เหตุเกิดจากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้คนในบ้านนี้เมืองนี้มีเวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น ทำในสิ่งต่างๆ ที่เคยอยากจะทำแต่หาเวลาลงตัวไม่ได้ อาทิ อ่านหนังสือที่ซื้อมาเก็บไว้ในตู้เป็นตั้งๆ เข้าครัวทำอาหารจานพิสดาร หรือปลูกผักในกระถางหรือสวนหลังบ้าน เป็นต้น แน่นอนว่าช่วงเวลาแบบนี้ งานอดิเรกหนึ่งที่ฮิตติดลมบน และยังเป็นกระแสไม่จางก็คือ การปลูกผักสวนครัว ใช้พื้นที่ว่างหลังบ้าน หรือไม่ก็ยกแปลงให้เป็นระเบียบสวยงามกันไปเลยทีเดียว
เรื่องของการปลูกผักนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการแกเซ็งที่ต้องกักตัวอยู่บ้านเท่านั้น แต่ยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และเข้าข่ายการประหยัดเก็บออมไปในตัวด้วย เนื่องจากสามารถนำผักที่ปลูกมาทำเป็นอาหารรับประทานในครอบครัว
ข้อน่าสังเกตในระยะนี้ คือ ผู้เชี่ยวชาญการปลูกผักไร้ดิน เจ้าของบริษัท Green inspire ธุรกิจเชิงนวัตกรรมที่เกี่ยวกับพื้นที่สีเขียว “ปกรณ์ พิสุทธิ์ชาน” บอกเล่าให้ฟังว่าธุรกิจหลายอย่างช่วงโรคไวรัสโควิดระบาดอาจจะได้รับผลกระทบในทางลบ หรือต้องหยุดกิจการชั่วคราว แต่เชื่อหรือไม่ว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการปลูกผักกลับเป็นไปด้วยดี และมียอดการจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น พูดง่ายๆ ว่า “ขายดี” ขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะพวกเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ชุดปลูกผักขาย ยอดการขายเพิ่มขึ้น 10-20% กลายเป็นว่าคนส่วนมากเวลานี้หันมาปลูกผักกินเองกันมากขึ้น แม้กระทั่งดาราดังๆ อาทิ ญาญ่า, ณ เดชน์, ตั๊ก-บงกช, เข็มอัปสร สิริสุขะ
“อย่างที่บริษัทซึ่งขายอุปกรณ์ชุดปลูกผัก มีคนสนใจสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น ทั้งเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยที่ใช้ในการปลูก ปกติแล้วจะสอนเรื่องการปลูกผักหลักสูตรผักไฮโดรโปนิกส์ แต่ก็ไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับความชอบความถนัดของแต่ละคน สำหรับผมเห็นว่าผักไฮโดรโปนิกส์เราได้ความสะอาด ไม่มีสารเคมี เพราะหากใช้ดินในดินจะปนเปื้อนพวกเชื้อราบ้าง แมลงบ้าง หรือโรคพืชบางชนิดก็มากับดิน แต่ถ้าไร้ดินก็จะสะดวก ไม่ต้องมารดน้ำเช้า-เย็น พรวนดิน ถอนหญ้า และยังได้ความสะอาดด้วย” อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญการปลูกผักกล่าว และว่าข้อดีของการปลูกผัก นอกเหนือจากที่กล่าวมาคือมีผักไว้รับประทานเองอย่างปลอดภัยแล้ว การปลูกผักลงมือด้วยตัวเองยังทำให้เพลิดเพลิน และได้ฝึกสมาธิ
สำหรับชนิดของผักสวนครัวที่นิยมปลูกกันมาก มีตั้งแต่ใบแมงลัก โหระพา กะเพรา มะเขือเทศ ฟักทอง มิ้นท์ สะระแหน่ ผักกวางตุ้ง ผักกาด ไปจนถึงต้นหอม ผักชี ขึ้นฉ่าย หรือพวกผักไฮโดรโปนิกส์ทั้งหลาย ครั้งนี้ขอแนะนำผักสวนครัวพืชกินได้กินดี 9 ชนิด ได้แก่
1. กะเพรา ยอดฮิตของการปลูกริมรั้วเพราะขึ้นง่าย สามารถปลูกได้ในดินเกือบทุกประเภท นิยมปลูกในกระถางหรือริมรั้ว เป็นไม้ต้นเตี้ย ใบมีกลิ่นหอม สามารถปลูกได้ทั้งกระเพราขาว และ กระเพราแดง มีสรรพคุณมากมายตั้งแต่ ราก ใบ เมล็ด
2. พริกขี้หนู การปลูกพริกขี้หนูในลักษณะผักสวนครัวนั้นนิยมการหว่านเมล็ดลงในแปลงปลูก ไม่เหมือนกับการปลูกในลักษณะเป็นการค้า ที่ต้องมีการเพาะกล้าก่อนแล้วจึงย้ายลงแปลงปลูก การดูแลรักษาพริกนั้น มีเทคนิคคือ พริกเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก ถ้ามีความชื้นสูงไป ควรพรวนดินให้น้ำระเหยออกจากดิน ส่วนในกรณีที่ดินแห้งไป และไม่อาจให้น้ำได้อย่างสม่ำเสมอ ควรใช้วัสดุคลุมดินเพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน
3. คะน้า การปลูกนี้ไม่ต้องขุดลึก เนื่องจากระบบรากของคะน้าไม่ลึกมาก ขุดพลิกดินตากแดดไว้ 7-10 วัน แล้วย่อยพรวนเป็นก้อนเล็กๆ การปลูกคะน้าใช้วิธีหว่านเมล็ดลงในแปลงได้เลย โดยวิธีการหว่านเมล็ดแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ การหว่านเมล็ดให้กระจายทั่วทั้งแปลง และวิธีโรยเมล็ดแบบเรียงแถว ซึ่งการเลือกปลูกวิธีใดขึ้นอยู่กับความสะดวกและความถนัด
4. มะระ เป็นพืชผักล้มลุกลำต้นเป็นเถา ชอบดินร่วนซุย น้ำไม่ขัง นับว่าเป็นพืชผักที่อายุสั้น ซึ่งถ้าหากนับจากวันเริ่มปลูกถึงวันเก็บผลผลิตได้ประมาณ 45-55 วัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่ปลูก แต่ก่อนที่จะปลูกต้องทำความเข้าใจว่าการปลูกมะระนั้น ต้องเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลกำจัดแมลง เนื่องจากเมื่อแมลงเข้าทำลาย จะทำให้ผลร่วงหรือแคระแกร็นได้
5. ตะไคร้ มีประโยชน์ในการป้องกันหน้าดินได้ด้วย ควรปลูกไว้ข้างๆ บ่อ หรือร่องน้ำ เพราะกันการกัดเซาะของน้ำได้ดีมาก อีกทั้งไม่ต้องมีการดูแลมากเพียงแค่ดินมีความชุ่มชื้นก็จะแตกหน่อออกมามากมาย
6. มะเขือเทศ ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น ต้องมีการให้น้ำตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนถึงเริ่มแก่ คือผลเริ่มเปลี่ยนสี หลังจากนั้นจึงลดการให้น้ำเพื่อป้องกันผลแตก และการปลูกมะเขือเทศเพื่อรับประทานผลสดนั้น นิยมแบบขึ้นค้าง ควรตัดแต่งกิ่งให้เหลือเพียง 1-2 กิ่งต่อต้น เพื่อให้มะเขือเทศที่ได้มีผลใหญ่ การเก็บผลผลิตเริ่มเมื่อมะเขือเทศมีอายุประมาณ 70-90 วัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพันธุ์ อายุตั้งแต่เริ่มปลูกถึงเก็บเกี่ยว
7. ตำลึง เป็นผักขึ้นริมรั้ว โดยมากมักเห็นขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ก็สามารถปลูกได้ง่ายมาก เพียงแค่ดินมีความชุ่มชื้นเป็นอย่างดี เหมาะแก่การปลูกริมรั้วเป็นไม้เลื้อยตามรั้วบ้าน ตำลึงเองยังเป็นสัญลักษณ์ของผักสวนครัวรั้วกินได้
8. โหระพาและใบแมงลัก ลักษณะของต้นโหระพาและใบแมงลัก มีลักษณะคล้ายคลึงกับต้นกะเพรา โดยขนาดของทรงพุ่มก็ใกล้เคียงกัน คือ มีความสูงไม่เกิน 60 เซนติเมตร ลักษณะต้นและใบคล้ายกัน จะต่างกันตรงกลิ่น และสีไม่เหมือนกัน ใบโหระพานั้นจะเป็นมันและหนากว่า ก้านใบและลำต้นมีสีม่วงแดง ส่วนใบของแมงลักมีสีเขียวอ่อน ก้านใบและลำต้นก็มีสีเขียวอ่อนเช่นกัน และมีขนอ่อนอยู่ตามใบและก้านดอก
9. บวบ ลักษณะพิเศษของบวบ คือทนแล้ง ทนฝน ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน แต่มีข้อควรระวัง คือ เมื่อแรกปลูกจนถึงขึ้นค้างจะมีแมลงชอบกัดยอด แต่พอทอดยอดขึ้นค้างแล้วก็ไม่ต้องกังวลเรื่องแมลงอีกต่อไป ปลูกง่ายไม่ต้องมีการดูแลมาก ให้ขึ้นเลื้อยตามต้นไม้ก็ได้
ผักสวนครัวใช้ทำประโยชน์ได้มากกว่าหนึ่งอย่างหรืออเนกประสงค์ หากเลือกปลูกพืชผสมหลายอย่างในพื้นที่เดียวกัน ต้องอาศัยความรู้พอสมควร หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน เพราะพืชบางชนิดจะปลูกร่วมกันได้ บางชนิดก็ไม่ได้ การปลูกผักสวนครัวลดรายจ่ายด้านอาหารในครอบครัว เป็นการดำเนินชีวิตตามทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียง ยึดหลักการพึ่งพาตนเอง