“ปลา” นับว่าเป็นอาหารที่มีความเหมาะสมต่อร่างกายของคนเราเป้นอย่างมาก คนไทยอาจจะให้ความสำคัญของอาหารจากเนื้อปลาเป็นรองจากอาหารจากพวกเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู หรือเนื้อไก่ ขณะที่คนต่างประเทศ โดยเฉพาะคนที่อยู่แถบนอร์เวย์ สก็อตแลนด์ และญี่ปุ่น จะให้ความสำคัญของอาหารจากปลามาเป็นอันดับ 1 รองลงไปจึงเป็นพวกเนื้อสัตว์ต่างๆ
เนื้อปลา มีโปรตีนและแร่ธาตุในปริมาณที่สูง เราจึงใช้เนื้อปลาเป็นแหล่งอาหารโปรตีน ที่สำคัญโปรตีนที่ได้จากปลาจะมีกรดอะมิโนทจำเป็นครบถ้วน และมีประสิทธิภาพการใช้ของโปรตีนและการใช้ประโยชน์ในร่างกายได้ผลดี รองจากไข่และนม
อีกทั้งคุณค่าทางโภชนาการของอาหารปลาดีอย่างยิ่ง กล่าวคือปลามีปริมาณไขมันต่ำ (ยกเว้นในปลาที่มีไขมันสูงบางชนิดเท่านั้น) และไขมันในปลาส่วนมากเป็นไขมันที่ไม่อิ่มตัว จึงสามารถลดโคเลสเตอรอลในเลือดได้ และปริมาณโคเลสเตอรอลในเนื้อปลามีปริมาณต่ำ จึงนิยมนำไปใช้ในการรักษา ป้องกันโรคไขมันอุดตันในหลอดเลือด
ปลาทะเลทุกชนิดมีแร่ธาตุไอโอดีน ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต และยังเป็นแหล่งวิตามินที่สำคัญ คือวิตามิน เอ ดี และ บี ปลาให้พลังงานน้อยกว่าเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะพวกเนื้อสันใน เนื้อไม่ติดมัน ยกเว้นปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาเฮอริ่ง ปลาสวาย ปลามีแร่ธาตุแคลเซียมต่ำ ยกเว้นในกรณีที่เราสามารถกินได้ทั้งตัว (กระดูกและเนื้อ) อย่างไรก็ตาม การกินปลาก็ยังมีข้อควรระวัง คือเนื้อปลามีปริมาณพิวรีนสูง (พิวรีน-purine สารนี้จะเปลี่ยนเป็นกรดยูริกในเลือด ทำให้มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงผิดปกติ คนที่เป็นโรคเกาต์ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูง) นอกจากนี้ ปลาน้ำจืดเป็นแหล่งสะสมพยาธิโดยเฉพาะพยาธิใบไม้ตับ ดังนั้น ถ้าจะกิน ควรทำให้กินสุกเสียก่อน ไม่ควรกินดิบๆ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ
สำหรับรายชื่อ “ปลาน้ำจืด” ที่สามารถนำมาทำกินเป็นอาหาร และได้รสชาติอร่อย ได้แก่ “ปลากราย” หรืออาจเรียกว่า “ปลาหางแพน” หรือ “ปลาดองกราย” (Spotted Featherback)จัดเป็นปลาน้ำจืดที่นิยมรับประทานมากชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นปลาเนื้ออ่อนที่ให้เนื้อขาว เนื้อค่อนข้างมาก และมีความนุ่ม เหนียว และอร่อย สำหรับอาหารที่นิยมทำจากปลากรายกันมากในปัจจุบัน คือ ห่อหมกปลากราย ทอดมันปลากราย แกงป่าปลากราย ผัดฉ่าปลากราย เป็นต้น
“ปลาก้าง” หรือ “ปลากั้ง” (Red-tailed Snakehead) มีลำตัวยาวประมาณ 20 เซนติเมตร และค่อนข้างกลม มีเกล็ดที่หัวและลำตัว ทำให้ดูคล้ายกับลักษณะหัวงู ลำตัวสีเทา ด้านหลังเป็นสีเทาเข้ม ท้องสีน้ำตาลและสีขาว ส่วนมากนิยมนำมาทำแกงเผ็ดแบบน้ำขลุกขลิก โดยสับเนื้อปลาให้ละเอียดเพื่อจะได้รับประทานง่าย ก้างไม่ติดคอ
