โรงงานซีพีหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อคนไทย ย่าน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เปิดสายการผลิตไปแล้วเมื่อห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
เป็นอีกหนึ่งกิจการของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมีแนวคิดผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรีให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน สร้างเสร็จตามกำหนดเวลา 5 สัปดาห์ ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท โดยกำลังการผลิตปัจจุบันตั้งเป้าวันละ 100,000 ชิ้น หรือ 3,000,000 ชิ้นต่อเดือน เป็นโรงงานอัตโนมัติที่ใช้ผู้ควบคุมในโรงงานเพียง 3 คน เพื่อให้เป็นโรงงานที่ปลอดเชื้อโรคสูงสุด และสามารถผลิตได้ 24 ชั่วโมง
วันแรกของการเดินเครื่อง ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) พร้อมด้วย ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือฯ, สุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือฯ นำ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะ เข้าเยี่ยมชมโรงงาน พร้อมส่งมอบหน้ากากอนามัย 100,000 ชิ้นแก่โรงพยาบาลจุฬาฯ
หลังเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าว “เจ้าสัวซีพี” วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ตอบคำถามสื่อมวลชนในหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจยิ่ง ผ่าน ZOOM ยุคที่โควิด-19 ยังแพร่ระบาด
งัดขั้นตอนพิเศษ แก้สถานการณ์วิกฤต
ทันทีที่ข่าว “ซีพี” สร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกจ่ายบุคลากรทางการแพทย์เผยแพร่สู่สาธารณะ พลันเกิดข้อสงสัยจำนวนไม่น้อยว่า หากประชาชนทั่วไปสนใจจะมีโอกาสได้รับด้วยหรือไม่?
ประเด็นนี้ เจ้าสัวซีพีตอบชัด “ถ้ามีเหลือนะ เพราะเราพูดไว้ว่ามีจำนวน 3 ล้านชิ้น แต่เวลาพูดต้องระวัง เพราะมันไม่พอ”
“เราจะให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน ซึ่งเขาจำเป็นและต้องนำไปให้คนไข้ก่อน แล้วพวกที่ไม่ออกจากบ้านจะเอาไปทำไม? ทุกคนอยู่ในบ้านไม่มีโรค ใช้ชีวิตปกติ ดังนั้น ผมถึงบอกว่าถ้าเราไม่มีเงินบริจาค เราอย่าไปเพิ่มภาระให้หมอ ให้สังคม ถ้าเราอยู่บ้าน ปกป้อง หลีกเลี่ยง ไม่ให้ติด โรคนี้ก็จะหายไปเอง แต่ถ้ามัวไปเที่ยวชุมนุม ไปดื่มเหล้า ก็เอาโรคนี้ไปติดให้คนอื่น หรือเขามาติดให้เรา จนไปติดลูกเมีย เพื่อนฝูง ไม่มีวันจบ”
กระทั่งมีคำถามว่า แล้วซีพีจะแจกไปถึงเมื่อไหร่? ธนินท์ให้ความเห็นส่วนตัวว่า คิดว่าวิกฤตนี้ไม่นาน ถ้านานต้องเปลี่ยนแปลงความคิดของรัฐบาลด้วย เพราะนี่ไม่ใช่ความผิดของใคร ถ้าบอกว่าธุรกิจล้มละลาย เขาก็ไม่อยากล้มละลาย แต่มันเจอเหมือนกันหมดทั้งโลก
ขณะเดียวกันยังชวนให้มองถึงการใช้ “ขั้นตอนพิเศษ” เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันได้ผิดปกติไปแล้ว
“วันนี้จะมาพูดถึงขั้นตอนการปฏิบัติซึ่งมันกลายเป็นเรื่องปกติแล้ว แม้จะปกติแบบเก่าก็ต้องแก้ให้เร็ว อย่าคิดว่าเจอวิกฤตแล้วใช้ขั้นตอนปกติไม่ได้ วันนี้ผิดปกติ เราต้องใช้ขั้นตอนพิเศษ
“ผมเชื่อว่าการศึกษาเรื่องยาจะก้าวกระโดด เพราะสมัยโบราณเทคโนโลยีไม่มาถึงอย่างนี้ ห้องแล็บก็ช้า ขั้นตอนยืดเยื้อ กว่ายาตัวหนึ่งจะออกมาได้ก็หลายปี 9 ปี 10 ปี วันนี้เทคโนโลยียอดเยี่ยมแบบนี้ก็ไม่ต้องรอ 9 ปี 10 ปีแล้ว ถ้าห้องแล็บเราเร็วขึ้น เทคโนโลยีเร็วขึ้น คนมีความรู้มากขึ้น ทำไมไม่คิดว่าแก้ตรงนี้ล่ะ ดังนั้น วิกฤตครั้งนี้ทำให้ขั้นตอนที่โบราณตั้งไว้เปลี่ยนแปลง”
หนุนกู้ 1 ล้านล้านพยุงเศรษฐกิจ
ชี้ ‘โควิด’ กระทบน้อยกว่า ‘ต้มยำกุ้ง’
ประเด็นร้อนแรงที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ การกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ธนินท์มองว่า การกู้เงินของรัฐบาลกว่า 1 ล้านล้านบาท หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีถือว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับในอนาคตที่รัฐจะได้ภาษีคืนมาทั้งหมดแน่นอน อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบที่เจ้าสัวยืนยันว่า “อย่างซีพีไม่ต้องจ่าย เรารับผิดชอบเอง แต่มีหลายบริษัทที่รับผิดชอบไม่ได้ ควรไปช่วยคนที่มีปัญหา อย่าให้เขาล้มหายตายจากไป”
สำหรับมาตรการเยียวยาประชาชนที่มีเสียงบ่นกันขรมว่าขั้นตอนยุ่งยากนั้น ธนินท์แนะนำให้รัฐบาลมองว่า “ทุกคนเป็นคนดี” เสียก่อน จากนั้นถึงค่อยจัดการกับคนโกงภายหลัง
“ผมทำอะไร คิดอะไร คิดในแง่ดี แต่คนส่วนน้อยไม่ได้คิดอย่างนั้น คิดว่าเขาโกง ดังนั้น รัฐควรมองว่าทุกคนเป็นคนดี ไม่โกง เมื่อทุกคนไม่โกงแล้วก็จ่ายไปเลย ไม่ต้องมาขั้นตอนเยอะ เหมือนที่อังกฤษและอเมริกา แต่ถ้ารู้ว่ามีคนโกงก็ค่อยตามไปจัดการทีหลัง
“ถ้าให้พูดแล้ว ต้มยำกุ้งหนักกว่านี้ เพราะตอนนั้นเรามีปัญหาด้วยตัวเอง เงินคงคลังของรัฐบาลมีเพียง 3.8 หมื่นล้านบาท แต่เอกชนและรัฐบาลมีหนี้อยู่กว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับประเทศล้มละลายเลย แล้วก็ต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เราก็ไม่มีสิทธิอะไรเลย ต้องฟังคำสั่งเขาแต่ผู้เดียว
“แต่วิกฤตโควิดทำให้โลกนี้เปลี่ยนแปลงเรื่องการทำงานในบ้าน คือไม่จำเป็นไม่ต้องมา และนอกจากทำงานในบ้านแล้ว จะไปทำงานที่ไหนก็ได้ ไปเที่ยวแล้วทำงานด้วยก็ได้ เพียงแค่ออนไลน์เข้ามา”
คลีนพื้นที่-ชวนเศรษฐีกักตัว
กลยุทธ์ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ
ในวันที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แผลงฤทธิ์ให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวซบเซา เจ้าของเครือซีพีชี้แนวทางแก้ไขหนึ่งที่น่าสนใจยิ่ง
ธนินท์กล่าวว่า กรณี “โรงแรม” นั้น แม้วันนี้จะไม่มีคนมาท่องเที่ยวแล้ว แต่ก็อย่าอยู่เฉย ควรอบรมพนักงานให้เตรียมพร้อมรับหลังวิกฤตโควิด-19 เช่น จะบริการลูกค้าดีกว่านี้อย่างไร จะให้คนเข้าพักเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าจะไม่มาติดโรคจากโรงแรม
ดังนั้น หนึ่ง ต้องไปออกกำลังกายให้เข้มแข็ง สอง ต้องมอบรอยยิ้มแจ่มใสให้ลูกค้าที่มาใช้บริการ และ สาม มองหาจุดอ่อนของธุรกิจตัวเอง พร้อมแก้ไขปรับปรุง
เขาบอกอีกว่า หากตนเป็นรัฐบาล วันนี้ต้องมาคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรให้คนมาท่องเที่ยวแล้วปลอดภัย อาจทำทั่วประเทศไทยไม่ได้ แต่อาจมีที่ไหน จังหวัดไหน แห่งไหน เราทำให้ปลอดจากโควิด-19 ได้ โดยอาจไปชักชวนคนมีเงิน คือไม่ได้รีดไถ แต่มาหลีกเลี่ยงความตาย
“คนเหล่านี้มีเงิน ถ้าชักชวนว่ามาสิ เราตรวจก่อนเลย กักตัวไว้จนชัวร์ว่าไม่มี แล้วก็เหมาเครื่องบินทั้งลำมาอยู่โรงแรมเดียวกัน ไม่มีคนอื่นมาปน ไปแสตมป์กันบนเครื่องบินเลย ขึ้นรถทัวร์ตรงไปที่โรงแรม อยู่ที่นั่น 15 วันแล้วก็ดูแลอย่างดี จัดหมอพยาบาลมาตรวจสุขภาพให้เขามีความอุ่นใจ เมืองไทยเราสถิติดี ตาย 47 คน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 เวลา 21.00 น.) น้อยมาก แสดงว่าหมอเราเก่ง พวกเศรษฐีอาหรับยังต้องมาหาหมอเมืองไทย รพ.บำรุงราษฎร์ รพ.กรุงเทพ ฯลฯ ต้องขอบคุณ รพ.จุฬาฯ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี ที่สร้างหมอและพยาบาลให้โรงพยาบาลเอกชน แต่ยังไม่พอ
“รัฐบาลน่าจะทุ่มการสร้างหมอและพยาบาลมากขึ้น เพราะต่อไปถ้าโรงพยาบาลดี หมอเก่ง ทั่วโลกมารักษาเมืองไทยหมด และจะดีกว่าท่องเที่ยวอีก เมื่อคนมีเงินมา เขาหนีตาย แต่เราทำหรือเปล่า เรื่องนี้ต้องผนึกกำลังกัน รัฐบาลต้องเข้าใจตรงนี้”
แนะรัฐบาลไทยตั้งเป้า ‘ศูนย์กลางเศรฐกิจโลก’
นอกจากแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวตามที่กล่าวไปแล้ว เจ้าสัวธนินท์ยังแนะนำให้รัฐบาลตั้งเป้า ประเทศไทยเป็นศูน์กลางเศรษฐกิจโลก พร้อมยืนยันว่าโครงการต่างๆ ของซีพีจะดำเนินการต่อเนื่อง ไม่มีหยุดยั้ง
“ผมยังมองโลกในแง่ดี และรถไฟความเร็วสูง (เชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) อีก 4 ปีกว่าจะสร้างเสร็จ พอดีเลย ตอนนั้นเศรษฐกิจทั่วโลกจะบูม เพราะทุกครั้งหลังวิกฤตเศรษฐกิจจะบูมอย่างก้าวกระโดด และเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้น ถ้าจะดีเลย์ก็เพราะรัฐบาล
“ผมคิดว่าตอนนี้เรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นส่วนที่เราเตรียมพร้อมที่ต้องรับหลังวิกฤต ยืนยันว่าไม่หยุดก่อสร้าง เพราะเราเตรียมพร้อมอยู่แล้ว หากรัฐบาลสนับสนุนให้ทั่วโลกมั่นใจว่าโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง เราไม่หยุด อีอีซีเดินหน้าเต็มที่ พร้อมไปชักชวนคนเก่งจากทั่วโลกให้อินเซนทีฟ ถามนักธุรกิจทั่วโลกว่าทำไมถึงยังจะมาเมืองไทย เพราะเรามีอัธยาศัยดี พื้นฐานดี คนนิสัยดี เป็นศูนย์ระดับโลก
“ทำไมรู้ไหม? เพราะอาเซียน 10 ประเทศ มีประชากร 600 กว่าล้านคน ไทยเป็นศูนย์กลางระดับโลก บริเวณนี้มี 3 พันกว่าล้านคน ครึ่งโลกแล้ว และเจริญเติบโต เพราะมีทั้งจีนและญี่ปุ่นที่กำลังเติบโต ญี่ปุ่นเองก็รวยที่สุด ตามด้วยจีนที่กำลังเติบโต 1.4 พันล้านคน ตามด้วยอินเดียที่มีประมาณ 1.2 พันล้านคน หากอินเดีย 20 เปอร์เซ็นต์รวยเท่าคนอเมริกาและญี่ปุ่นได้แน่นอน ถ้าจีน 30 เปอร์เซ็นต์จะร่ำรวยกว่าอเมริกาอีก เพราะมี 1.4 พันล้านคน และใหญ่เท่ายุโรป แต่ถ้าบอกว่า 1.4 พันล้านคนรวยเท่ายุโรป อเมริกานั้นยาก วันหนึ่งต้องกระทบแน่ แต่ถ้าบอกว่า 30 เปอร์เซ็นต์รวยเท่า ก็ใหญ่เท่ายุโรป ใหญ่กว่าอเมริกา อีกทั้งรัสเซียเองก็อยู่ในภูมิภาคนี้
“ที่น่าสนใจคือ วัฒนธรรมของไทยนั้นน่าสนใจ ใครมาเที่ยวก็ชอบมาเที่ยวอีก พอมาอยู่ไทย 1-2 ปีก็ไม่กลับประเทศแล้ว ดังนั้น เรื่องนี้ต้องรักษาไว้ และรัฐบาลต้องไม่ตั้งเป้าว่าจะเป็นเพียงศูนย์กลางอาเซียน ต้องตั้งเป้าว่าเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก
“ผมสั่งกับทั่วโลกว่า เรามีวัฒนธรรมยอดเยี่ยมดีงามต้องรักษาไว้ รับรองว่าการที่เราเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกจะเกิดขึ้นแน่แท้ แต่รัฐบาลต้องเข้าใจ ต้องมีเป้าหมาย สื่อมวลชนก็ต้องช่วยกันคิดและชี้แนะรัฐบาล ต้องเปลี่ยนแปลงความคิดของนโยบายรัฐบาล เติมเต็มด้วยโอกาส
“วันนี้เราเจอวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องชั่วคราว แต่วัฒนธรรมของเรายั่งยืน เราขาดคน แต่ถ้ามัวสร้างคนก็ไม่ทันแล้ว เมื่อรู้ว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญที่สุด และคนเก่งๆ ในโลกนี้ก็อยากมาอยู่ไทย มาใช้ชีวิตเมืองไทย ทำไมไม่ออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้คนเก่งในโลกนี้ อาจสัก 5 ล้านคนมาอยู่ไทย เราชุบมือเปิบเลย ไม่ต้องมัวสร้างอีก 5 ล้านคน ดังนั้นก็ไปชักชวนเขามา แล้วก็ให้กลายเป็นคนไทยไปด้วยเลย เรามี 70 ล้านคน เอาคนเก่งๆ มาสัก 5 ล้านคนจะเป็นอะไรไป
“คนเหล่านี้นอกจากเก่งแล้ว ยังมีเงินอีก คนสร้างทุกอย่าง คนสร้างเงิน ไม่ใช่เงินสร้างคน ไม่ใช่ว่าเรามีเงินแล้วทำได้ทุกอย่าง เราต้องมีคนเก่ง แล้วให้คนเก่งทำได้ทุกอย่าง รัฐบาลต้องเข้าใจ ต้องออกกฎเกณฑ์ชักชวนคนเก่งเข้ามา เมื่อมีคนเก่ง 5-10 ล้านคน รับรองว่าธุรกิจใหญ่ๆ ของโลกก็มาด้วย ผมมองว่าถ้าคนเก่งที่เราต้องการ ไม่ต้องเก็บภาษีรายได้ยังได้เลย เพราะเมื่อเขาทำธุรกิจใหญ่ มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีการค้า เราได้สร้างคน สร้างงาน นี่สำคัญกว่า ให้เขาอยู่เมืองไทยอย่างยั่งยืนไปเลย
“เรามีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีวัฒนธรรมที่ดี เรามีโอกาสเชิญคนเก่งทั่วโลกมา แล้วก็ออกกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก แล้วก็ทำสัญญากับทุกประเทศเลย ต่างคนต่างปลอดภาษี โดยสื่อมวลชนเองก็ต้องช่วยกัน ให้ข้าราชการ รัฐบาล นักการเมืองเข้าใจว่าเมืองไทยเต็มไปด้วยโอกาส”
ไม่เลิกจ้างพนักงานแม้แต่คนเดียว
เป็นที่รับรู้กันว่าอาณาจักรซีพีให้ความสำคัญกับ “คน” ฉะนั้น ในยามวิกฤตเช่นนี้เจ้าสัวธนินท์จึงให้การยืนยัน ไม่เลิกจ้างพนักงานแน่นอน
“ในสถานการณ์นี้ เครือซีพีประกาศว่าซีพีในทุกประเทศทั่วโลกจะไม่มีการเลิกจ้างพนักงานออกแม้แต่คนเดียว และต้องดูแลพนักงานของซีพีให้ดีที่สุด ไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยมีมาตรการต่างๆ ออกมา เพื่อช่วยปกป้องพนักงานไม่ให้เข้าไปเผชิญความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มีการใช้มาตรการทำงานที่บ้านโดยยังจ่ายเงินเดือนและรายได้เช่นเดิม ซีพีให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานมาก เพราะการรักษาคนของซีพีก็เท่ากับบริษัทรักษาพลังของบริษัทไว้คู่กัน เพื่อเตรียมพร้อมเดินหน้าหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย
“เราจะสำเร็จได้ต้องมีคน หุ่นยนต์เก่งกว่าคนนั้นไม่จริง เพราะคนสร้างหุ่นยนต์ เขาจะเก่งกว่าเราได้ไง เพียงแต่คนเราต้องเสียชีวิตไป เกิด แก่ เจ็บ ตาย หุ่นยนต์มันไม่ตาย ซอฟต์แวร์ยังอยู่ คนใหม่สามารถต่อยอดได้ วันนี้ผมยังเชื่อว่าไม่มีหุ่นยนต์ที่มีน้ำใจ มีจิตใจ หรือเก่งเท่ามนุษย์ และไม่ฟ้องเราด้วยนะ (หัวเราะ) เพราะถ้าเราใช้คนเกินเวลากว่ากฎหมายก็ผิด แต่ไม่มีใครมากำหนดว่าคุณใช้หุ่นยนต์ 24 ชั่วโมงไม่ได้
“วิกฤตกับโอกาสมาคู่กัน มีวิกฤตก็จะตามมาด้วยโอกาส ดังนั้น ใครที่เจอวิกฤตแล้วอยู่รอด โอกาสก็จะมา แต่เราต้องคิดว่าทำยังไงให้อยู่รอดพ้นวิกฤต ไม่ใช่มัวแต่วิกฤตๆ เราต้องคิดว่าหลังวิกฤตล่ะ ช่วงนี้คนตกงาน มีงานน้อยลง เราก็ใช้ตรงนั้นมาฝึกฝนคนของเรา เปลี่ยนว่าหลังวิกฤตแล้วคนอื่นยังอ่อนแออยู่ แต่คนของเราเข้มแข็งมาก เตรียมพร้อม หลังวิกฤตแล้วเราวิ่งเลย ดังนั้น หลักสำคัญที่สุดในทฤษฎีของผมคือ ตอนที่ไม่มีวิกฤต ต้องเตรียมทำเรื่องที่วิกฤตจะมาแล้ว ส่วนตอนที่วิกฤตมาแล้ว เราต้องทำเรื่องหลังวิกฤต
“ไม่ใช่รอวิกฤตแล้วถึงมาเตรียมพร้อม อย่างนั้นสายเกินไป” คือสิ่งที่เจ้าสัวธนินท์เน้นย้ำ
ที่มา | หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | ชนากานต์ ปานอ่ำ |