ประเพณีการสาดน้ำและรายละเอียดยิบย่อยในวันสงกรานต์กลายเป็นเอกลักษณ์วันหยุดประจำชาติที่เกี่ยวพันกับคนไทยเกือบทุกคน ความโด่งดังนั้นก็ไกลไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การสาดน้ำ” แต่มีสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับวันสงกรานต์ คือ เรื่องแฟชั่นชุดสำหรับการใส่เล่นน้ำ หรือ ทำกิจกรรมในวันสำคัญเช่นนี้ เราจะย้อนนำเสนอชุดแฟชั่นสงกรานต์หลากหลายรูปแบบ ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเสื้อผ้าในวันที่ต้องเปียกที่สุดในรอบปี
เริ่มกันที่สมัยโบร่ำโบราณ วันสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยประเพณีและกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่การสาดน้ำเพียงเพราะความสนุกเท่านั้น มีประเพณีการขนทรายเข้าวัด รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หรือแม้แต่การเล่นน้ำเองเป็นกิจกรรมความสนุกสนานคลายร้อนเล็ก ๆ น้อย ๆ พอน่ารัก หยอกล้อกันตามประสาญาติสนิทมิตรสหายที่ฉลองวันแห่งความสุขร่วมกัน
ฉะนั้น ชุดเครื่องแต่งกายอ้างอิงจากภาพวาดจารึกหรือภาพวาดเวอร์ชั่นใหม่ ที่สะท้อนออกมาจากเนื้อความจากการบันทึกทางประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่าชุดของเหล่าชายหญิงในสมัยอยุธยา เป็นรูปแบบของชุดประจำวันทั่วไป ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน ในขณะที่ผู้หญิงนั้นสวมกระโจมอก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับฐานะทางสังคมและกิจกรรมในขณะนั้นด้วย หากเข้าวัดเข้าวาเสื้อผ้าต้องเรียบร้อย มีการใส่เสื้อให้เรียบร้อย และถ้ามีศักดินาเป็นชนชั้นสูงในสังคม ก็สะท้อนให้เห็นเรื่องของชุดผ้าไทยและชุดสไบคาด เพื่อความเรียบร้อยในกิจกรรมประเพณีบนเรือน
ข้ามมาช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประเพณีสงกรานต์ยังคงสืบทอดปฏิบัติต่อกันมาเรื่อย ๆ อาจจะมีการลดทอนและหลอมรวมชนชั้นมากขึ้น (ในสมัยก่อนมีธรรมเนียมการปฏิบัติของทั้งชนชั้นสูงและประชาชนคนธรรมดา) ทำให้เสื้อผ้าของประชาชนทั่วไปสวมชุดคล้ายคลึงกับสมัยอยุธยา ในการเล่นน้ำสงกรานต์ โดยช่วงที่เข้าสู่รัชสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา การแต่งกายก็ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม เราใส่ชุดเหล่านี้เล่นน้ำสร้างความสดชื่น แต่เมื่อฝรั่งมังค่าเข้ามาเราก็ปรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้เหมาะสมทันโลก ฉะนั้น การนำชุดที่ดูทางการเป็นสมัยใหม่มาเปียกน้ำ อาจจะไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก ราษฎรชาวบ้านทั่วไปก็ยังคงแต่งกายในแบบดั้งเดิมเพื่อเล่นน้ำกันอยู่ แต่อาจจะแต่งกายเป็นสากลมากขึ้น เมื่อต้องปฏิบัติตามประเพณีสำคัญหรือแสดงถึงความนับถือ เช่น การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หรือ การสรงน้ำพระ เป็นต้น
