แน่นอนว่าอยู่ดีๆ จะปรากฏชื่อขนมชนิดนี้ขึ้นมาเองได้อย่างไร ชื่ออะไรก็แล้วแต่ต้องมีที่มาที่ไป “ขนมต้ม” เองก็เช่นกัน เรื่องนี้ไปเกี่ยวพันกับ “พระพิฆเณศวร” ซึ่งเป็นเทพในศาสนาฮินดู มีรูปร่างลักษณะที่โดดเด่นจากเทพองค์อื่นๆ คือพระเศียรเป็นช้าง เป็นที่เคารพกันโดยทั่วไปในฐานะของเทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค และเป็นองค์อุปถัมภ์แห่งศิลปวิทยาการ วิทยาศาสตร์ และศาสตร์ทั้งปวง ทรงเป็นเทพเจ้าแห่งความฉลาดเฉลียวและปัญญาด้วย เทพปกรณัมฮินดูระบุว่าพระคเณศทรงเป็นพระบุตรของพระศิวะ และ พระปารวตี
บรรดาผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับศิลปะและการเขียนหนังสือ จะนับถือพระพิฆเณศวรเป็นครู ดังนั้นจะเห็นว่ารูปพระพิฆเณศวรมี 4 พระกร พระหัตถ์ขวาบนทรงตรีศูล พระหัตถ์ขวาล่างทรงงาช้าง พระหัตถ์ซ้ายบนทรงปาศะ (เชือก) พระหัตถ์ซ้ายล่างถือขนมก้อนกลมๆ บางองค์ถือก้อนเดียว บางองค์ก็ถือทั้งจาน ทั้งนี้เพราะ พระพิฆเณศวรท่านโปรดเสวยขนมเป็นประจำ จะสังเกตได้ว่าพระพิฆเณศวรเป็นเทพองค์เดียวที่ถือขนม โดยในยุคต้นๆ รูปเคารพของพระองค์มักมีงวงตวัดไปเสวยขนมในพระหัตถ์ด้วย และในทางเทวปรัชญาก็ถือว่าเป็นการแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์
สำหรับขนมที่ปรากฏในพระหัตถ์นั้นเรียกชื่อว่า “ขนมโมทกะ” หรือ “ขนมโมทัก” (Modak) คำว่า “โมทกะ” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ยินดี พึงพอใจ รื่นเริงบันเทิงใจ เป็นขนมที่องค์สมเด็จพระพิฆเณศวรทรงโปรดมาก บางทีชาวทมิฬเรียกขนมนี้ว่า “Korukkattai” ในบางภาคของอินเดียเรียกว่า “ขนมลฑฺฑู” (Laddhu) ก็มีขนมชนิดนี้เป็นลูกกลมๆ ขนาดมะนาวลูกเล็กๆ มีไส้ ภายนอกเป็นแป้งสีขาวห่อไส้แล้วนึ่งให้สุก ไส้ทำด้วยมะพร้าวขูดผัดกับน้ำมันพืช ผสมเนยใส ผงกระวาน น้ำตาลทรายแดง และเกลือ จะมีรสค่อนข้างหวาน แต่บางที่ก็ทำเป็นลูกมียอดแหลมๆ คล้ายผลกระเทียม
สำหรับคนไทยมีขนมชนิดหนึ่งเรียกว่า “ขนมต้ม” หรือ “ขนมต้มขาว” มีลักษณะเป็นแป้งลูกกลมมีไส้เป็นมะพร้าวเคี่ยวกับน้ำตาลปึกอย่างหน้ากระฉีก ขนมต้มขาวมีมะพร้าวขูดเป็นเส้นโรยอยู่ภายนอก คนไทยนิยมใช้ขนมต้มขาวบูชาพระพิฆเณศร หรือพระภูมิแทนขนมโมทกะ ปัจจุบันมีผู้คิดทำขนมโมทกะขึ้นในประเทศไทย คนไทยจึงเริ่มรู้จักชื่อขนมโมทกะมากขึ้น
