เรื่องมันมีอยู่ว่าเกิดการถกเถียงกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียดว่า “ปลาทู” ที่แต่ก่อนได้ชื่อว่าเป็นอาหารของคนจน เพราะราคาถูกและหาซื้อได้ไม่ยาก มีขายเต็มท้องตลาด แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นว่าไปตลาดซื้อปลาทูทอดแค่ตัวเดียวขายคู่กับน้ำพริกกะปิถุงเล็กๆ บวกกับผักจิ้มอีกนิดหน่อย ราคาพุ่งไปถึง 100 บาท เช่นนี้แล้ว คนจนคงไม่มีปัญญาจะซื้อกินเป็นแน่แท้ ดังนั้น เลยกลายเป็นข้อถกกันว่า “ปลาทู” เป็นอาหารของคนมีอันจะกินในยุคนี้ แต่จะว่าไปก็ไม่แปลก ในเมื่อประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นขณะที่ทรัพยากรมีน้อยลง จึงต้องเกิดการแข่งขันแย่งชิงกันเป็นธรรมดา เมื่อความต้องการมีมากกว่าการผลิตได้ ราคาเลยพุ่งขึ้นสูงหลายสิบเท่าตัวตามกลไกของตลาด
แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องสถานการณ์ของปลาทูไทย มารู้จักปลาทูกันก่อนว่าเป็นอย่างไร
โดยทั่วไปชาวประมงจะแบ่งปลาทูออกเป็น 2 ชนิด คือ “ปลาสั้น” และ “ปลายาว”
“ปลาสั้น” หมายถึงปลาทูแม่กลอง ซึ่งมีลักษณะหน้าเป็นสามเหลี่ยม ตัวสั้น แบน เนื้อนิ่ม เวลากดลงไปที่ตัวปลาแล้ว
เนื้อปลาจะกลับคืนสภาพเดิมไม่บุ๋มลงไปตามแรงกด นอกจากนั้น ลำตัวปลาสั้นจะมีสีเงิน หรือ อมเขียว ตาดำ ส่วน “ปลายาว” มีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น ปลาลัง ปลายาว ปลาอินโด ซึ่งก็เป็นปลาชนิดเดียวกันทั้งหมดกับปลาทู แต่ลักษณะของปลายาว ตัวจะใหญ่และยาวกว่าปลาทูแม่กลอง และมีปากแหลม
ในทางวิทยาศาสตร์ ปลาทูของไทย เป็นสกุลของปลาทะเลในวงศ์ Scombridae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับปลาโอ, ปลาอินทรี และ ปลาทูน่า ซึ่งมีด้วยกัน 3 สายพันธุ์ได้แก่ ปลาทู (ชื่อสามัญ Short-Bodied Mackerel) ปลาลังหรือปลาทูโม่ง (ชื่อสามัญ Indian Mackerel) ปลาทูแขกหรือปลาทูปากจิ้งจก (ชื่อสามัญ Island mackerel)
ความแตกต่างระหว่าง “ปลาทู” พันธุ์ต่างๆ
ปลาทูแม่กลอง-ลำตัวกว้างหรือแป้น แบน ป้อม สั้น มีขนาดเล็ก ประมาณ 15-20 ซ.ม. หัวเป็นสามเหลี่ยมกว้าง ตาโต เนื้อแน่น ละเอียด นุ่ม มีมันมาก อร่อย
ปลาลัง-ตัวจะใหญ่กว่าปลาทูเห็นได้ชัด ลำตัวเรียวยาว ตัวกลม ยาวประมาณ 20-25 ซ.ม. ปากค่อนข้างแหลม ตาโต มีจุดสีดำใต้ฐานครีบหลังมากกว่าปลาทูชนิดอื่น บริเวณหางที่เป็นรูปซ่อม หางจะเว้าลึกกว่าปลาทูอื่นๆ เนื้อหยาบ มีมันน้อย ไม่ค่อยอร่อย ราคาถูกกว่าปลาทู
ปลาทูแขก-ลำตัวเรียวยาวและกว้างคล้ายปลาลัง แต่ความยาวจะเท่าปลาทู ประมาณ 15-20 ซ.ม. มีเกล็ดแข็งที่โคนหาง เนื้อหยาบ มันน้อย ไม่อร่อย แต่ผู้บริโภคมักไม่ค่อยสังเกตเห็นความแตกต่าง คนขายจึงมักลักไก่เอามาขายปนกับปลาทู
สำหรับ “ปลาทูแม่กลอง” เป็นปลาทูเชื้อสายไทยแท้ๆ เลยทีเดียว เพราะเกิดในอ่าวไทยอาศัยอยู่บริเวณใกล้ฝั่ง อยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำ ตั้งแต่บริเวณชายฝั่งจนถึงระดับความลึก 200 เมตร จะพบเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ปลาทูกินแพลงตอนเป็นอาหาร ว่ายน้ำได้รวดเร็วมากและไม่เคย