ขยับขึ้นมาในยุค พ.ศ. 2400 เครื่องแต่งกายวันสงกรานต์เริ่มคุ้นตาเรามากขึ้น การเล่นสาดน้ำเริ่มแสดงถึงความสนุกสนานสดชื่น ไม่ใช่เพียงขนบธรรมเนียมประจำวันสำคัญแค่นั้นอีกแล้ว ความสนุกสนาน ความสดชื่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเล่นน้ำสงกรานต์ยุคใหม่ หรือที่เรียกว่า “Water Festival” แบบที่ชาวต่างชาติรู้จักกัน คนเริ่มแต่งตัวตามสมัยนิยมมากขึ้น มีการใส่เสื้อเชิ้ตลินินสำหรับผู้ชาย ผู้หญิงกับชุดไทยร่วมสมัย หรือชุดที่เป็นสากล มีผ้าทึบความยาวระดับเข่า เพื่อปกปิดหวงห้ามความเป็นกุลสตรีของตนเอง แต่ก็ยังสามารถสนุกสนานได้ตามสมัยนิยม ยุคนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการประดิษฐ์ปืนฉีดน้ำยุคแรก และการเล่นน้ำแบบเคลื่อนที่ด้วยยานพาหนะไปหากลุ่มคนที่กว้างขึ้น จนส่งอิทธิพลกลายเป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลจนถึงทุกวันนี้
“เสื้อลายดอกล่ะ?” มาอย่างไร? คำถามเริ่มผุดขึ้นมาเมื่อพูดถึงเครื่องแต่งกายช่วงเวลานี้ แฟชั่นและความสนุกของวันสงกรานต์เป็นสิ่งที่พัฒนามาควบคู่กันอย่างสม่ำเสมอ เห็นได้ว่าแต่ละช่วงยุคสมัยล้วนแต่งตัวกันตามยุคเสมอ ไม่ได้มีความเน้นย้ำกับเทศกาล ว่าต้องแต่งตัวแบบใดกันแน่ ไม่มีเกณฑ์วัดความถูกผิด
“เสื้อลายดอก” ก็เช่นกัน กระแสนิยมของโลกโดยเฉพาะของผู้ชายมีแฟชั่นไอคอนอย่าง Elvis Presley สร้างบรรทัดฐานความเท่ให้กับชายหนุ่มจนทำให้ผู้คนในยุคสมัยเกือบ 40-50 ปีก่อน ใส่เสื้อแขนสั้นเหล่านี้มาในทุก ๆ วัน ไม่เว้นแม้แต่วันสงกรานต์ แต่ด้วยลักษณะความสดชื่น สีสันสดใสและความหมายโดยนัยที่คนไทยตีความ รวมถึงการตั้งเสาปักเสื้อลายนี้ไปเลยว่าเป็นเอกลักษณ์ของวันสงกรานต์โดยปริยาย ในส่วนของผู้หญิงเสื้อเหล่านี้มีความฮอตฮิตตามมาทีหลังอยู่พอสมควร แต่ที่แน่ ๆ มาช้าแต่มานาน เพราะตอนนี้เทรนด์การใส่เสื้อลายดอก หรือเสื้อฮาวายยังคงอินอยู่สำหรับสาว ๆ ในเทศกาลนี้
สมัยปัจจุบัน บรรทัดฐานการแต่งกายไม่ว่าเทศกาลใดมีความผ่อนคลายลงอย่างมาก ถึงแม้ว่าสงกรานต์จะมีภาพจำชุดตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงตอนนี้ เรายังนิยามแฟชั่นวันนี้ได้ตามคำเดิมว่า “ตามกระแสนิยม” เราคงเห็นเสื้อผ้าในยุคที่เปรียบได้ว่า “ฮิตอะไรใส่อันนั้น” เสื้อฮาวายเอย เสื้อเชิ้ตผูกเอวเอย หรือจะเป็นเสื้อยืดแขนกุดอวดโฉมความเซ็กซี่ สาว ๆ ล้วนหยิบมาใส่เพื่อบ่งบอกตัวตนท่ามกลางสายน้ำที่สาดกันไปมาอย่างสนุกสนานและผู้คนที่หนาแน่น บางครั้งชุดเสื้อผ้าอาจจะเกินคำว่าเหมาะสมไปบ้าง แต่นั่นถือเป็นบรรทัดฐานสังคมที่ยังกำหนดให้มีระเบียบอยู่ห่าง ๆ และขึ้นอยู่กับสถานที่จำเพาะที่เราจะไป หากสาว ๆ เล่นสงกรานต์กลางเมือง ก็อาจจะเจอแฟชั่นตามสมัยนิยมพร้อมทั้งปรับให้เข้ากับการต้องเปียกแฉะในเทศกาลแห่งความสุขนี้