ด้วยความที่พระพิฆเณศรโปรดเสวยขนมชนิดนี้มาก และเสวยคราวละมากๆ จึงมีเรื่องเล่าว่าคราวหนึ่งจะมีการเลี้ยงฉลอง พระพิฆเณศรเสวยขนมโมทกะเข้าไปมาก พูดตามภาษาชาวบ้านคือกินจนพุงกาง เมื่อดูตามรูปปั้นของท่านจะเห็นว่าพุงพลุ้ย เมื่อเสวยอิ่มได้ที่แล้วก็จะทรงหนูเป็นพาหนะกลับที่พัก เวลานั้นเป็นเวลากลางคืน หนทางก็คงไม่โล่งเตียน ไม่มีใครมาจุดไฟส่องทาง ขณะที่หนูวิ่งมาตามทางก็ไปจ๊ะเอ๋กับงูเข้า หนูตกใจหลบงู แฉลบเข้าข้างทาง พระพิฆเณศรกำลังนั่งมาเพลินๆ ไม่ทันระวังตัว ก็เลยหกคะเมนลงไปกระแทกกับพื้นอย่างแรงถึงกับท้องแตก แต่แทนที่จะห่วงตัวเอง กลับห่วงขนมโมทกะที่เสวยเข้าไป ซึ่งตอนนั้นได้ทะลักออกมากองอยู่กับพื้นดิน ความที่เสียดายจึงรีบโกยขนมโมทกะเอากลับเข้าไปไว้ในพุงตามเดิม แล้วก็ฆ่างูตัวตันเหตุนั้นเอามารัดท้องไว้ไม่ให้ขนมโมทกะหลุดออกมาได้ ด้วยเหตุนี้รูปพระพิฆเณศรจึงมีงูรัดท้องอยู่ด้วย
เมื่อทรงโปรดเสวยขนมโมทกะมากกว่าขนมใดๆ ดังนั้น ในการไหว้หรือบูชาพระพิฆเณศร จึงนิยมใช้ขนมโมทกะ แต่ในประเทศไทยคงหาขนมแบบนี้ลำบากจึงนิยมใช้ “ขนมต้ม” แทน บางตำราก็ว่าควรจะมีขนมหม้อแกงถวายด้วยเพราะเป็นของโปรดอีกอย่างหนึ่ง บรรพบุรุษของพระมหาราชครูพิธีตีลวิสุทธิคุณ ก็สังเวยพระพิฆเณศรด้วยขนมหม้อแกงเหมือนกัน
“ขนมต้ม” เป็นขนมพื้นๆ เวลาทำจะปั้นเป็นลูกกลมๆ ขนาดโตๆ ขนมต้มมี 2 อย่าง อย่างหนึ่งเรียกว่า “ขนมต้มขาว” ทำเป็นลูกกลมๆ ข้างในมีไส้ทำด้วยมะพร้าวเคี่ยวกับน้ำตาล แล้วต้มแป้งที่ห่อหุ้มให้สุก จะเห็นเป็นสีขาวโรยด้วยมะพร้าวขูดอีกนิดหน่อยพองาม จึงเรียกกันว่า “ขนมต้มขาว” คู่กับ “ขนมต้มแดง” ซึ่งไม่มีไส้ และใช้แป้งทำเป็นแผ่นกลมๆ ขนาดเล็กต้มให้สุกแล้วคลุกกับน้ำตาลที่เคี่ยวจนเหนียวจึงดูเป็นสีแดง ลักษณะของขนมทั้งสองนี้จึงดูตรงกันข้ามขนมต้มขาวมีไส้ลูกกลม ขนมต้มแดงไม่มีสี ทำเป็นแผ่นกลมๆ สรุปว่าอย่างหนึ่งหวานใน อีกอย่างหนึ่งหวานนอก
ขนมต้มเป็นขนมโบราณเก่าแก่ ถ้ากล่าวตามเอกสารโบราณก็เป็นขนมที่มีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ที่กล่าวได้ชัดเจนเช่นนี้ก็เป็นการกล่าวตามหนังสือไตรภูมิพระร่วง ที่ออกชื่อขนมต้มไว้ ลักษณะก็ว่าเป็นลูกเพราะใช้คำว่า “ดวง” ในสมัยสุโขทัย ของที่มีลักษณะค่อนไปทางกลมๆ เรียกว่าดวงทั้งนั้น เช่นไข่ 1 ดวง เป็นตัน เหตุที่ในหนังสือดังกล่าวออกชื่อขนมม ก็เพราะมีเรื่องเกี่ยวกับการเสี่ยงบารมีดังต่อไปนี้
