ผู้หญิงชาววัง “แม่ครัวเอก” เจ้าของตำรับอาหารสมัยโบราณ

Culture ศิลปวัฒนธรรม

ในยุคที่ยังไม่มีโรงเรียนสำหรับสอนเด็กผู้หญิง  ขุนนางและข้าราชการ  มีค่านิยมส่งลูกสาวเข้าไปรับการอบรมในพระบรมมหาราชวัง  ซึ่งธรรมเนียมนิยมนี้ปฏิบัติกันมาตลอดจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หมายความว่าขนบธรรมเนียมฝ่ายในและฝ่ายหน้าในพระบรมมหาราชวัง กรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ได้คิดค้นขึ้นมาใหม่ แต่ใช้แบบแผนสืบต่อจากกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานจากจดหมายเหตุ ว่า ทั้งในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  โปรดให้ขุนนางเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา มาประชุมกันถ่ายทอดขนบธรรมเนียมเก่า  โดยเฉพาะฝ่ายใน โปรดให้ “เจ้าฟ้าพินทวดี”  พระราชธิดาในเจ้าฟ้าบรมโกศ เป็นผู้ออกแบบแผนในราชสำนัก และใช้เป็นตำราต่อมา ค่อยๆ แก้ไขเป็นลำดับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมของบ้านเมือง จนประเพณีฝ่ายใน พระบรมมหาราชวังอย่างเดิมมาเลิกสูญไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าขนบธรรมเนียมของผู้หญิงชาววังชั้นสูง ของราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ได้ถ่ายทอดและสืบทอดมาจากกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงชาววังชั้นสูงในยุคสร้างกรุง ไม่ได้มีแต่ชาวกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น ยังมีผู้หญิงชั้นสูงที่มาจากประเทศราชด้วย  ตามธรรมเนียมศึกสงครามในสมัยนั้น มักยกพระราชธิดา ธิดา ให้เป็นบาทบริจาริกาของกษัตริย์หรือพระราชวงศ์ชั้นสูง พระราชธิดา หรือพระธิดาของเมืองเหล่านั้น ย่อมมีบ่าวไพร่ติดตัวมาด้วยเพื่อเป็นข้ารับใช้ ฉะนั้น วังหรือตำหนักของคนเหล่านั้น จึงมีขนบธรรมเนียมแตกต่างไปจากกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน ซึ่งมีความหลากหลายและมีการปรับปรุงรสชาติให้ถูกปาก และเข้ากับรสนิยมของเจ้านายฝ่ายชายผู้เป็นเจ้าของวัง

สำหรับผู้หญิงชั้นสูงที่มาจากประเทศราช และมีฝีมือทางด้านอาหารและการครัว รวมถึงการประดิดประดอยต่างๆ  งานฝีมือชาววังทุกประเภท  สายที่มาจากทางใต้อย่างเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่ “เจ้าจอมมารดาฉิม” ต่อมาได้เป็นกรมหลวงบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ มเหสีฝ่ายซ้าย กับ “เจ้าจอมปราง”  ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ทั้งคู่เป็นพระธิดาของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช(หนู) ชุมนุม 1 ใน 5 ชุมนุม ที่ตั้งขึ้นครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พ.ศ. 2310 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน เสด็จยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้านครฯ นั้น เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ยอมสวามิภักดิ์ และได้ถวายธิดาเป็นบาทบริจาริกา

“เจ้าจอมมารดาอำพัน” ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี   เป็นธิดาของอุปราชจันทร์ แห่งนครศรีธรรมราช  ซึ่งอุปราชจันทร์นี้ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้มีบรรดาศักดิ์เป็นที่เจ้าพระยาสุรินทรราชา ข้าหลวงสำเร็จราชการอยู่เมืองถลาง กำกับราชการหัวเมืองทะเลหน้านอก  8 หัวเมือง ต่อมาจึงได้เป็นอุปราชเมืองนครศรีธรรมราช  เจ้าพระยาสุรินทรราชา บรรพชนเป็นพราหมณ์มาแต่อินเดีย ตัวท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) ผู้มีชื่อเสียงในรัชสมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครั้งกรุงศรีอยุธยา   อุปราชจันทร์ เป็นต้นสกุล “จันทโรจวงศ์”  สำหรับเจ้าจอมมารดาอำพัน มีพระธิดาคือ พระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณ ซึ่งต่อมาได้เป็นพระชายาของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์  วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 2

เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ ในรัชกาลที่ 1 เป็นธิดาเจ้าพระยานคร(พัฒน์) กับท่านผู้หญิงนวล หรือทูลกระหม่อมหญิงใหญ่เมืองนคร  เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ รับราชการเป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระโอรส คือ พระองค์เจ้าอรุโณทัย ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระบวรราชเจ้าหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ 3

สำหรับสายที่มาจากทางภาคเหนือ ได้แก่เมืองเชียงใหม่ มี “เจ้าศิริรจจา” น้องสาวของเจ้ากาวิละแห่งนครเชียงใหม่ เป็นพระชายาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 1 และเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้าพิกุลทอง สำหรับเจ้าศิริรจนา หรืออีกชื่อว่า “เจ้าศรีอโนชา”  ช่วงเวลาที่พระยากาวิละรับเสด็จทัพหลวงแห่งกรุงธนบุรี  ได้ถวายนัดดานารีเป็นบาทบริจาริกานั้น แม่ทัพเอกแห่งกรุงธนบุรี คือ เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ (บุญมา) มีโอกาสเห็นโฉมของเจ้าศรีอโนชา น้องสาวของพระยากาวิละรู้สึกต้องใจ จึงให้คนมาทาบทามสู่ขอ และพากลับกรุงธนบุรี  เจ้าศรีอโนชา หรือ เจ้าศิริรจจา ได้ทำงานเพื่อแผ่นดินสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างธนบุรีกับล้านนา

ส่วนประเทศราชอย่างนครศรีสัตตนาคนหุต(นครเวียงจันท์) ก็มี “เจ้าจอมแว่น”  พระสนมเอกในรัชกาลที่ 1 ในตำนานเมืองขอนแก่นได้กล่าวถึงเรื่องราวของเจ้าคุณจอมแว่น ว่า เจ้าคุณจอมแว่น เดิมนามว่า อัญญานางคำแว่น เป็นธิดาของพระนครศรีบริรักษ์ บรมราชภักดีศรีศุภสุนทร (ศักดิ์ เสนอพระ) เจ้าเมืองขอนแก่นคนแรก และเจ้าคุณจอมยังมีศักดิ์เป็นปนัดดาในสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 (สมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร) แห่งนครเวียงจันทน์ด้วย  เดิมเจ้าคุณจอมอาศัยอยู่กับบิดาที่นครเวียงจันทน์ ตั้งแต่เมื่อครั้งบิดาทำราชการเป็น เพียเมืองแพน กรมการเมืองธุรคมหงส์สถิต และต่อมาบิดาได้เป็นเจ้าเมืองรัตนนคร ชาวจังหวัดขอนแก่นนับถือกันว่าเจ้าจอมแว่นเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งเมืองขอนแก่นหรือเมืองขามแก่น ซึ่งปัจจุบันคือจังหวัดขอนแก่นนั่นเอง

เจ้าศิริรจจา (เจ้าศรีอนโนชา)

เจ้าจอมแว่น เป็นพระสนมเอกที่ได้มีอิทธิพลต่อราชสำนักฝ่ายในเป็นอย่างสูง ชาววังยกย่องให้เป็น “เจ้าคุณข้างใน” ถือเป็นเจ้าคุณองค์แรกในพระราชวงศ์จักรี  เมื่อครั้งทำบุญใหญ่ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าจอมแว่นได้ทำน้ำยาขนมจีน เพื่อเลี้ยงพระสงฆ์แต่เพียงผู้เดียว  ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 สิ้นพระชนม์ เจ้าจอมแว่นยังคงมีบทบาทในราชสำนักฝ่ายใน ในพระฐานะของผู้อภิบาลพระราชโอรสของรัชกาลที่ 2 กับเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ซึ่งเจ้าฟ้าพระองค์นี้มีพระราชมารดาคือ “เจ้าทองสุก” ที่มีเชื้อสายกษัตริย์เวียงจันทน์ แต่ได้สิ้นพระชนม์ตั้งแต่เจ้าฟ้ายังทรงพระเยาว์  จึงได้รับการอภิบาลจากเจ้าจอมแว่น ทั้งเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี และพระโอรสของพระนางทั้ง 3 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และเจ้าฟ้าบัว เจ้าจอมแว่นสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2

