เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 ที่สำนักงานประกันสังคม นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) เรียกประชุมคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ครั้งที่ 7/2563 หารือการเยียวยาให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 เพื่อเตรียมนำข้อสรุปเสนอขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 15 เมษายนนี้ ทั้งนี้ที่ประชุมใช้เวลาหารือนานกว่า 4 ชั่วโมง
นายสุทธิเปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้เห็นชอบให้โรคโควิด-19 ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ที่ทำให้ลูกจ้างผู้ประกันตนเกิดการว่างงานเป็นจำนวนมาก และกองทุนประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินกรณีว่างงาน เพื่อเยียวยาผลกระทบที่ร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเดือนละ 7,080 -8,000 บาท ซึ่งขณะนี้กองทุนประกันว่างงานมีเงินรวม 1.6 แสนล้านบาท
นายสุทธิกล่าวว่า โดยหลังจากนี้ จะนำรายละเอียดเสนอต่อ ครม.เพื่อเห็นชอบ และออกประกาศกฎกระทรวงตามรายละเอียดข้างต้น หลังจากนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
นายสุทธิกล่าวว่า หากรายละเอียดทั้งหมด ดำเนินการได้ตามขั้นตอน ประกันสังคมจะสามารถจ่ายเงินอย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์หน้าได้แน่นอน เพราะในระบบของกระทรวงแรงงานมีข้อมูลของลูกจ้างและผู้ประกันตัวอยู่แล้ว เบื้องต้นมีอยู่ที่ประมาณ 700,000 คน ที่ว่างงานในระบบ
นอกจากนี้ ประกันสังคมยังต้องรายงานวินัยทางการเงินของกองทุน รวมถึงสภาพคล่องอื่นๆ ให้รับทราบด้วย เพราะครั้งนี้ถือเป็นการใช้เงินจำนวนมาก อาจจะต้องหาแนวทางสำรองเตรียมไว้ด้วย เช่น การกู้ยืมเงินในกรณีที่ปัญหาไม่จบลงในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้
“ท่านนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในครั้งนี้ ที่ลาออก-เลิกจ้าง อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคน และที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตรงๆ อยู่ที่ 3.5 แสนคน รวมถึงรัฐสั่งปิดอยู่ที่ 8 แสนคน (ล็อตเก่า) ผู้ประกันตนมีทั่งหมด 11 ล้านคน เราจะดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร็วที่สุด” นายสุทธิกล่าว
นายสุทธิกล่าวเพิ่มเติมประเด็นวินัยทางการเงินของกองทุนว่างงานว่า จะต้องรายงานให้ ครม.รับทราบถึงจำนวนเงิน สภาพคล่องเป็นอย่างไร และจะใช้เงินจำนวนเท่าไร เท่าที่ประเมิน จะพยายามหมุนสภาพคล่องให้ดีที่สุด จำนวนเงินกองทุนประกันการว่างงานอยู่ที่ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท จะพยายามบริหารให้พอ หรือแนวทางการจัดหาเงินเพิ่มเติม หากปัญหากินเวลามากกว่า 3 เดือน อาจจะต้องหาแนวทางสำรอง เช่น การกู้ยืมเงิน เป็นต้น
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์