“ปลากา” หรือ “ปลาเพี้ย” (Greater Black Shark) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน รูปร่างป้อม แต่หลังป่องออก ครีบหลังสูง มีหนวดค่อนข้างยาว 2 คู่ และมีติ่งเล็กๆ เป็นชายครุยอยู่รอบบริเวณริมฝีปาก เกล็ดเล็กมีสีแดงแซมอยู่ในแต่ละเกล็ด ลำตัวสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม ปลากามักหากินตามพื้นท้องน้ำ
โดยการแทะเล็มตะไคร่หรือสาหร่าย พบในแม่น้ำขนาดใหญ่และแหล่งน้ำนิ่งทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ นิยมนำมาทำเป็นอาหารแบบปรุงสด เช่น ลาบปลาเพี้ย หรือใช้ทำน้ำยา เนื่องจากเป็นปลาขนาดใหญ่มีเนื้อมาก และยังทำเป็นปลาร้าได้อีกด้วย
“ปลาตะเพียน” (Common Silver Carp) นับเป็นปลาพื้นเมืองของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยทั่วไปตัวมีสีเงินแวววาว ด้านหลังมีสีคล้ำเล็กน้อย ด้านท้องสีจาง ภาคอีสานเรียกว่า “ปลาปาก” บางทีเรียกปลาตะเพียนขาว เป็นปลาน้ำจืดที่คนไทยรู้จักดีและอยู่ในวิถีชีวิตคนไทยมาแต่โบราณ ชอบอยู่กันเป็นฝูง ขนาดตัวโดยเฉลี่ย 36 เซนติเมตร พบในทุกแหล่งน้ำทุกภาคของไทย ยกเว้นในแม่น้ำสาละวิน นอกจากนี้ ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย โดยเฉพาะตัวที่เป็นปลาเผือก ซึ่งเรียกกันว่า “ปลาตะเพียนอินโด” ปลาตะเพียนนิยมนำมาทำเป็นอาหาร แต่เป็นปลาที่มีก้างมาก ฉะนั้นเวลาทำจึงต้องบั้งให้ถี่ๆ อาหารที่ทำจากปลาตะเพียน ได้แก่ ปลาตะเพียนต้มเค็ม, ปลาส้มปลาตะเพียน ปลาตะเพียนไร้ก้าง, ปลาตะเพียนทอดน้ำปลา ฯลฯ
“ปลาตอง” หรือ “ปลาสลาด” (Grey Knifefish) เป็นปลาที่มีลักษณะลำตัวคล้ายปลากราย แต่ต่างกันที่ปลาตองไม่มีจุดดำเหนือครีบก้น เหมือนปลากราย พบทั่วไปในทุกภาคของไทย แต่พบมากในภาคกลางและภาคเหนือ อาศัยตามแม่น้ำ หนอง บึง และอ่างเก็บน้ำ รวมถึงแม่น้ำสายสำคัญของแต่ละประเทศ อาทิ แม่น้ำอิรวดี แม่น้ำสาละวิน ในพม่า แม่น้ำเจ้าพระยา และต้นแม่น้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง ในประเทศไทย ปลาตองหรือปลาสลาด มีลักษณะลำตัวยาวและแบนข้างมาก ยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร หัวค่อนข้างลาดชันมาด้านหน้ามาก ส่วนเนื้อรสชาติจะคล้ายกับปลากรายมาก จึงนิยมทำเป็นอาหารหรือแปรรูปในลักษณะเดียวกันกับปลากราย ไม่ว่าจะเป็นห่อหมกปลาสลาด, ลูกชิ้นปลาสลาด, แกงป่าปลาสลาด หรือแปรรูป เช่น ปลาสลาดตากแห้ง ปลาสลาดรมควัน เป็นต้น