ด้านนครหลวงพระบาง มี “เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์” ในรัชกาลที่ 2  พระมารดาของพระองค์เจ้าแม้นเขียน  เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ มีนามเดิมว่า จัน หรือ ลูกจันทน์ เป็นธิดาของเจ้าสุกแห่งหลวงพระบาง มีพี่น้องที่ปรากฏนามอีกสองคน คือ คุณลูกอิน และ คุณทองดี หม่อมละครในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าสุกผู้บิดาได้นำเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์มาถวายตัวแก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ พร้อมกับน้องสาวอีกสองคนดังกล่าว ได้เป็นละครหลวงรุ่นเล็ก ในรัชกาลที่ 1 รับบทเป็น นางวิยะดา เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแล้ว เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็กมีอายุประมาณ 11-12 ปี จึงได้เป็นละครหลวงในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในบทนางมะเดหวี สนองพระเดชพระคุณรับราชการเป็นพระสนม และให้ประสูติกาลพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน

ผู้หญิงชั้นสูงที่มีฝีมือทางด้านอาหาร ศิลปวัฒนธรรม จากกรุงกัมพูชาก็มีเช่นเดียวกัน ได้แก่ “นักองอี” และ “นักองเภา” พระภคินีของพระนารายณ์ราชาธิราชแห่งกรุงกัมพูชา เป็นพระสนมเอกของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ โปรดปรานนักองอีมาก  เมื่อนักนางแม้นมารดานักองอีบวชเป็นรูปชี ตามเข้ามาอยู่ในพระราชวังบวรฯ พร้อมด้วยข้าบริวาร  ทรงยกที่อุทยาน(ตรงที่เป็นวัดบวรสถานสุทธาวาศหรือวัดพระแก้ววังหน้าปัจจุบัน) พระราชทานให้เป็นสำนักชี ในสมัยนั้นจึงเรียกกันว่า วัดหลวงชี และเรียกนักนางแม้นว่า นักชี  พอถึงปลายรัชกาลที่ 1 นักชีถึงอนิจกรรม กุฏิและเรือนชำรุดทรุดโทรม จึงโปรดฯ ให้รื้อเรือนและกุฏิทำเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย เลยเรียกกันว่า สวนกระต่าย เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 3 กรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ 3 จึงทรงอุทิศที่สวนกระต่ายสร้างวัดเรียกว่า วัดพระแก้ววังหน้า  นักองอีมีพระธิดา คือ พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร ทรงพระปรีชาในการกวีนิพนธ์

ข้างฝ่ายใน ราชสำนักสยามเองก็มีผู้หญิงที่มีฝีมือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นับตั้งแต่  “เจ้าจอมมารดาทิม”  ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  บิดาเป็นเชื้อสายเจ้าในราชสกุลกรุงเก่าแต่ไม่ปรากฏพระนาม  ส่วนมารดาคือ ท้าวทรงกันดาล(ทองมอญ)  เป็นพระราชธิดาในสมิงทอพุทธกิตติ หรือ พระเจ้าทอพุทธเกษี (เจ้าเมืองมอญ) เจ้าจอมมารดาทิมมีพี่ชายและน้องสาวร่วมอยู่ในราชินิกุลรัชกาลที่ 3 ชั้นต้น ๆ  สำหรับท้าวทรงกันดาร(ทองมอญ) ผู้มารดานั้น เดิมชื่อ ทองคำ เหตุที่เป็นมอญ คนทั้งวังจึงพากันเรียกว่า “ทองมอญ” เป็นธิดาขุนนางมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินอยุธยา ต่อมาได้เป็นภรรยาของหม่อมเจ้าองค์หนึ่งในราชวงศ์บ้านพลูหลวง ภายหลังเหตุการณ์เสียกรุง จึงได้อพยพติดตามพี่ชายพร้อมสมเด็จพระเจ้าตากสินมายังกรุงธนบุรี  ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินได้แต่งตั้งให้เป็นท้าวทรงกันดาร (ทองมอญ) ในฐานะข้าราชการฝ่ายในผู้ใหญ่ ผู้รู้ขนบธรรมเนียมราชสำนัก ด้วยภายหลังเสียกรุง สูญเสียขุนนางทั้งฝ่ายหน้าฝายในจำนวนมาก ท้าวทรงกันดาร (ทองมอญ) มีหน้าที่ดูแลว่ากล่าวฝ่ายในตลอดจนทุกประการ นับว่าท้าวทรงกันดาร (ทองมอญ) เป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างสูงผู้หนึ่งในวังหลวงสมัยธนบุรี