หยุดนิ่งกับที่ เพราะต้องคอยหนีศัตรู โดยเฉพาะปลาฉลามและปลาใหญ่อื่นๆ ในเวลากลางวันปลาทูจะอาศัยในระดับน้ำลึกที่เครื่องมือประมงจับได้ยาก แต่พอถึงเวลากลางคืนที่ทะเลเรียบปราศจากคลื่นลม อากาศดี ฝูงปลาทูจะขึ้นว่ายใกล้ผิวน้ำ ถ้าเป็นคืนเดือนมืดแสงเรืองจากตัวปลาส่องแสงเป็นประกายสีขาวทำให้มองเห็นฝูงปลาได้อย่างชัดเจน ชาวประมงอาศัยแสงเรืองจากตัวปลาทูนี่เองเป็นที่หมายช่วยให้ติดตามจับปลาฝูงใหญ่ๆ ได้ง่าย ทำให้ชาวประมงส่วนใหญ่ออกจับปลาทูในเวลากลางคืนเท่านั้น
แหล่งอาศัยของปลาทูที่เป็นแหล่งประมงสำคัญในประเทศไทย พบมากในอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน แถบอ่าวพังงา แต่พบมากที่สุดในบริเวณอ่าวไทยทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก ซึ่งสามารถจับได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี มีแหล่งอาหารของปลาทูอย่างอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปลาทูไทยในตอนนี้ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ข้อมูล ว่า ณ เวลานี้การจะได้กินปลาทูไทยอาจจะยากขึ้น เนื่องจากสถิติการจับปลาปลาทูของกรมประมงในพื้นที่อ่าวไทยและมหาสมุทรอินเดีย มีการจับปลาทูสูงสุดได้ปริมาณที่ลดลง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากวิธีการทำประมง สภาพแวดล้อม และอุณหภูมิของน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป
เหตุที่ปลาทูเป็นอาหารที่คนจำนวนมากต้องการบริโภค เนื่องมาจากปลาทูเป็นอาหารโปรตีนที่สำคัญ มีโอเมก้า 3 สูง ซึ่งโอเมก้า 3 เป็นกรดอะมิโนจำเป็นที่ทำให้สมองพัฒนาได้ดี เมื่อมีความต้องการสูงจึงทำให้การทำประมงในอ่าวไทยค่อนข้างมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศ ระยะหลังจะเห็นว่าปลาทูมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ และไม่ได้มีตลอดทั้งปี ถ้าเป็นปลาทูตัวใหญ่ๆ แน่นอนว่าไม่ใช่สายพันธุ์ไทยแท้ปลาทูแม่กลอง ผลที่ทำให้ปลาทูลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว นักวิชาการด้านประมงแจงไว้ดังนี้ 1. เป็นเพราะเครื่องมือทำประมงทั้งแบบพาณิชย์และแบบพื้นบ้านที่จับลูกปลาทูขึ้นมาด้วย รวมทั้งจำนวนของชาวประมงที่เพิ่มมากขึ้น 2. สภาพแวดล้อมเที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้แพลงตอนอาหารของปลาทูลดลน้อยลง 3. ผิวน้ำมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น มีผลต่อการเคลื่อนที่ของปลาทู จึงทำให้ปริมาณปลาทูไทยลดลง สถานการณ์อยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
เมื่อเป็นเช่นนี้ การจะช่วยให้มีปลาทูอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม นอกจากเรื่องของวิชาการด้านการประมงที่จะช่วยในการบริการจัดการกับปลาทูแล้ว การเลือกไปกินปลาชนิดอื่นที่คุณสมบัติใกล้เคียงกัน ย่อมทำให้มีระยะเวลาในการฟื้นฟูปริมาณของปลาทู ซึ่งในที่นี้ “ปลาแมคเคอเรล” ที่นำมาทำปลากระป๋อง ความจริงก็คือ “ปลาทูกระป๋อง” นั่นเอง
นอกจากนี้ก็ยังมี “ปลาซาร์ดีน” เป็นปลาในกลุ่มปลาหลังเขียวบ้านเรา มีขนาดตัวกำลังดีสำหรับทำปลากระป๋องอยู่แล้วแถมยังจับได้ในปริมาณมาก แต่ในเมื่อคนบริโภคกันล้นหลามแบบนี้ปลาซาร์ดีนก็มีปริมาณลดน้อยถอยลงเหมือนกัน ทำให้ผู้ผลิตต้องหันมาใช้ปลาแมคเคอเรลทำปลากระป๋องคู่กันไป ดังนั้น “ปลากระป๋อง” เป็นคำตอบที่กินแทนปลาทูนี่เอง