ในครั้งนั้นพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช มีพระสนมหมื่นหกพันนาง และพระสนมเหล่านั้นต่างพากันอิจฉานางอสันธมิตตาว่าเป็นที่รักของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช จนทำให้พระองค์ไม่สนพระทัยพวกนางเลย ความน้อยเนื้อต่ำใจนี้พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชก็ทรงทราบ จึงใคร่จะแสดงให้พระสนมทั้งหลายได้เห็นว่านางอสันธมิตตานั้นมีบุญกว่าพระสนมเหล่านั้นมากนัก ทรงหาโอกาสอยู่ กาลวันหนึ่งพระองค์จึงให้พวกวิเสทที่มีหน้าที่ทำของเสวย จัดทำขนมต้มจำนวนหมื่นหกพันกับอีกลูกหนึ่ง ที่ให้จัดทำขึ้นมากมายเช่นนี้ก็ใช่ว่าจะทรงจัดเลี้ยงหรือทำพิธีอะไร เพราะจำนวนขนมต้มมีจำนวนเท่ากับพระสนม ถ้าจะแจกก็คงได้กันเพียงคนละลูกเท่านั้น เมื่อพระองค์ได้ขนมมาครบตามจำนวนแล้ว จึงถอดพระธำมรงค์วงหนึ่งจากนิ้วพระหัตถ์
ของพระองค์ แล้วบรรจุแหวนวงนั้นไว้ในขนมต้มลูกหนึ่ง เมื่อปิดรอยมิดชิดสนิทดีแล้วก็วางขนมต้มลูกนั้นไว้บนกองขนมหมื่นหกพันที่เตรียมไว้ โดยที่ไม่มีใครรู้เห็นการกระทำนี้เลย
เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว พระองค์จึงตรัสเรียกพระสนมทั้งหมื่นหกพันนางมาพร้อมหน้ากัน แล้วตรัสว่า “…นี่แน่ะนางทั้งหลาย ขนมต้มในตะไลทองนั้นพวกเจ้าจงเลือกเอาไปคนละลูก สุดแต่ความพอใจ เลือกแล้วจงถือเอาไว้ในมือ เมื่อเลือกเอาไปจนครบหมดทุกคนแล้ว จะได้มีขนมต้มเหลืออยู่ลูกหนึ่ง และลูกนั้นเราจะให้แก่นางอสันธมิตตาเป็นคนสุดท้าย…”
พระสนมทั้งหลายพากันนิ่งเงียบ ต่างไม่ทราบว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชมีพระราชประสงค์อย่างไร ในที่สุดพระองค์ได้ตรัสต่อไปว่า “…ในขนมต้มทั้งหมื่นหกพันกับอีกลูกหนึ่งนี้ เราได้สอดแหวนจากนิ้วเราเอาใส่ไว้ในขนมนั้น และได้อธิษฐานว่าถ้านางใดมีบุญ ก็ให้แหวนวงนี้จงได้แก่นางนั้นเถิด ฉะนั้น ขอให้นางทั้งหลายจงเลือกหยิบเอาตามปรารถนาคนละลูก ใครมีบุญก็คงได้แหวนนั้นเอง”
เมื่อพระสนมทั้งหลายได้ทราบเช่นนั้นแล้ว ต่างก็ยกมือพนมอธิษฐานขอให้ได้แหวนวงนั้น แล้วหยิบขนมต้มไปคนละลูก คงเหลืออยู่ในตะไลทองอีกลูกหนึ่ง พระองค์จึงให้นางอสันธมิตตาไปหยิบมาถือไว้ แล้วตรัสแก่นางทั้งหลายว่า “ต่อไปนี้ขอให้เจ้าทั้งหลายบิขนมต้มในมือออกดูทุกคน ว่าจะมีแหวนอยู่หรือไม่ ถ้าใครได้แหวนก็จะเป็นผู้มีบุญ”
