แนะวิธีรับมือ เครียดจากสถานการณ์โควิด-19

Tips & Tricks สารพันเกร็ดน่ารู้
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์

โควิด-19ทำเครียด – สถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดความเครียดและความกังวลใจ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ มีคำแนะนำในการดูแลจิตใจ

และผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ว่า 4 สาเหตุหลักในผู้ป่วยที่มาพบจิตแพทย์ ระบุว่า โควิด-19 ทำให้เกิดความเครียดคือ 1.กลัวการติดเชื้อ เพราะไม่แน่ใจได้ว่าที่ไหนจะปลอดภัย 2.สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรายวันนโยบายรัฐฯ ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เกือบทุกวัน

3.ความกังวลเรื่องหน้าที่การงานบางคนโดนสั่งพักงานหรือที่ทำงานต้องปิดตัว

และ 4.สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียด คือ การที่ไม่รู้ว่าสถานการณ์นี้จะยาวนานเพียงใดผลกระทบทางเศรษฐกิจจะนานแค่ไหน แม้หลายคนจะให้ความร่วมมือกับนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม

หรือปฏิบัติตามรายงานของภาครัฐอย่างเคร่งครัดแต่การแพร่ระบาด ก็อาจจะยังไม่ยุติในระยะเวลาอันใกล้

วิธีเตรียมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้าใจคือ 1.ไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ในสถานการณ์แบบนี้อาจเกิดความเครียดขึ้นได้

แต่ความเครียดอาจทำให้เกิดภาวะท้อถอยหมดหวัง อารมณ์ที่ไม่เป็นปกติทำให้เรามีโอกาสตัดสินใจทำสิ่งใดๆ โดยไม่รอบคอบ คำแนะนำคือ ควรประคับประคองอารมณ์ให้ผ่านสถานการณ์ไปให้ได้ในแต่ละวันรักษาตัวให้ดีอย่าให้ติดเชื้อ

2.ติดตามข่าวสารเท่าที่จำเป็น เช็กข่าววันละครั้งก็เพียงพอเลือกรับข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ลดการเสพโซเชี่ยลมีเดีย ระมัดระวังข่าวปลอม

3.ปฏิบัติตามคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เป็นต้น

4.ตรวจสอบอาการทางร่างกายจิตใจอารมณ์ของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังอาการซึมเศร้า

5.ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติและมีคุณค่า แม้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เราก็จำเป็นต้องดำเนินชีวิตให้เป็นปกติ อย่ามัวแต่จดจ่ออยู่กับข่าวจนป่วยทั้งใจและกาย เทคนิคใช้ชีวิตให้ปกติ ประกอบด้วยกินให้เป็นปกติ นอนให้ปกติ

การนอนหลับให้เพียงพอเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดี ป้องกันไวรัสและภาวะซึมเศร้าได้ เชื่อมต่อกับผู้คน แม้จะเจอเพื่อนฝูงผู้คนเหมือนเมื่อก่อน ไม่ได้ แต่ยังสามารถเชื่อมต่อ พูดคุยปรึกษาหารือกันได้ โดยใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อถึงกัน หากิจกรรมทำอย่าให้ว่าง

แม้จะทำงานจากบ้านก็ควรทำตัวเหมือนปกติ ตื่นเช้า อาบน้ำ แต่งตัว หรือออกกำลังกายตามยูทูบแทนการไปฟิตเนสทำสิ่งที่สนใจและงานอดิเรกที่ชอบ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

ออกกำลังกายสมอง ใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ทำกิจกรรมในเงื่อนไขสถานการณ์ที่จำกัด เช่น ลองวาดรูปภาพด้วยอุปกรณ์เท่าที่มี อบขนมหรือทำอาหารง่ายๆ ฟังเพลง เป็นต้น

สุดท้าย คือ ฝึกปรับทัศนคติ อย่าตระหนก อย่ากังวลจนเกินไป โดยใช้หลักการ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) คือ ทุกครั้งที่มีความรู้สึกแย่ๆ เกิดขึ้นต้องรู้สึกตัว ลองใช้เวลาสักวันละ 5 นาที สำรวจ ทบทวนความคิด ความรู้สึก หรือการตอบสนองทางร่างกาย

หรือถ้าไม่แน่ใจลองถามคนรอบข้างและคนใกล้ชิด เมื่อรับรู้ถึงความรู้สึกลบ ไม่ต้องพยายามปรับให้เป็นบวก โดยการอยู่บนพื้นฐานความจริงอยู่แบบกลางๆ (Neutral) มีทั้งลบและบวก

เมื่อรู้สึกแล้วก็แค่รับรู้ว่ามันเป็นความรู้สึก ไม่ต้องไปหงุดหงิดซ้ำซ้อนยอมรับว่าความผิดพลาด ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ Mindfulness ช้าลงช่วยให้เร็วขึ้น ใช้ชีวิตให้ช้าลงสักนิด เช่น ขณะทานข้าวลองใช้เวลาสั้นๆ รับรู้รสชาติ พักความคิดสัก 10 วินาที แล้วลองฝึกที่จะจดจ่ออยู่กับวินาทีที่เป็นปัจจุบัน นั่นคือช่วงที่ Mind ได้รับการบำบัด Take A Break หยุดทั้งความคิดลบและบวก

เทคนิคนี้เรียกว่า Mindfulness ฝึกให้ได้วันละนิดเมื่อนึกได้ เมื่อ Mind ได้พักเติมพลังเป็นระยะๆ จะมีเรี่ยวแรงออกไปสู้รบกับสถานการณ์ยากๆ ได้ใหม่ Sharing is Caring คงความสัมพันธ์ไว้ให้มั่น แม้จะห่างกายตามนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม แต่ไม่จำเป็นต้องห่างกัน สามารถโทร.คุยกัน หรือจะ วิดีโอคอลให้เห็นหน้ากันบ้าง

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์