“เจ้าจอมมารดาตานี”  หรือ “เจ้าคุณวัง” ในรัชกาลที่ 1 เป็นธิดาของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) และ คุณลิ้ม ในช่วงเวลาที่เจ้าจอมมารดาตานีเกิดนั้นเป็นเวลาเดียวกับ พระยาจ่าแสนยากร (เสน) ปู่ของท่านกลับมาจากราชการทัพที่เมืองตานี ท่านจึงได้ชื่อว่า ตานี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค)ได้ถวายคุณตานีเพื่อเข้าเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ท่านเป็นเจ้าจอมที่เป็นที่โปรดปรานคนหนึ่ง ในพระราชวังฝ่ายใน ออกนามเจ้าจอมตานี ว่า “เจ้าคุณวัง” เจ้าจอมตานีมีพี่น้องร่วมบิดาซึ่งได้ถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอีกหลายคน เช่น เจ้าจอมนก  เจ้าจอมส้ม  เจ้าจอมชู  และเจ้าจอมจิตร  หลังจากที่เจ้าจอมตานีประสูติพระราชโอรสพระราชธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจงกล จึงได้รับเลื่อนเป็น เจ้าจอมมารดาตานี

เจ้าจอมมารดาตานีเป็นผู้มีความสามารถทางด้านงานดอกไม้

ท้าววรจันทร ถ่ายเมื่ออายุ45ปี (ภาพจากอัตตชีวประวัติกรมหมื่นพิทยลาภพพฤฒิยากร)

“พระพี่นางเธอ กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี” พระพี่นางพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 1 พระภัสดาคือหม่อมเสม หรือพระอินทรรักษา เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย ฝ่ายพระบวรราชวังสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ประทับที่ตำบลสวนมังคุด  ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้เข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง กำกับราชการฝ่ายใน  กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี มีพระตำหนักอยู่ข้างหลังพระมหามณเฑียร เรียกว่า พระตำหนักเขียว ได้ว่าราชการทั่วไปแทบทุกอย่าง ปละว่าการวิเสทด้วย พระคลังเงินทองสิ่งของต่างๆ ในพระราชวังชั้นในทั้งสิ้น

“พระพี่นางเธอกรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์”  พระพี่นางองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 1  ในสมัยกรุงศรีอยุธยาท่านสมรสกับเจ้าขรัวเงิน บุตรชายมหาเศรษฐีชาวจีน ซึ่งมีมารดาเป็นน้องร่วมมารดากับภรรยาเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ว่าที่โกษาธิบดีในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ครอบครัวของท่านหนีไปอยู่กับครอบครัวของรัชกาลที่ 1 ที่อัมพวา  ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีได้ตามเสด็จรัชกาลที่ 1 มาตั้งบ้านเรือนแพอยู่ที่ตำบลกุฏีจีน  เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงครองราชย์  ได้ตามเสด็จมาประทับในพระบรมมหาราชวัง เป็นผู้กำกับเครื่องใหญ่ในโรงวิเสทต้น