“ปลานวลจันทร์” (Small Scale Mud Carp) เป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์เดียวกับปลาตะเพียน รูปร่างเพรียวยาว ลำตัวค่อนข้างกลม มีความยาวประมาณ 20-30 ซ.ม ปากเล็ก เกล็ดเล็ก สีของลำตัวมีตั้งแต่สีส้มปนเทาจนถึงสีน้ำตาลปนสีขาวเงิน ท้องสีขาว ครีบหลังและครีบหางสีน้ำตาลปนเทา อาศัยอยู่ตามแม่น้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่อยุธยาขึ้นไปถึงนครสวรรค์ บึงบอระเพ็ด ปัจจุบันไม่พบแล้วในแม่น้ำเจ้าพระยา ทางภาคอีสานพบมากในลำน้ำโขง ชาวประมงแถบจังหวัดอุบลราชธานี เรียกปลานี้ว่า “ปลานกเขา” สามารถนำมาทำเป็นอาหาร เช่น ปลานวลจันทร์นึ่งซีอิ๊ว, ปลานวลจันทร์ทอดน้ำปลา, ปลานวลจันทร์ต้มส้มโตนด รวมถึงการแปรรูป และเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพจำหน่ายสร้างรายได้
“ปลาน้ำเงิน” หรือ “ปลานาง” (Common Sheatfish) จัดเป็นปลาน้ำจืดหายาก ราคาค่อนข้างแพง อยู่ในตระกูลปลาเนื้ออ่อนซึ่งในประเทศไทยมีอยู่หลายชนิด ในอนาคตมีแนวโน้มอาจสูญพันธุ์ได้ เนื่องจากมีการบริโภคกันมากและปัจจุบันปลาน้ำเงินที่มีวางขายในท้องตลาดจะเป็นปลาที่จับได้จากธรรมชาติเท่านั้น สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด เนื้อมีความนุ่มและอร่อยมาก เช่น ปลาน้ำเงินทอดกระเทียม, ปลาน้ำเงินทอดน้ำปลา
“ปลานิล” (Nile Tilapia) คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี เป็นปลาน้ำจืดที่อยู่ในวงศ์ปลาหมอสี มีแหล่งกำเนิดในแถบบริเวณตอนกลางค่อนไปทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ไปจนถึงเอเชียตะวันออกกลาง พบได้ทั่วไปตามหนอง คลอง บึง และทะเลสาบ ปลานิลมีลักษณะคล้ายปลาหมอเทศ แตต่างกันตรงที่ปลานิลมีริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน บริเวณแก้มมีเกล็ด 4 แถว ลำตัวมีสีเขียวในน้ำตาล ตรงกลางมีเกล็ดสีเข้ม นอกจากนี้ยังมีลายสีดำและจุดสีขาวที่ครีบหลัง ครีบก้น และครีบหาง ขนาดประมาณ 10-30 เซนติเมตร ปลานิลมีประโยชน์หลากหลาย เพราะเป็นปลาที่มีเนื้อมากและมีรสดี จึงนำไปทำอาหารได้หลายอย่าง ทั้งทอด แกง ต้ม ในเนื้อปลายังมีเอนไซม์ทรานกลูทามิเนส นำมาผลิตเป็นเจลใสใช้สำหรับสลบสัตว์น้ำ และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆ อีกมากมาย เมนูจากปลานิลทำได้ตั้งแต่ ปลานิลนึ่งซีอิ๊ว, ต้มยำปลานิล, ปลานิลย่าง, ปลานิลต้มกระชาย, ปลานิลนึ่งมะนาว เป็นต้น
“ปลาแก้มช้ำ” (Red-cheek Barb) ลักษณะคล้ายปลาตะเพียน แต่จะมีลำตัวเพรียวกว่าและแบนข้างเล็กน้อย ส่วนหัวเล็ก มีหนวด 2 คู่ที่มุมปาก เกล็ดใหญ่ ลำตัวสีเงินวาว แก้มจะมีสีส้มหรือแดงเรื่อ แผ่นกระดูกปิดเหงือกที่อยู่ถัดจากแก้มจะสีคล้ำ จึงเรียกปลาแก้มช้ำ ความยาวลำตัวทั่วไป 15 เซ็นติเมตร พบในทุกภาคของไทย อาศัยในแม่น้ำและหนองบึงทั่วไปจนถึงลำธารในป่า ที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ จะพบอยู่รวมเป็นฝูงหากินตามชายฝั่ง บางครั้งเข้ามาหากินบริเวณท่าน้ำของศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์ นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามในตู้ปลา เนื่องจากมีสีสันสดสวย แต่ก็สามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลายชนิดเช่นเดียวกับปลาตะเพียน
