงในความเชื่อของคนโบราณในยุคเกษตรกรรม ไว้ว่า
“สถานะความเป็น ‘แม่’ เป็นสถานะภาพที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้นเมื่อคุณสามารถให้กำเนิดชีวิตได้ ก็เท่ากับว่าคุณมีลักษณะแบบเดียวกันกับโลกธรรมชาติ เพราะธรรมชาติให้ชีวิต ซึ่งคนโบราณมองว่าธรรมชาติเป็นพระเจ้า ฉะนั้นผู้หญิงก็มีสถานะภาพเท่าพระเจ้าเช่นเดียวกัน และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในโลกโบราณ ศาสนาโบราณเกือบทั้งหมด ผู้หญิงเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ และความศักดิ์สิทธิ์ในโลกโบราณ ก็คือการมีชีวิตใหม่หรือความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งมันเริ่มจากแบบนั้น”
แล้วอะไรที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีความศักดิ์สิทธิ์ของในแต่ละท้องถิ่น?
“ยกตัวอย่างในอินเดียจะมีรูปเคารพผู้หญิงนามลัชชาเคารี (ลัชชา แปลว่า ความละอาย, เคารี แปลว่า เจ้าแม่แห่งธัญพืช) เป็นรูปผู้หญิงอยู่ในท่าคล้ายๆ คลอดลูก มีหน้าเป็นดอกบัว ในบางรูปก็จะมีเหมือนต้นไม้ออกมาจากช่องคลอด นี่จึงเป็นรูปที่เคารพของคนอินเดียโบราณ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเวลาคนโบราณมองโลกธรรมชาติ มองว่าผู้หญิงเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นเจ้าแม่ ซึ่งเป็นบทบาทที่เชื่อมโยงกับโลกธรรมชาติได้ ซึ่งผู้หญิงในสมัยก่อนเป็นหัวหน้าของเผ่า ซึ่งหัวหน้าเผ่าในโลกโบราณก็เท่ากับเป็นหมอผีด้วยในเวลาเดียวกัน”
คมกฤชกล่าวเสริมว่า ผีในยุคโบราณนั้นหมายถึงผีที่เป็นเทพ ไม่ใช่ผีที่น่ากลัวทั่วๆ ไป เป็นพลังงานของโลกธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเริ่มต้นจากผู้หญิงและการสืบวงศ์ตระกูลก็มาจากฝ่ายผู้หญิง แต่การสืบวงศ์ตระกูลจากฝ่ายชายเริ่มมีจากวัฒนธรรมจีนที่เราได้รับมาภายหลัง แต่จริงๆ แล้วผู้หญิงสำคัญมาโดยตลอด
อานันท์ นาคคง ได้ให้นิยามคำว่า ‘ผี’ ไว้ว่า
“ขอพิจารณาคำว่า “ผี” ก่อน คนเป็นผีด้วยเหตุใด ทำไมคนถึงกลายเป็นผี มี 6 เส้นทางที่กลายเป็นผี
เส้นทางแรกคือ “ตาย” ชัดเจนที่สุดชีวิตหลังความตายเราไม่รู้ว่ามันจะเกิดไรขึ้น แต่เรียกว่า “ผี” ไปก่อน
เส้นทางที่สอง “ยังมีชีวิตอยู่” ณ วันนี้สังคมกำลังสอนเราแล้วว่า เราอยู่ร่วมกับคนป่วย คนที่อยู่ระหว่างความเป็น ความตายจำนวนไม่น้อย และเราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ความตายจะมาถึงเรา และสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ไวรัสโคโรน่า นั่นเอง
เส้นทางที่สาม “สู่ความตาย” ตรงนี้จะเกี่ยวข้องกับความเชื่อ กฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง ซึ่งแต่เดิมเราเชื่อในเรื่องของคำสวด คำสอน หรือคุณไสย เช่น ตำนานผีกระสือ คือคนที่เล่นกับความรู้ที่ลี้ลับแล้วเกิดพลาดขึ้นมาจึงทำให้กลายเป็นกระสือ
เส้นทางที่สี่ “ศีลธรรม” ไม่ใช่แค่ศาสนาพุทธอย่างเดียว แต่ในศาสนาอื่นที่เราไปละเมิดกำแพง เส้นกั้นกรอบทำให้ถูกมองและถูกจัดวางให้เป็นผีเหมือนกัน
เส้นทางที่ห้า “โลกสมัยใหม่” กฎหมายกับศาสนามักเชื่อมโยงกันอยู่ในหลายๆ มิติ คนที่ผิดกฎกติกาในสังคมก็ถูกผลักให้เป็นผี