“เจ้าครอกทองอยู่” เป็นข้าหลวงเดิมในเจ้าฟ้าพินทวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง  หลังจากพระเจ้าตากรับเจ้าฟ้าพินทวดีมาจากค่ายโพธิ์สามต้น ท่านทองอยู่ได้ตามเสด็จในฐานะข้าหลวงของสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพินทวดี มารับใช้ในกรุงธนบุรี  ต่อมาได้สมรสกับหลวงฤทธิ์นายเวรมหาดเล็ก โอรสองค์ใหญ่ของกรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี พระพี่นางองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 1 ซึ่งได้เป็นพระยาสุริยอภัย เจ้าเมืองนครราชสีมา ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  เจ้าครอกทองอยู่มีความรู้ความสามารถมาตั้งแต่เป็นชาววังในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา อาหารคาวขึ้นชื่อมากของเจ้าครอกทองอยู่ คือ ขนมค้างคาว ซึ่งทำมาจากแป้งใส่ไส้ผัดด้วยกุ้งและมะพร้าว ปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทย ปั้นเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายค้างคาวกางปีก  ชาววังรู้จักกันดีเรียก “ขนมค้างคาวเจ้าครอกทองอยู่” ถือเป็นอาหารสำรับเด่นคู่กับขนมไส้หมูเจ้าครอกวัดโพธิ์ หรือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุ กรมหลวงนรินทรเทวี

“เจ้าครอกวัดโพธิ์” หรือ  “กรมหลวงนรินทรเทวี” พระน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  รัชกาลที่ 1  สมรสกับหม่อมมุข บุตรสมเด็จเจ้าพระยามหาสมบัติ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา  กรมหลวงนรินทรเทวีมีพระนามเดิมว่า กุ ด้วยเหตุที่ทรงมีนิวาสสถานอยู่ใกล้วัดโพธาราม (วัดเชตุพนวิมลมังครารามหรือวัดโพธิ์ในปัจจุบัน) จึงเป็นที่มาของพระนามว่า “เจ้าครอกวัดโพธิ์” คำเล่าขานเกี่ยวกับเจ้าครอกวัดโพธิ์ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีฝีมือในการทำเครื่องเสวยทั้งคาว หวาน เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 2 มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ขึ้นชื่อ “ขนมจีบเจ้าครอกวัดโพธิ์” เล่าต่อๆ กันว่าแป้งบางใสจนเห็นไส้ข้างใน แต่ไม่ปริแตก ขนมจีบสูตรเจ้าครอกวัดโพธิ์นี้ได้รับการถ่ายทอดแก่ลูกหลานชาววังสืบต่อกันมา 

“สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี” หรือ “เจ้าฟ้าบุญรอด” พระธิดาในพระพี่นางเธอ กรมพระศรีสุดารักษ์ กับเจ้าขรัวเงิน เป็นอัครมเหสีในรัชกาลที่ 2 และเป็นพระราชชนนีของรัชกาลที่ 4 และ สมเด็จพระปิ่นเกล้า เจ้าฟ้าบุญรอดนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้มีฝีมือในการทำอาหารอย่างหาตัวจับยาก ทรงเชี่ยวชาญสำรับอาหารไทยทั้งเครื่องคาว เครื่องหวาน และ ผลไม้  พิเศษกว่านั้นคือทรงเชี่ยวชาญอาหารต่างชาติด้วย ทรงประยุกต์อาหารต่างชาติให้เข้ากับลิ้นของคนไทย เช่น แกงมัสมั่น หรือ ซาละหมั่น อาหารมลายู กลายเป็นที่โปรดปรานของบรรดาเจ้านาย สมเด็จเจ้าฟ้าบุญรอด ทรงรับหน้าที่กิจการด้านเครื่องต้นรับใช้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สืบต่อจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระมารดา  ทรงเป็นอัจฉริยะนารีรัตน์พิเศษพระองค์หนึ่ง

“พระศรีสุราไลย” หรือ “สมเด็จพระศรีสุลาลัย”  มีพระนามเดิมว่า “เรียม” เป็นธิดาเพียงคนเดียวของพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน (บุญจัน) กับคุณหญิงเพ็ง มีนิวาสถานเดิมอยู่ที่เมืองนนทบุรี ด้วยพระชนกเป็นผู้ว่าราชการเมืองนนทบุรี  มีพระอนุชาต่างมารดาชื่อ นาค สมรสกับน้องสาวคนหนึ่งของพระอักษรสมบัติ (หม่อมทับ) บิดาเจ้าจอมมารดาทรัพย์ ในรัชกาลที่ 3  บุรพชนฝ่ายพระชนกนั้นไม่ใคร่ปรากฏหลักฐานนัก ทราบแต่เพียงว่าเป็นชาวไทยมาจากย่านบางเชือกหนัง ส่วนฝ่ายพระชนนีคือ คุณหญิงเพ็งนั้น มีบิดาเป็นมุสลิมสุหนี่ชื่อ พระยาราชวังสัน (หวัง) ที่สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านสุลัยมานแห่งสงขลา  สมเด็จพระศรีสุลาลัย เป็นพระสนมเอกในรัชกาลที่ 2 ตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม ธนบุรี  สมเด็จพระศรีสุลาลัยสมัยนั้นคนในวังเรียกกันว่า “เจ้าคุณ” เป็นผู้ดูแลห้องเครื่องในสมัยรัชกาลที่ 2 และ รัชกาลที่ 3