“ปลาเค้า” หรือ “ปลาค้าว” (Great White Sheatfish) เป็นปลาเนื้ออ่อนที่พบได้มากตามแม่น้ำลำคลอง ปัจจุบันเริ่มหายากมากขึ้น เนื่องจากมีการจับมารับประทานมากขึ้น เนื้อปลามีความนุ่ม ให้เนื้อมาก เนื้อไม่มีก้าง โดยเฉพาะปลาเค้าขาวเป็นชนิดที่นิยมรับประทานมากที่สุด ส่วนปลาเค้าดำมักเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ปลาเค้าขาวลำตัวยาวกว่าปลาเค้าดำ ผิวลำตัวเป็นหนัง ไม่มีเกล็ด มีสีลำตัวเป็นสีขาวอมเงินหรือสีน้ำตาลอมเทา ส่วนท้องมีสีขาว หัวมีขนาดใหญ่ ขนาดความยาวสามารถพบได้ถึง 2 เมตร ปลาเค้าสามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลายเมนู อาทิ ฉู่ฉี่ปลาเค้า, ปลาเค้าทอดน้ำปลา, ปลาเค้าทอดกระเทียม, ปลาเค้าลวกจิ้ม แต่ที่นิยมสุดๆ คือ ต้มยำปลาเค้า
“ปลาเทพา” (Chao Phraya Giant Catfish) เป็นปลาเฉพาะถิ่นที่พบในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขงเท่านั้น ดังนั้นจึงมีอีกหลายชื่อที่เกี่ยวข้อง เช่น Chaopraya giant shark catfish, Chaopraya catfish เป็นปลาไม่มีเกล็ดคล้ายปลาสวาย แต่ลำตัวจะสั้นกว่า ส่วนหัวกว้าง แบน ใหญ่กว่า ครีบทุกครีบใหญ่ ยาว ลำตัวด้านบนเป็นสีดำ ช่วงใต้ลำตัวเป็นสีเงิน มีหนวดยาวพอประมาณที่ใต้ปากล่าง 1 คู่ มุมปาก 1 คู่ ปลาเทพาชอบน้ำใสสะอาดมีการไหลเวียน เป็นปลาที่มี
ประสาทรับกลิ่นดีมาก เนื่องจากในธรรมชาติปลาชนิดนี้ลดลงอย่างมาก จนเกือบสูญพันธุ์หมดแล้ว ตอนนี้เหลือแต่ที่เพาะพันธุ์โดยกรมประมงแล้วปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ เนื้อมักถูกนำมาขายแทนเนื้อปลาบึก ซึ่งหายาก และมีราคาแพงกว่า นอกนี้แล้วยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
“ปลาเทโพ” (Black Ear Catfish) เป็นปลาไม่มีเกล็ดขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายกับปลาสวาย เพราะอยู่ในสกุลเดียวกัน แต่หัวโตหน้าสั้นทู่กว่าปลาสวาย ลำตัวยาวและด้านข้างแบน นัยตาค่อนข้างโต ปากกว้าง มีฟันซี่เล็กแหลมคมอยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง มีหนวดเล็กและสั้นอยู่ที่ริมฝีปากและมุมปาก กระโดงหลังสูงและมีด้านเดี่ยวอันแรกเป็นหนามแข็ง ครีบหางมีขนาดใหญ่ปลายแหลมเป็นแฉกลึก ลำตัวบริเวณหลังมีสีดำคล้ำ หรือสีน้ำเงินปนเทา หัวสีเขียวอ่อน ท้องสีขาวเงิน มีจุดสีดำขนาดใหญ่เหนือครีบหู เดิมมีชุกชุมในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันลดน้อยลงมาก