แต่ถ้าไปในสถานที่เที่ยวในยามราตรี อาจจะได้เจอแฟชั่นที่วาบหวิวสนุกสนานปาร์ตี้สุดเหวี่ยง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ทั้งนี้ มันไม่มีอะไรผิด ทุกอย่างตั้งอยู่ในหลักกาลเทศะ ถึงแม้รูปแบบของเทศกาลจะวนมาสู่จุดความสนุกจนอาจจะละเลยที่มาดั้งเดิมไปบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้แฟชั่นต้องถูกกรอบแบบเดิมๆครอบไว้เสมอไป เพราะเสื้อผ้าย่อมถูกพัฒนาไปตามกระแสสังคมในแบบที่มันเป็นเช่นกัน
“ชุดไทยมาตอนไหน” ต้องทำความเข้าใจกันก่อน ว่าการณรงค์เล่นน้ำในชุดไทยนั้นเป็นสิ่งทีเพิ่งเกิดได้ไม่นานมานี้ คำว่า “กระแสโลก” ย่อมมีกระแสต้านความสนุกสุดเหวี่ยงจนเลยเถิด และอาจจะทำให้สงกรานต์กลายเป็นภาพลบ ฉะนั้น การทำแคมเปญเกี่ยวกับชุดไทยก็เกิดขึ้นเพื่อต้านกระแสด้านลบของเทศกาลบ้าง และการพยายามประชาสัมพันธ์ ว่า “สงกรานต์แบบไทยแท้คือวัฒนธรรมอันดีงาม น่ารัก เล่นน้ำกันอย่างนิ่มนวลและสุภาพ”
เดิมทีแฟชั่นชุดไทยเองเป็นเครื่องแบบการแต่งกายเพื่อความเรียบร้อยทั่วไป และเหมาะสำหรับการทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น กลับบ้านเยี่ยมญาติหาผู้ใหญ่ เข้าวัดเข้าวา มิได้เหมาะสมกับการนำมาเล่นสนุกสนานเปียกชุ่มเสียเท่าไหร่ ทั้งเหตุผลในเชิงความสวยงามและความสะดวกสบายเอง ฉะนั้นชุดไทยคือสัญลักษณ์เพื่อนำเสนอความดีงามเท่านั้น และการเล่นน้ำในชุดไทยด้วยพรมน้ำถือเป็นภาพจำแบบใหม่ที่ผู้มีความคิดดั้งเดิมทางวัฒนธรรมต้องการประชาสัมพันธ์ กับสงครามในบรรยากาศของความเป็นไทยแท้ เพราะหากย้อนกลับไปจริง ๆ การใส่ชุดไทยโบราณแบบเต็มยศในการเล่นน้ำแทบไม่เคยเกิดขึ้น หรือถูกบันทึกในประวัติศาสตร์เลย มีเพียงชุดไทยที่มีลักษณะสบาย ๆ ที่สามารถเข้าร่วมการสาดน้ำแบบพอเหมาะพอควรเป็นพิธีเท่านั้น
ไม่ว่าเทศกาลจะวิ่งวนไปในทิศทางใด แฟชั่นก็จะวิ่งตามไปเสมอ จะมีกระแสหลักหรือกระแสต้านลักษณะของกิจกรรมที่ทำอยู่ในเทศกาลนี้ จะเห็นได้ว่าแฟชั่นเสื้อผ้าเป็นส่วนสำคัญในการแสดงออกทางสัญลักษณ์ของจุดยืนนั้น ๆ แต่ที่เห็นได้ชัด คือมันคือเทศกาลแห่งความสนุกสนาน ไม่ว่าจะชอบแต่งกายแบบใด เที่ยวแบบใด เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะเลือก ตอนนี้โลกเปิดกว้างมาก หากเราไม่ชอบสิ่งที่เป็นอยู่ นั่นก็สิทธิ์ของเราเช่นกัน ไม่ว่าคุณจะชอบแบบใดขอให้ทำโดยไม่ก้าวก่ายสร้างความรำคาญใจแก่ผู้อื่นเท่านั้นเป็นพอ
เรื่องและภาพบางตอน จาก VOGUE Thailand