“ท้าววรจันทร “ หรือ “เจ้าจอมมารดาวาด” ในรัชกาลที่ 4  มีนามเดิมว่า แมว เป็นบุตรีของนายสมบุญ งามสมบัติ (มหาดเล็กในรัชกาลที่ 3) กับท้าวปฏิบัติบิณฑทาน ชื่อเดิม “ถ้วย” ญาติได้นำเข้าไปถวายตัวในวังหลวงตั้งแต่เด็ก เข้าไปเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี  ในยามว่างทรงให้ฝึกหัดละครและเป็นศิษย์ของเจ้าจอมมารดาแย้ม เคยรับบทเป็นพระเอกเรื่องอิเหนา เล่นได้ดีเยี่ยม จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเรียกว่า “แมวอิเหนา” ต่อมาจึงได้เข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วาด” เรียนภาษาอังกฤษกับนางแอนนา เลียวโนเวนส์ พร้อมกับพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอทั้งหลาย เจ้าจอมมารดาวาดประสูติพระโอรสพระองค์หนึ่งคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ต้นราชสกุล โสณกุล ณ อยุธยา  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาวาดได้เลื่อนตำแหน่งเป็นท้าววรจันทร เป็นตำแหน่งชั้นสูงของข้าราชการฝ่ายใน  กิตติศัพท์เล่าลือว่าดุมาก เด็กได้ยินก็กลัวตัวสั่น

กล่าวกันว่าท้าววรจันทรมีฝีมือในการปรุงอาหารเป็นเลิศ โดยครั้งหนึ่งได้ถวายสำรับอาหารเป็นน้ำยาไก่และหมูหวาน แด่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังดุสิต  ซึ่งทรงพอพระทัยในฝีมือของท้าววรจันทรอย่างมาก โดยเฉพาะหมูหวาน  ทรงตรัสยกย่องว่ามีรสชาติราวกับหมูหวานที่เคยเสวยมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์  และในเวลาต่อมา โปรดเกล้าฯ พระราชทานธูปและเทียนบูชาฝีมือท้าววรจันทร ทรงประกาศว่าหากใครผัดหมูหวานได้รสเช่นนี้ได้อีก ก็จะพระราชทานน้ำตาลจำนวนสามเท่าลูกฟักเป็นรางวัล  ท้าววรจันทรยังเป็นผู้มีความกตัญญูต่ออาจารย์ ด้วยอุปถัมภ์เจ้าจอมมารดาแย้ม ซึ่งเป็นครูละครให้ไปอยู่ด้วยกันที่วังปากคลองตลาด เพื่อดูแลอาจารย์ในปัจฉิมวัย หลังเจ้าจอมมารดาแย้มถึงแก่กรรม ท้าววรจันทรก็เป็นธุระจัดแจงพิธีปลงศพให้ และจัดการมอบมรดกมอบให้หลานของเจ้าจอมมารดาแย้มด้วย

ขนมค้างคาว

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวผู้หญิงชาววัง หรือผู้หญิงชั้นสูงที่มีส่วนช่วยสร้างความหลากหลายแก่อาหารไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งล้วนเกิดจากมันสมองและความคิดในการผสมผสานอาหารจากถิ่นกำเนิดของตน เข้ากับอาหารไทย  สร้างรายการอาหารแปลกใหม่ ปรับปรุงรสชาติอาหารดั้งเดิม ขนกระทั่งกลายเป็นตำราหรือสูตรอาหารมาถึงยุคปัจจุบัน