นางทั้งหมื่นหกพันนางต่างก็พากันบิขนมต้มออกดู ปรากฎว่าไม่มีใครพบแหวนอยู่ในขนมนั้นเลย พระองค์จึงทรงหยิบขนมต้มในมือนางอสันธมิตตาบิให้นางทั้งหลายดู ก็พบว่ามีแหวนอยู่ในนั้น แสดงว่านางอสันธมิตตามีบุญจริง ขนาดให้คนตั้งหมื่นหกพันเลือกก่อน ก็ยังไม่มีใครได้ ที่เล่ามายืดยาวก็เพียงแต่จะบอกว่าในสมัยสุโขทัยมีขนมต้มกินกันแล้ว แต่จะมีอะไรผสมบ้าง ไม่รู้ แต่ถ้าว่าตามลักษณะขนมทั่วไป ก็มีแป้ง น้ำตาล มะพร้าว อย่างแน่นอน แล้วปั้นเป็นลูกกลมๆ มีขนาดโตพอที่จะบรรจุแหวนได้วงหนึ่ง
ในตอนต้นเล่าไว้ว่าใช้ขนมต้มไหว้หรือบูชาพระพิฆเณศร ความจริงในพิธีต่างๆ ก็ใช้ เวลามีการมีงานที่จะต้องบวงสรวง สังเวย หรือมีบายศรีไหว้ครูต่างๆ ก็จะต้องมีขนมต้มอยู่ด้วยทุกครั้ง โดยเฉพาะที่ชามบายศรีจะมีขนมต้มขาวสามลูก ดูจะเป็นหลักประจำที่จะขาดมิได้ทีเดียว ทำไมต้องใช้ขนมต้ม โบราณาจารย์อธิบาย ว่า ขนมต้มนั้นมีวัตถุดิบ 3 อย่าง คือ แป้ง น้ำตาล และมะพร้าว ของทั้งสามอย่างนี้ถ้าใครรู้จักนำไปทำขนมบริโภคก็ย่อมจะเกิดรสอร่อย เปรียบได้กับพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแน่วแน่แล้ว จิตของผู้นั้นก็จะผ่องแผ้วปราศจากมลทิน ดับเสียซึ่งโลภะ โทสะ โมหะ ทั้งสามสิ้นไปทุกประการ ประดุจดังว่าผู้ชาญฉลาดทำขนมฉะนั้น
คำอธิบายนี้ดูจะดึงเข้าหาหลักทางพระพุทธศาสนา เข้าใจว่าจะมาคิดตีความหรือหาความหมายเอาในภายหลัง หรือเมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งทักว่าทำไมต้องเอาขนมต้มมาใช้ในพิธีบายศรี ท่านที่เป็นนักปราชญ์ก็หาทางอธิบายให้เกิดประโยชน์ในทางธรรม เรียกว่าสอนธรรมะไปด้วยในตัว ก็ไม่เสียหายอะไร แต่ตามความจริงอาจจะใช้ขนมต้มมาแต่โบราณ ไม่มีขนมของกินอะไรเหมาะไปกว่าขนมต้ม ซึ่งทำกินกันอยู่ในสมัยนั้น มื่อคนกินได้ก็เผื่อแผ่ไปให้เทวดาบ้าง ขนมต้ม นอกจากจะเป็นขนมพิเศษใช้ในพิธีบวงสรวงสังเวยเทวดาแล้ว ตามธรรมเนียมสู่ขอกันตามแบบโบราณ ก็ต้องมีขันหมาก เขาจะใส่ใบเงินใบทองและต้องมีขนมต้มด้วย เห็นจะเป็นของสำคัญอย่างหนึ่ง จึงมีเพลงพวงมาลัยร้องเล่นกัน ว่า “ลอยมา ลอยมาแล้วก็ลอยไป พ่อแม่ท่านเลี้ยงมายาก จะกินขันหมากให้ได้ ไม่ได้กินหนมต้มอมน้ำตาล น้องไม่รับประทานของใคร พวงเจ้าเอ๋ยมาลัย ถอยหลังกลับไป เถิดเอย…”
การใช้ขนมต้มในขบวนขันหมากนี้ ในบางท้องถิ่นเขาไม่ใช้ขนมต้มก็มี เป็นเรื่องของประเพณีท้องถิ่นที่ถือต่างๆ กันไป แล้วแต่เจ้าพิธีจะเห็นเหมาะเห็นควร ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของทางภาคกลางโดยมาก