อาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ต หรือสั่งอาหารมาบ้าน เสี่ยงโรคโควิด-19 แค่ไหน?

Tips & Tricks สารพันเกร็ดน่ารู้

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าวบีบีซีประจำประเทศไทย นำเสนอเรื่องของ “อาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือสั่งอาหารมาบ้าน เสี่ยงโรคโควิด-19 แค่ไหน?” โดยกล่าวถึงสินค้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ว่ายังไม่ถูกเรียกว่าเป็น “สิ่งของจำเป็นต่อการดำรงชีพ” และเราสามารถไปซื้อหาบ่อยแค่ไหนก็ได้ อย่างที่สหราชอาณาจักร หรือที่ประเทศอังกฤษเวลานี้ รัฐบาลแนะนำให้คนใช้บริการ “มาส่งอาหารที่บ้าน” แทนถ้าเป็นไปได้

อะไรคือวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือรับสินค้าและอาหารที่มาส่งที่บ้าน

ศาสตราจารย์แซลลี บลูมฟีลด์ จากวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน บอกว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็น “แหล่งอันดีเลิศ” สำหรับการแพร่เชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นคนที่จับสินค้าแล้วก็วาง บริเวณต่อคิวจ่ายเงิน การจับเครดิตการ์ด หรือการกดเอทีเอ็ม และนี่ยังไม่นับว่าคนที่จับจ่ายใช้สอยต้องยืนใกล้กันแค่ไหน

แต่ความเสี่ยงเหล่านี้สามารถป้องกันได้โดย ล้างมือด้วยสบู่ หรือทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังออกไปซื้อของ คิดเสียว่าพื้นผิวทุกที่มีเชื้อติดอยู่ จะได้ไม่ไปแตะหน้าตัวเองหลังไปจับรถเข็น หรือสินค้า และถ้าเป็นไปได้ใช้บัตรจ่ายเงินแทนเงินสด

อย่างไรก็ตาม ตัวสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต ยังไม่มีหลักฐานว่าโรคโควิด-19 สามารถติดต่อผ่านอาหารได้ และการประกอบอาหารอย่างถี่ถ้วนจะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้  แต่ ศาสตราจารย์บลูมฟีลด์ บอกว่าไม่มีอะไรที่มี “ความเสี่ยงเป็นศูนย์” เธอบอกว่าสิ่งที่ต้องระวังคือพื้นผิวด้านนอกของบรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารมา  เธอแนะนำให้วางทิ้งไว้ก่อน 72 ชั่วโมง ค่อยนำมาใช้  หรือไม่ก็เช็ดพื้นผิวด้านนอกของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก หรือแก้วด้วยน้ำยาขจัดคราบที่ผสมให้เจือจางตามสัดส่วนที่ระบุไว้ข้างขวด   “สำหรับของสดที่ไม่ได้ห่อมา ซึ่งใครจับมาแล้วบ้างก็ไม่รู้ ให้ล้างน้ำให้ทั่วและปล่อยให้แห้ง”

แล้วของที่มาส่งที่บ้านล่ะ? ทำอย่างไรจะไม่เสี่ยง

แน่นอนว่า การสั่งของมาส่งที่บ้านเป็นวิธีที่ปลอดภัยกว่าการออกไปซื้อของเอง  แต่ก็มีความเสี่ยงเชื้อจากบริเวณกล่องใส่สินค้า หรือจากคนที่มาส่งของ ดร.ลิซา แอคเคอร์ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยด้านอาหาร แนะนำว่าให้เขียนข้อความติดไว้ที่ประตู ให้คนมาส่งของกดกริ่ง และช่วยถอยออกไป เราจะได้ออกไปหยิบของได้อย่างปลอดภัย  ขณะที่ ดร.เจมส์ กิล จากวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยวอร์ริค แนะนำว่าให้เช็ดของด้วยน้ำยาฟอกขาว และเชื้อโรคจะตายภายในหนึ่งนาที

ส่วนการซื้ออาหารกลับบ้านนั้น  ร้านอาหารจำนวนมากเปลี่ยนรูปแบบมาให้บริการแบบซื้ออาหารกลับบ้านแทน ซึ่งมีแนวโน้มว่าร้านที่มีสาขาเยอะและมีชื่อเสียงจะเตรียมอาหารอย่างสะอาด และเป็นมืออาชีพมากกว่า  ศาสตราจารย์ บลูมฟีลด์ บอกว่าผู้ที่ซื้ออาหารกลับบ้านสามารถลดความเสี่ยงด้วยการเทอาหารลงในจานสะอาด ทิ้งกล่องที่ใส่อาหารไปเสีย  และล้างมือให้สะอาดก่อนกิน “ใช้ช้อนตักอาหารออกมาจากกล่อง และกินด้วยมีดและส้อม ไม่ใช่มือ”

ในสถานการณ์แบบนี้ อาจจะดีมากกว่าหากเรากินอาหารร้อนที่ทำใหม่ แทนที่จะเป็นอาหารแบบเย็นและดิบ  สำนักงานมาตรฐานอาหารแห่งสหราชอาณาจักร (UK Food Standards Agency) ย้ำว่าความเสี่ยงติดเชื้อผ่านอาหารอยู่ในระดับต่ำมาก และก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเลี่ยงอาหารที่ทำมาแล้ว หากผ่านการเตรียมอาหารอย่างดี

สำหรับกลุ่มคนเปราะบางอย่างคนชรา ผู้สูงอายุ หรือที่มีโรคประจำตัว การระมัดระวังมากเป็นพิเศษจะช่วยทำให้มั่นใจได้มากขึ้น  เช่น ถ้าจะกินพิซซ่า เราอาจจะนำไปเข้าไมโครเวฟเพิ่มอีก 2-3 นาทีก่อนกินก็ได้  ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

fruits-25266_960_720
pizza-767221_960_720