ส่วนในภาคอีสานพบในแม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียก “ปลาหูหมาด” ปลาชนิดนี้นับเป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานกันมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนิยมนำไปแปรรูปทำอาหารพื้นเมืองที่เรียกว่า “เค็มหมากนัด” บรรจุขวดจำหน่ายด้วยราคาค่อนข้างสูง เมนูอร่อยจากปลาเทโพ อาทิ แกงเผ็ดปลาเทโพ, แกงปลาเทโพกับหมูสามชั้น
“ปลาสร้อย” หรือ “ปลาสร้อยขาว” (Jullien’s Mud Carp) จัดเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่พบมากในทุกภาคของไทย ตามแม่น้ำ หนองบึง และแหล่งน้ำท่วมถึง และตามอ่างเก็บน้ำในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ปลาสร้อยยังเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง เนื่องจากพบจำนวนมาก โดยเฉพาะในฤดูฝน นิยมจับมารับประทาน และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ปลาต่างๆ อาทิ ปลาร้า ปลาส้ม ปลาตากแห้ง เป็นต้น ปลาสร้อยบางชนิดใช้ปล่อยเลี้ยงในตู้ปลาสำหรับเป็นปลาสวยงาม ปลาสร้อยทุกชนิด มีลักษณะเด่น คือลำตัวกลม มีความยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร หัวค่อนข้างกลม และทู่ มีหนวด 1 คู่ ปากมีขนาดเล็ก ครีบหลังมี 1 ครีบ เป็นก้านครีบเดี่ยว 2-3 ก้าน เกล็ดมีขอบเรียบ ลำตัวมีสีขาวเงินหรืออมน้ำตาลเป็นประกาย เมนูที่นิยมทำเป็นอาหาร ได้แก่ ปลาสร้อยทอดกรอบ ซึ่งเป็นปลาสร้อยตัวเล็กๆ ปลาสร้อยทอดน้ำปลา ต้มโคล้งปลาสร้อย นอกจากนี้ นำไปทำน้ำปลาปลาสร้อยรสชาติอร่อยมาก และยังมีปลาร้าปลาร้อยด้วย
“ปลาหมอ” (Climbing Perch, Anabastestudineus, Bloch) ที่กล่าวถึงนี้เป็นปลาหมอไทย ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดพื้นบ้านของไทยที่นิยมบริโภคกันทั่วทุกภาค มีชื่อเรียกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาคเหนือ และอีสาน เรียกว่า “ปลาเข็ง” ภาคใต้ เรียก “อีแกปูยู” บางท้องที่เรียก “ปลาอีตาล” หรือ “ปลาใบตาล” ปลาหมอมีความทนในสภาพที่มีน้ำน้อยหรือขาดน้ำ จึงสามารถขนส่งและจำหน่ายในรูปปลาสดที่มีระยะทางไกลๆ ได้ ความต้องการปลาหมอในต่างประเทศสูงมากในแต่ละปี เช่น จีน ไต้หวัน เกาหลี มาเลเซีย และประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยเฉพาะปลาหมอที่มีขนาดใหญ่ (3-5 ตัว/กิโลกรัม) พบได้ในแม่น้ำ หนอง บึง และแหล่งน้ำทั่วไป ปลาหมอหนึ่งตัวสามารถแพร่พันธุ์ และวางไข่ได้จำนวนมาก สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่เดือน ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำกร่อย หรือน้ำเค็มได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสามารถปีนป่ายขึ้นบนบกเพื่ออพยพหาแหล่งน้ำได้ โดยเฉพาะในช่วงฝนตกในต้นฤดูฝน ทำให้มีการแพร่กระจายตัวในแหล่งน้ำทุกแห่งได้อย่างรวดเร็ว
