สรุปขั้นตอน วิธีลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อขอรับคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า หรือที่เรียกกันว่า “ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า” ตามมาตรการช่วยเหลือผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาล
ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าจะสามารถขอรับเงินค่าประกันคืน ซึ่งมีมูลค่าตั้งแต่ 300-6,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้งานตามบ้านพักอาศัย ได้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยสามารถลงทะเบียนได้ทั้งทางออนไลน์และติดต่อที่สำนักงานฯ
ล่าสุด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. (PEA) ได้โพสต์วิดีโอผ่านทางเฟซบุ๊ก อธิบายขั้นตอนลงทะเบียนรับเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าคืนสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ผ่านทางเว็บไซต์ โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในพื้นที่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และนนทบุรี อ่าน วิธีลงทะเบียน ใช้สิทธิ์รับคืนเงิน “ค่ามิเตอร์ไฟฟ้า” ของ กฟน.
วิธีลงทะเบียนรับเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า
ขั้นตอนที่ 1
- เตรียมข้อมูลต่อไปนี้ให้พร้อม
- ชื่อ-นามสกุล ของผู้ใช้ไฟฟ้า
- หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งสามารถดูได้จากบิลค่าไฟ
- หมายเลขบัตรประชาชน
- (เลขที่บัญชีธนาคาร หรือ เลขที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขึ้นอยู่กับช่องทางที่ต้องการรับเงินคืน)
ขั้นตอนที่ 2
- เข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ https://dmsxupload.pea.co.th/cdp/
- หน้าเว็บไซต์ดังกล่าวจะเปิดให้ใช้งาน ตั้งแต่ วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
ขั้นตอนที่ 3
- ใส่ข้อมูลที่เตรียมไว้ให้ครบตามช่องที่กำหนด หากมียศนำหน้าให้พิมพ์ติดกัน เช่น “ร้อยตรีสมชาย” จากนั้นกดปุ่ม “ตรวจสอบข้อมูล”
ขั้นตอนที่ 4
- ระบบจะนำไปสู่หน้าข้อมูลสำหรับขอคืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้า ให้กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน
- ในช่องเบอร์โทรติดต่อ ให้ใส่เบอร์โทรศัพท์สำหรับการแจ้งผลยืนยันการลงทะเบียน
(สามารถติ๊กเครื่องหมายถูก ในช่องข้างล่างเพื่อรับข่าวสารของ กฟภ. ผ่านทาง SMS) - ในส่วนของ “ช่องทางการรับเงิน” ให้เลือกช่องทางที่ต้องการ เช่น บัญชีพร้อมเพย์, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, ผ่านบัญชีธนาคาร หรือ ติดต่อรับที่สำนักงานฯ
- เมื่อกรอกครบแล้ว ให้กด “ดำเนินการต่อ”
ขั้นตอนที่ 5
- กรอกข้อมูลบัญชีธนาคาร พร้อมเพย์ หรือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับการรับเงินให้ถูกต้อง
- จากนั้นกด “ยืนยัน”
ขั้นตอนที่ 6
- รอรับ SMS ยืนยันผลการลงทะเบียนและแจ้งผลการคืนเงิน
ทั้งนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะจ่ายเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าคืนตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์