เส้นทางที่หก “เรื่องสมมติ” เราสมมติชีวิตหลังความตายเป็น 2 ด้าน คือ ผีดีกับผีร้าย ผีดี เราเรียกว่าเทพหรือเทวดา ซึ่งมีคนจำนวนมากที่สมัครใจไปเป็นผีดี สมัครใจที่จะเล่นเป็นบทผีดี ส่วน ผีร้าย แน่นอนว่าไม่มีใครชอบ แต่ก็เป็นบทบาทสมมติเหมือนกันว่าจะต้องเป็นผีร้ายในบางสถานะ”
บทบาทของผี มีลักษณะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
อินทิรา เจริญปุระ กล่าวว่า “ผีผู้หญิงทางฝั่งเอเชียจะมีการกลับมาทำหน้าที่บางอย่างให้สำเร็จ เพราะก่อนตายเขาได้ทำหน้าที่ผู้หญิงบางอย่างไม่สำเร็จ เช่น การเป็นแม่ที่ดี อย่างเรื่อง นางนาค ที่คลอดลูกแล้วตายไม่ได้เป็นแม่ ไม่ได้เป็นเมีย ซึ่งลักษณะร่วมของผีจะแตกต่างกันไป แต่เรื่องราวจะใกล้เคียงกันมาก”
เรื่องผีสะท้อนของผู้หญิงอะไรในสังคมบ้าง ในบทบาทผีย้อนกลับมาทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะแม่และเมีย?
คมกฤช กล่าวว่า “ในแง่มุมศาสนาถูกเปลี่ยนนถ่ายมาทางผู้ชาย แน่นอนว่าบทบาทหรือพื้นที่ของผู้หญิงก็มีลดลงไปโดยอัตโนมัติ จริงๆ ก็ยังมีพื้นที่บางอย่างในศาสนาและความเชื่อที่พยายามเรียกร้องบทบาทบางพื้นที่ของผู้หญิงให้กลับมาอีก เช่น นิกายบางนิกายในศาสนาฮินดู อย่างนิกายที่เรียกว่า สัดปะหรือสัดติ ได้ให้บทบาทของผู้หญิงเยอะมาก หรือแม้แต่กรณีที่เป็นเรื่องถกเถียงกันเกี่ยวกับภิกษุณี เรื่องนี้เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าตัวศาสนาเองพยายามที่จะยืนยันว่าผู้หญิงนั้นมีความสำคัญ มีบทบาทอะไรที่ไม่ได้ต่างจากผู้ชาย”
สังคมชายเป็นใหญ่ เป็นรากฐานที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันรึเปล่า?
คมกฤช กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “เราเห็นปรากฏการณ์บางอย่างที่รายรอบตัวเรามันก็ชัดอยู่แล้ว ที่เราบอกว่าสังคมชายเป็นใหญ่ มันไม่ได้เป็นแค่ในเชิงรูปประธรรม แต่มองว่าปัญหามันคือวิธีคิด ด้วยวิธีคิดที่ว่าชายเป็นใหญ่ อาจจะนำมาสู่รูปแบบปฏิบัติที่มันแตกต่างกัน นำมาสู่การไม่เท่าเทียมกัน คิดว่าน่าจะมาจากวิธีคิดด้วย เพียงแต่บางคนอาจจะคิดว่าสังคมสมัยนี้ก็เปลี่ยนไป ตอนนี้บทบาทของผู้หญิงก็สามารถทำอะไรได้โดยไม่ต้องพึ่งผู้ชาย แต่คิดว่าคนยังไม่เปลี่ยนแค่ตรงนี้ (วิธีคิดที่ยังไม่เปลี่ยน)”
ในขณะที่อานันท์ ได้ให้ความเห็นว่า “อยู่ที่สองขั้วเพศ ไม่ได้เถียงว่าผู้ชายเป็นใหญ่ และผู้หญิงพยายามจะเรียกร้อง แต่
ตรงกลาง เราก็ลืมอยู่ตลอดเวลาว่า เรายังมีเพศที่สามหรือเพศหลากหลายอยู่ ซึ่งเราต้องคิดถึงบุคคลเหล่านั้นด้วย ที่ผ่านมาเราเอาอะไรไปใส่มือผู้ชายเยอะมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาวุธ การป้องกันตัว การล่าเพื่อที่จะทำมาหากิน เอาสิ่งทีเป็นเรื่องของอำนาจ ต่าง ๆ นานา ไปใส่มือ และเผอิญว่าผู้ชายกลับทำได้ดีด้วยซ้ำ ซึ่งต้องยอมรับส่วนนึงว่าผู้ชายทำสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในมือเขาก็ดี แต่ปัญหาคือ เขากลับไม่ปล่อยในสิ่งที่อยู่ในมือของเขาและก็ยาวไปสู่บทบาทอื่น ๆ ที่สังคมของการพึ่งพาอาศัยกัน ปรากฏว่าช้างเท้าหน้าเดินหน้าอยู่ตลอด แต่ช้างเท้าหลังเดินก็มีความพยายามที่จะเดินแซงหรือเดินคู่ ซึ่งเมื่อเขาไม่ยอมหยุดก็เลยย้ำกระบวนการ บทบาทแบบนี้อยู่ตลอดเวลา”
ทำไมผีที่มีพลังอำนาจถึงต้องเป็นผีผู้หญิง?
คมกฤช คิดว่า “จากการที่สนใจเรื่องของอินเดีย มองว่ามนุษย์กับโลกธรรมชาติเหมือนกัน แต่โลกธรรมชาติมีลักษณะที่ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย คือโลกธรรมชาติมีภาพทั้งที่เป็นผู้หญิงและผู้ชาย แต่มันคนละแบบกัน ภาวะของผู้ชายในโลกธรรมชาติ เป็นภาวะนิ่ง เช่น ก้อนหิน ที่เป็นลักษณะนิ่ง แต่ภาวะของผู้หญิง จะมีลักษณะเคลื่อนไหว ก่อกำเนิด นี่เป็นพลังของผู้หญิง ที่คนโบราณมองว่าเป็นโลกธรรมชาติ ทีนี้มองว่าผู้หญิงเป็นพลังงานที่เคลื่อนไหว มีศักยภาพไม่อยู่นิ่ง เพราะฉะนั้นฮินดูใช้คำว่า ศักติ แปลว่า พลัง ในแง่มุมพลังอำนาจผู้หญิงมีมายังเป็นโลกธรรมชาติอยู่ และก็ปรากฏอยู่ในรูป 2 แบบ คือ เจ้าแม่กาลี พูดถึงภาพสะท้อนพลังธรรมชาติที่ยังไม่เข้าสู่ธรรมชาติมนุษย์ ฉะนั้นเจ้าแม่กาลีเปลือยกาย ยืนอยู่บนผู้ชาย (พระศิวะ) นั่นคือโลกในแง่มุมที่เป็นความเชื่อ ฉะนั้นถ้าเจ้าแม่มาอยู่ในโลกมนุษย์แล้ว กาลี จะกลายเป็น เคารี ที่แปลว่า
ขาว และ กาลี ที่แปลว่า ดำ เธอก็เลยกลายเป็นนางขาว และนางดำ และก็อยู่กับมนุษย์ได้ เมื่อคนโบราณมองว่าทำไม ผี ต้องเฮี้ยน ถ้าตอบจากแง่ศาสนา คือการเลียนแบบเข้าใจโลกธรรมชาติ ซึ่งในมุมมานุษยวิทยาอาจจะตีความได้อีกแบบ”
อานันท์ เสริมว่า “ในแง่สังคมอดีตที่เราอยู่กับธรรมชาติ เราให้ความสำคัญกับการเกิดชีวิต ความมั่นคงของชีวิต ผู้หญิงถูกเปรียบเป็นธรรมมชาติที่ให้ชีวิตตลอดเวลา เราเรียก ดิน ว่า “แม่ธรณี” เรียก น้ำ ว่า “แม่คงคา” เราเรียก ข้าว ที่เรากิน ว่า “แม่โพสพ” หลักการปฏิบัติต่อแม่ที่ให้ชีวิตเรามา มีทั้งส่วนของความเชื่อ การสยบยอม การเอาออกเอาใจ และบางช่วงเวลาแม่ก็ให้โทษด้วย เช่น ธรณีวิบัติ เพราะฉะนั้นการอยู่กับแม่ ด้วยวิถีที่มนุษย์พึงกระทำ ในสังคมรอบๆ ด้าน”
แม้เรื่องราวและพื้นที่ของผู้หญิงในอดีตและปัจจุบันจะมิติที่ต่างกัน ทั้งในแง่ความเชื่อทางวัฒนธรรม บทบาท และแนวคิด แต่สิ่งสำคัญนั้นคงไม่พ้นความสำคัญของความเป็นมนุษย์ ไม่เพียงแค่ชายหรือหญิง เพราะในสังคมทุกวันนี้การกดขี่ หรือการไม่เข้าใจในตัวตนต่างหากที่เป็นสิ่งที่น่ากลัว และควรได้รับการทบทวน