ปลาหมอไทย เป็นปลาที่มีรสมัน เนื้อแน่น นุ่ม ก้างน้อย สามารถประกอบอาหารหรือแปรรูปได้หลากหลาย ทั้งต้มยำ แกง ย่าง ทอด ทำปลาร้า ปลาเค็ม ปลาตากแห้ง เมนูยอดนิยม ได้แก่ ฉู่ฉี่ปลาหมอ, ปลาหมอผัดพริกแกง, น้ำปลาหวานสะเดาปลาหมอปิ้ง, ป่นปลาหมอ, ปลาหมออบเกลือ
“ปลาสวาย” (Siriped Catfish) เป็นปลาน้ำจืดประเภทไม่มีเกล็ดเช่นเดียวกับปลาเทโพ ปลาเทพา และสังกะวาด มีขนาดใหญ่มากรองจากปลาบึก ขนาดใหญ่ที่สุดมีความยาวถึง 150 เซนติเมตร ปลาชนิดนี้พบในแถบประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย สำหรับประเทศไทย ปลาสวายมีแหล่งอาศัยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน ป่าสัก และแม่น้ำโขง รวมทั้ง คลอง หนองบึง อันเป็นสาขาของแม่น้ำดังกล่าว เช่น ในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และบึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร
ปลาสวายชอบอยู่บริเวณที่เป็นอ่าว น้ำนิ่ง และมีผักตบชวาหรือแพสนุ่นขึ้นหนาแน่น เป็นปลาที่ตื่นตกใจง่ายเมื่อถูกรบกวน อย่างไรก็ตาม นับเป็นปลาเศรษฐกิจที่นิยมอีกชนิดหนึ่ง ปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์ได้ ปลาสวายมีรูปร่างค่อนข้างเรียวยาว หัวค่อนข้างกว้าง แต่ไม่แบนมากนัก มีตาขนาดเล็กและหนวด 2 คู่ ปลาสวายที่แก่เต็มวัยจะมีลำตัวเป็นสีเทาดำบริเวณด้านหลัง และมีสีขาวบริเวณตั้งแต่ด้านข้างของลำตัว จากส่วนหน้าถึงโคนหาง ขนานไปกับเส้นข้างตัวทั้งด้านบนและด้านล่าง ทำให้แลดูสวยงามมาก เนื้อปลาสวายมีคุณค่าทางอาหารมาก มีทั้งโปรตีน ไขมัน นอกจากนี้มีแคลเซียม เกลือ และคาร์โบไฮเดรต
ปลาสวาย นอกจากบริโภคในครัวเรือนแล้ว ยังจำหน่ายสด และนำไปแปรรูป เช่น ทำปลาสวายเค็มรมควัน ลูกชิ้นปลาสวาย ข้าวเกรียบปลาสวาย ปลาสวายหวานและเค็ม ในกรณีจำหน่ายปลาสวายสดไม่ได้ทันที สามารถเก็บไว้โดยวิธีแช่แข็ง คือแล่เนื้อปลาเป็นชิ้นและอัดเป็นก้อน เคลือบด้วยน้ำแข็ง นำไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่านี้ จะเก็บรักษาเนื้อปลาสวายได้นานถึงประมาณ 60 วัน โดยเนื้อปลาจะมีคุณภาพคงเดิม ปลาสวายจะอร่อยเป็นพิเศษหากนำไปทำเมนู ปลาสวายผัดฉ่า ฉู่ฉี่ปลาสวาย แกงเหลืองหน่อไม้ดองปลาสวาย ต้มโคล้งปลาสวาย และน้ำยาปลาสวาย ทั้งนี้อยู่ที่ฝีมือการปรุงด้วย
“ปลาแรด” (Giant Gourami) เป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดที่คนนิยมรับประทาน เพราะลำตัวมีขนาดใหญ่ เนื้อมาก เลี้ยงง่าย มีความต้องการทางตลาดสูง โดยเฉพาะตามร้านอาหารทั่วไป นอกจากนั้น บางรายยังนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย ปลาแรดมีถิ่นกำเนิดในเอเชีย บริเวณเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว ปัจจุบันแพร่กระจายอยู่ตามแหล่งน้ำจืดธรรมชาติทั่วไป ในประเทศพม่า ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลลิปปินส์ และไทย รวมถึงประเทศอินเดีย
สำหรับประเทศไทยพบปลาแรดมาตั้งนานแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเป็นปลาท้องถิ่นดั้งเดิมหรือเป็นปลานำเข้ามาเลี้ยง ปลาแรดในไทยปรับตัวกับทุกแหล่งน้ำได้ดี ซึ่งพบตามแม่น้ำสายหลัก และสายย่อย อ่างเก็บน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึงต่างๆ ในทุกภาค แต่กระจายมากในเขตภาคกลางบริเวณจังหวัดอุทัยธานี ปทุมธานี นครปฐม และ ชัยนาท ปลาแรดมีลำตัวแบนใหญ่ มีความยาวจากหัวถึงหางเป็น 2 เท่า ของความกว้างลำตัว เมื่อโตเต็มยาวได้มากกว่า 30-45 เซนติเมตร จนถึง 50-60 เซนติเมตร ปลาแรดอายุน้อยจะมีเกล็ดสีน้ำตาลอมชมพู มีแถบสีดำพาดขวางลำตัว ส่วนปลาแรดที่โตเต็มที่จะมีเกล็ดเป็นสีเส้นข้างลำตัวสีน้ำตาลดำหรือน้ำตาลเข้ม เมนูยอดนิยมของปลาแรด คือ ปลาแรดนึ่งมะนาว ปลาแรดทอดกระเทียมหรือทอดน้ำปลา
“ปลาสลิด” หรือ “ปลาใบไม้” (Snake Skin Gourami) เป็นปลาน้ำจืดในวงศ์ ปลากัด ปลากระดี่ มี
รูปร่างคล้ายปลากระดี่หม้อ ซึ่งเป็นปลาในสกุลเดียวกันแต่มีลำตัวหนาและยาวกว่า หัวโต ครีบหลังในตัวผู้มีส่วนปลายยื่นยาวเช่นเดียวกับครีบก้น ครีบอกใหญ่ ตาโต ตัวมีสีเขียวมะกอกหรือสีน้ำตาลคล้ำ มีแถบยาวสีดำตามลำตัวตั้งแต่ข้างแก้มจนถึงกลางลำตัว และมีแถบเฉียงสีคล้ำตลอดแนวลำตัวด้านข้างและหัว ขนาดโดยเฉลี่ย 10-16 เซนติเมตร อาศัยในแหล่งน้ำนิ่งที่มีพืชน้ำและหญ้ารกริมตลิ่งของภาคกลาง, ภาคอีสาน และภาคใต้ของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังพบในประเทศเพื่อนบ้าน
ปลาสลิดยังเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง นิยมแปรรูปเป็นปลาตากแห้งแดดเดียว หรือปลาเค็ม ที่เรียกอีกชื่อว่า “ปลาใบไม้” เนื่องจากเป็นคำราชาศัพท์ เพี้ยนมาจากคำว่า “จริต” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงได้ทรงแนะนำให้เรียกกันในหมู่ราชบริพาร ว่า ปลาใบไม้ เพราะทรงเห็นว่ามีรูปร่างเหมือนใบไม้ ปลาสลิดมีมันมาก โดยเฉพาะส่วนท้องหรือพุงปลา จึงนิยมทำเป็นปลาตากแห้งเสียก่อนจะนำไปประกอบอาหารอย่างอื่นๆ แต่ถ้านำไปทอดในน้ำมันร้อนๆ กินกับข้าวต้ม ก็อร่อยจนหยุดเติมข้าวไม่ได้เลยทีเดียว
“ปลาบึก” (Mekong Giant Catfish) ได้ชื่อว่าเป็น “ราชีนีแห่งลุ่มน้ำโขง” และถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุล Pangasianodon ไม่มีเกล็ด เมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 3 เมตร น้ำหนักมากกว่า 250 กิโลกรัม พบเฉพาะในแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ปลาบึกถูกจัดเป็นปลาชนิดที่มีจำนวนน้อยใกล้สูญพันธุ์ กินพืช ตะไคร่น้ำที่ขึ้นตามโขดหินเป็นอาหาร ไม่มีฟันทั้งที่ขากรรไกรและเพดานปาก แหล่งจับปลาบึกที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย อยู่ที่บ้านหาดไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ ฤดูการจับปลาบึกจะเริ่มต้นประมาณปลายเดือนเมษายนของทุกปี จนถึงต้นเดือนมิถุนายน ปลาบึกชอบอยู่ในบริเวณที่มีระดับน้ำลึกกว่า 10 เมตร พื้นท้องน้ำเต็มไปด้วยก้อนหินและโขดหินสลับซับซ้อน ยิ่งมีถ้ำใต้น้ำด้วยปลาบึกจะชอบมากที่สุด เพราะอาศัยถ้ำใต้น้ำเป็นที่หลบซ่อนตัว แม้บางครั้งอาจจับปลาบึกได้จากแม่น้ำสายใหญ่ๆ ที่เป็นสาขาของแม่น้ำโขง เช่น แม่น้ำสงคราม แม่น้ำมูล แม่น้ำงึมแขวงนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว เชื่อว่าเป็นปลาที่เข้าไปหากินในลำน้ำเป็นการชั่วคราว แต่ไม่เคยปรากฏว่าพบในบริเวณน้ำกร่อย หรือบริเวณปากแม่น้ำโขงที่ไหลออกสู่ทะเลจีนใต้
แหล่งที่พบปลาบึกอาศัยอยู่ชุกชุมมากที่สุด อยู่ในเขตจังหวัดหนองคาย โดยเฉพาะวังปลาบึกหรืออ่างปลาบึก บ้านผาตั้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของปลาบึกมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เฉพาะวังปลาบึกเคยจับปลาบึกได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40-50 ตัว ส่วนปลาบึกที่จับได้ที่จังหวัดเชียงรายเชื่อว่า
อพยพย้ายถิ่นมาจากวังปลาบึกที่หลวงพระบาง เวลานี้นับว่าเป็นปลาที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากมีการจับมากเกินไป เพราะเชื่อว่าเมื่อได้รับประทานแล้วจะมีอายุยืนยาว และคุณภาพน้ำที่แย่ลงจากการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ ปลาบึกถือเป็นอาหารที่ราคาสูงในประเทศลาว ในการนำมาทำอาหารนอกจากเนื้อปลาแล้ว ตับและไข่ปลา สามารถหมักเป็นอาหารรสชาติดี
เนื้อของปลาบึกจะมีลักษณะคล้ายกับหมูสามชั้น มีชั้นของหนัง, ไขมัน และเนื้อ ปลาบึกที่มีขายในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เกิดจากการผสมเทียม โดยกรมประมงสามารถผสมเทียมได้ทั้งในบ่อดินและบ่อปูนซีเมนต์ เมื่อได้ลูกปลาออกมาจะนำไปปล่อยในแหล่งน้ำหลายแห่งในประเทศ มีเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุ และบ่อน้ำภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เป็นต้น เนื้อปลาบึกสามารถประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งลวก ผัด ทอด นึ่ง แกง เช่น ปลาบึกผัดฉ่า, ปลาบึกนึ่งซีอิ๊ว, ต้มยำปลาบึก, ลาบปลาบึก และแกงส้มปลาบึก
เมื่อจะกินปลาเป็นอาหารก็ต้องรู้จักชนิดของปลา ลักษณะและสรรพคุณความอร่อยว่าเนื้อปลาทำอะไรได้บ้าง เพราะเนื้อปลาแต่ละชนิดย่อมแตกต่างกัน เมื่อจะนำมาปรุงต้องเลือกวิธีการและเมนูที่เหมาะสม ความอร่อยจึงบังเกิด